วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

พระนางเหลียว กรุวัดมหาวัน ลำพูน

 

พุทธลักษณะ องค์พระลอยองค์ครึ่งองค์ เป็นเอกลักษณ์ของพระพิมพ์ชนิดนี้โดยเฉพาะ เป็นพระทรงเครื่อง พระเศียรทรงเทริดแบบขนนก กรอบกระบังหน้าสองชั้น พระพักตร์กลมรี พระนลาฏแคบ พระขนงโก่งโค้ง พระเนตรโปน พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์เป็นรูปคันธนูแนบชิดกัน พระปรางเต็มอิ่ม พระหนุป้าน พระกรรณห้อยพระกุณฑลยาวพาดพระอังสา พระสอเป็นเส้นสี่ลอน พระอุระกว้าง สวมทับทรวง ทรงภูษาหุ้มพระถัน พระอุทรสวมรัดประคด รูปมงกุฎ พระกรทั้งสองยกขึ้นแบพระหัตถ์ไปข้างหน้าในท่าห้ามสมุทร ลำพระองค์ตั้งแต่พระกฤษฎีลงไปถึงพระบาทตัดขาดจากส่วนบน องค์พระจึงมีครึ่งองค์เท่านั้น องค์พระลอยองค์จึงไม่มีกรอบ
ด้านหลังพระพิมพ์ ส่วนล่างหนาตั้งได้ ส่วนบนถึงยอดพระเศียรเนื้อบาง มีลายนิ้วมือกดแต่งลางๆ เป็นคลื่นยับย่นตะปุ่มตะป่ำ แต่งขอบข้างบรรจบขอบข้างองค์พระด้านหน้า บีบฐานล่างเว้าเข้าหากัน ไม่มีการตัดขอบโดยรอบ

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย ดินเหนียวธรรมดา ปราศจากกรวดทราย บดกรองละเอียด ผสมด้วยหนังควายเคี่ยวให้เหนียวเป็นกาวยึดเหนี่ยวมวลสาร นวดเข้ากันเป็นเนื้อเดียว กดพิมพ์แบบ ตากแง เผาไฟด้วยอุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีเทาดำคล้ำ เพราะเป็นพระพิมพ์เนื้อหนา จึงสุกไม่มาก เนื้อจึงฟ่ามความแน่นไม่มากนัก
วัดมหาวัน เป็นแหล่งชุมนุมพระที่สร้างในเมืองหริภุญชัยแทบทั้งหมด พระจากกรุอื่นจะปรากฏพบในวัดมหาวันเสมอ คนโบราณบอกว่า พระเครื่องใช้ในยามสงคราม เสร็จก็นำมาทิ้งไว้ในวัดมหาวัน ดังนั้นพระพิมพ์นางเหลียวนี้ก็เป็นพระเครื่องชนิดหนึ่งดังกล่าว เมื่อนำมาทิ้งไว้ไม่ได้บรรจุกรุ องค์พระจึงสะอาดไม่มีขี้กรุ
ขนาดกว้าง ฐาน 2 ซม. กว้างหน้าอก 4.5 ซม. สูง 6.5 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยทวาราวดีตอนปลายร่วมสมัยกับลพบุรีตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 900 ปีพุทธศิลป์ของพระพักตร์และพระหัตถ์ใหญ่ เป็นศิลปะทวาราวดี ส่วนองค์พระทรงเครื่องสวมเทริด เป็นศิลปะลพบุรี
รัฐทวาราวดีที่ละโว้เริ่มเสื่อมลง ขอมกัมพูชาแผ่ขยายอำนาจเข้ามาครอบครองละโว้ รวมทั้งเลยไปถึงเมืองหริภุญชัย ที่เป็นเมืองบริวาร ดังนั้นผู้สร้างจึงเป็นช่างมอญหริภุญชัยกับช่างขอมร่วมมือกันสร้างพระพิมพ์ชนิดนี้
พุทธคุณ เมตตามหานิยม ให้โชคลาภ

พระทวาราวดี พิมพ์ละโว้ กรุลพบุรี

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย องค์พระประทับนั่งราบขัดสมาธิเพชรลอยองค์ ไม่มีอาสนะ พระเศียรกว้างกลม พระเกศาขมวดเป็นเม็ดพระศกกลมโต ไม่มีพระเมาลี ไรพระศกเป็นเส้นลวดกรอบพระพักตร์ พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏแคบ พระขนงโค้งยาวรูปนกบินเป็นสันโค้งลงมายังพระนาสิก พระเนตรเป็นเมล็ดงามองต่ำ หนังตาบนอูมนูน หนังตาล่างเป็นเส้นประคองลูกตาไว้ พระนาสิกแบน พระโอษฐ์เป็นรูปคันธนูแนบชิดกัน ปลายริมพระโอษฐ์บนเป็นร่องยาวพริ้ว พระหนุกลมมน พระปรางเต็มอิ่ม พระกรรณยาวเสมอพระหนุ พระศอแคบเป็นลอนเส้นลวดสามเส้น ลำพระองค์เรียวเล็ก พระอุระกว้าง พระกฤษฎีคอด พระนาภีบุ๋ม ครองจีวรห่มคลุม ขอบสบงเผยอเป็นเส้น พระอังสาลู่ลง พระพาหาทั้งสองข้างทอดลงขนานลำพระองค์หักพระกัประ พระกรขวายกขึ้นวางคว่ำพระหัตถ์บนพระชานุ พระกรซ้ายหักพระกัประโค้งเข้าเข้าใน หงายพระหัตถ์บนพระเพลา พระชงฆ์ซ้ายหักเข้าในสอดใต้พระชงฆ์ขวาขัดกันในลักษณะขัดสมาธิเพชร องค์พระประทับนั่งบนผ้าพระสุจหนี่(ผ้าปูรองนั่ง)  ลอยองค์ ไม่มีกรอบ
ด้านหลังอูมนูนเล็กน้อย มีลายมือกดแต่งรางๆ เป็นคลื่นสูงต่ำ โค้งลงบรรจบขอบข้างด้านหน้าองค์พระเป็นเส้นบาง ส่วนล่างฐานเนื้อเกินกดแต่งพับไปด้านหน้า องค์พระลอยองค์จึงไม่มีการตัดขอบ

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย ดินเหนียวบดกรองละเอียด กรวดทรายละเอียด ผงเปลือกหอยมีมุกวาวทอง-เงิน ผสมด้วยหนังควายเคี่ยวให้เหนียวเป็นกาวยึดเหนี่ยวมวลสาร นวดเข้ากันให้เป็นเนื้อเดียวให้เหนียว กดพิมพ์แบบ ตากแห้ง เผาไฟด้วยอุณหภูมิ 1,090 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีเหลืองอ่อน ผิวเนียน เนื้อแข็งแกร่ง หยาบเล็กน้อย พระเก็บบรรจุเป็นอย่างดี สะอาดมิดชิด จึงไม่มีขี้กรุเลย
ขนาด หน้าตักกว้าง 4 ซม. สูง 7.5 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยทวาราวดีตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 15 อายุ 900 ปี ที่ละโว้ เจริญขึ้นเป็นศูนย์กลางอาณาจักรทวาราวดีต่อจากสุวรรณปุระ และนครปฐมที่เสื่อมลง องค์พระเป็นศิลปะทวาราวดีบริสุทธิ์ มีพุทธลักษณะตามศิลปะครบทุกประการ ผู้สร้างคือช่างชาวละโว้เดิม(มอญ)ในสมัยนั้น ก่อนที่ขอมกัมพูชาจะแผ่อำนาจเข้ามาครอบครองในพุทธศตวรรษที่ 16
พุทธคุณ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุด

พระทวาราวดี กรุลำพูน (หริภุญชัย)

 

พุทธลักษณะ ปางสมาธิ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนอาสนะฐานบัวสี่ชั้น ชั้นบนเกสรบัว ชั้นกลางเป็นกลีบบัวหงายสองชั้น ชั้นล่างเป็นเส้นฐานกลีบบัว องค์พระมีพระเศียรกลม พระเกศาขมวดเป็นพระศกเม็ดสาคูเม็ดเล็ก พระเมาลีเป็นต่อมเล็กสั้น ไรพระศกเป็นเส้นเล็ก พระพักตร์รูปไข่เรียว พระนลาฏแคบ พระขนงโก่งโค้งยาวติดกัน พระเนตรรูปเมล็ดงา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์เล็ก พระหนุมน พระปรางตอบ พระกรรณยาวเสมอพระหนุ พระศอแคบ พระอุระกว้าง พระอุทรคอด ทรงจีวรห่มคลุม ขอบจีวรรอบพระศอเป็นเส้น พระพาหาทั้งสองข้างห้อยลงขนานลำพระองค์ หักพระกัปประพับพระกรเข้าใน พระหัตถ์ประสานกันวางบนพระเพลา พระชงฆ์ซ้ายพับเข้าในสอดใต้พระชงฆ์ขวาในท่าขัดสมาธิเพชร บนผ้าพระสุจหนี่ (ผ้าปูรองนั่ง) รูปโค้งพระจันทร์เสี้ยว ด้านหลังองค์พระมีประภามณฑลเป็นเส้นลวดตั้งแต่พระกัประยาวขนานพระพาหา ขยักเว้าตามพระอังสาแล้วโค้งขึ้นรอบพระเศียร ประดับด้วยกลีบบัวโดยรอบ
ด้านหลังองค์พระพิมพ์เรียบ มีลายนิ้วมือลางๆ กดแต่งผิวเป็นคลื่นบรรจบกรอบหน้า ไม่มีการตัดขอบ

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมเป็นดินเหนียว บดกรองละเอียด ไม่มีกรวดทราย นวดให้เหนียวเป็นเนื้อเดียวกดพิมพ์แบบ ตากแห้ง เผาไฟด้วยอุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีเขียวหินครก มีขี้กรุเป็นผงดินทรายเคลือบผิวบางๆและติดตามซอกลึกด้านหน้า
ขนาด กว้างฐาน 2 ซม. สูง 3 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยทวาราวดีตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 900 ปี พุทธศิลป์เป็นศิลปะทวาราวดี ยึดตามศิลปะเอกลักษณ์ของหริภุญชัย สร้างโดยมอญชาวพื้นเมือง บรรจุกรุ กู่ สถูปเจดีย์ของวัดในเมืองและพื้นที่โดยรอบ

พุทธคุณ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุด

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

พระร่วงนั่ง กรุลพบุรี

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนอาสนะฐานเรียบ พระเศียรทรงเทริด พระเมาลีเป็นมวยแบน พระเกศมาลาเป็นรูปกรวยสองชั้นยอดแหลม พระพักตร์กว้างสี่เหลี่ยม พระนลาฏแคบ พระขนงโก่งโค้ง พระเนตรโปนหลับหรี่ลงมองต่ำ พระนาสิกแบน พระปรางอวบอิ่ม พระโอษฐ์แบะ พระหนุเป็นลอน พระกรรณยาวเสมอพระหนุ พระศอเป็นลอนแคบ พระอุระใหญ่ ครองจีวรแนบเนื้อห่มเฉียง ขอบจีวรเป็นเส้นโค้งใต้พระถันยาวเลยเข้าไปในพระกัจฉะ ไม่ปรากฏผ้าสังฆาฏิ ขอบสบงยกขึ้นเป็นเส้น พระพาหาทั้งสองข้างทอดลงขนานลำพระองค์หักพระกัปประพระกรขวายกขึ้น พระหัตถ์วางคว่ำบนพระชานุลักษณะเข่านอก พระกรซ้ายโค้งลง พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา พระชงฆ์ซ้ายสอดใต้พระชงฆ์ขวาขัดกันในลักษณะขัดสมาธิเพชร องค์พระประทับนั่งบนผ้าพระสุจหนี่ (ผ้าปูรองนั่ง) ภายในกรอบรูปกรวยยอดโค้งมน
ด้านหลังอูมเรียบ กดแต่งโค้งลงบรรจบกรอบหน้า ไม่มีการตัดขอบ ฐานล่างเรียบหนารูปครึ่งวงกลมตั้งได้

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย ดินเหนียวกรองละเอียด กรวดทรายขนาดเล็กละเอียด ผงแร่ศิลาแรง ใช้ข้าวสุกประสานยึดเหนี่ยวเป็นกาว นวดผสมเข้ากันให้เหนียว กดพิมพ์แบบ ตากแห้ง เผาไฟอุณหภูมิ 700 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดงจัดทั้งเนื้อในและผิวนอก เนื้อแน่นแกร่งหยาบเล็กน้อย ผิวนอกเนียนเรียบ ไม่มีผดและเม็ดกรวดทราบผุดขึ้นบนผิว นอกจากผิวกร่อนกะเทาะล่อน จึงจะเห็นเม็ดกรวดทรายภายใน
คราบขี้กรุมีน้อย มีเพียงผงฝุ่นสีเทาอุดตามซอกลึกด้านหน้าพระพิมพ์ ขนาดฐานกว้าง 2 ซม. สูง 4 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์ดินเผาสมัยลพบุรีตอนปลาย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 อายุราว 600 ปี ร่วมสมัยกับยุคสุโขทัยตอนต้น แต่ยังคงศิลปะลพบุรี ทรงเครื่องสวมพระเศียร คติพุทธศาสนานิกายมหายาน ปนพราหมณ์ผสมศิลปะขอมโบราณ ขุดพบตามเนินดินที่เป็นโบราณสถาน ผุพังตามกาลเวลาพ้นสภาพที่จะสังเกตได้ว่าเป็นกรุบรรจุพระบูชาและพระพิมพ์
พระองค์นี้เป็นพระพิมพ์พิเศษกว่าพระพิมพ์ทั่วไป คือองค์พระองค์พระปางมารวิชัย “ขัดสมาธิเพชร” ไม่ใช่ขัดสมาธิราบ จึงเป็นพระพิมพ์ที่มีน้อยและหายากยิ่ง

พุทธคุณ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุตม์ และเมตตามหานิยม


พระร่วงนั่ง พิมพ์อื่นๆ






พระบัวสองชั้นซุ้มเรือนแก้ว กรุวัดไก่ ลพบุรี

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวสองชั้น บัวหงายห้ากลีบ บัวคว่ำห้ากลีบ พระวรกายอวบ พระเศียรทรงเทริด พระเมาลีเป็นลอน พระเกศมาลาทรงกรวยยอดแหลม มีไรพระศกเป็นเส้นกรอบพระพักตร์ พระพักตร์รูปผลมะตูม พระนลาฏแคบ พระขนงโก่งโค้ง พระเนตรรูปเมล็ดงา พระนาสิกแบน พระหนุป้านเหมือนคางคน พระปรางอวบอิ่ม พะกรรณยาวจรดพระอังสา พระสอแคบ พระอุระกว้าง ครองจีวรแนบเนื้อห่มเฉียง สังฆาฏิพาดยาวถึงพระนาภี ขอบสบงยกขึ้นเป็นเส้น พระพาหาทั้งสอง้างทอดลงขนานลำพระองค์ หักพระกัปประพระกรขวายกขึ้น พระหัตถ์คว่ำวางบนพระชานุ พระกรซ้ายโค้งลง พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา พระชงฆ์ขวาพับเข้าใน วางราบบนพระชงฆ์ซ้ายที่พับเข้าใน ประทับบนฐานบัวภายในซุ้มเรือนแก้วเส้นนูนใหญ่เป็นประภามณฑล ตามรูปพระเศียรยอดแหลม ประดับด้วยกลีบบัว หัวซุ้มเป็นกระจังกนก ตั้งบนเสาสูงระดับพระอังสา ทั้งหมดอยู่ภายในกรอบข้างขนานตัดยอดเป็นสามเหลี่ยมตามซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลังเรียบ กดแต่งมีลายนิ้วมือรางๆเป็นคลื่น ขอบข้างและใต้ฐานตัดเรียบด้วยของมีคม

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วยดินเหนียว กรวดทราย แร่ดอกมะขาม บดกรองละเอียด ใช้ข้าวสุกเป็นตัวประสานยึดเหนี่ยวเป็นกาว นวดเข้ากันให้เหนียวกดพิมพ์แบบ นำไปตากแห้ง เผาไฟอุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีผิวไผ่รวกแห้งคราบแดง เนื้อจับตัวแน่นหยาบเล็กน้อย บรรจุในโถแห้งสะอาด จึงมีขี้กรุน้อย มีเพียงผงฝุ่นละเอียดเคลือบบางๆติดผิว
ขนาดฐานกว้าง 3 ซม. สูง 5.5 ซม. หนาโดยรวม 1ซม.

2.ยุคสมัยศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยลพบุรีตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 อายุ 600 ปีร่วมสมัยกับยุคสุโขทัยตอนต้น แต่ยังคงศิลปะลพบุรีอยู่ พุทธศิลป์เป็นศิลปะลพบุรี ทรงเครื่องสวมพระเศียรคติพุทธศาสนานิกายมหายานปนพราหมณ์ผสมศิลปะขอมโบราณ สร้างโดยช่างขอมและช่างไทย ขุดพบตามเนินดินที่เป็นอดีตโบราณสถาน ผุพังตามกาลเวลาพ้นสภาพจะสังเกตได้ว่าเป็นกรุบรรจุพระบูชาและพระพิมพ์

พุทธคุณ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุตม์

พระนาคปรกซุ้มเรือนแก้ว กรุลพบุรี

 

พุทธลักษณะ ปางสมาธิ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนวัชรอาสน์บัวหงายบัวคว่ำ และบัวขีดสองชั้น พระวรกายรูปสามเหลี่ยม พระเศียรทรงเทริดแบบชีโบ ไรพระศกเป็นเส้นกรอบพระพักตร์  พระเกศมาลาเป็นต่อมกรวยสั้น พระพักตร์เสี่ยมเล็กเรียบไม่ปรากฏละเอียด พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระศอสั้นแคบ  พระอุระกว้าง ครองจีวรแนบเนื้อห่มคลุม ขอบสบงยกขึ้นเป็นเส้น พระพาหาทั้งสองข้างทอดลงขนานลำพระองค์ หักพระกัประ พระกรโค้งเข้าหากัน พระหัตถ์ขวาประสานวางบนพระหัตถ์ซ้าย หงายบนพระเพลา พระชงฆ์ขวาหักเข้าในวางบนพระชงฆ์ซ้าย องค์พระประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว เส้นลวดสามเส้นขนานซ้อนกันขยักโค้งเข้าหากลางซุ้ม มีพญานาคห้าเศียรอ้าปากแผ่พังพานปรกด้านพระปฤษฎางค์พระเศียร ขอบโดยรอบซุ้มประภามณฑล ประดับด้วยกลีบบัวรูปกนกใบเทศ ส่วนยอดเป็นบัวตูมขยายกลีบด้านข้าง ฐานซุ้มเรือนแก้วตั้งบนเสาสูง หัวเสาเป็นกลีบบัวหงาย ตั้งบนเส้นขีดสองเส้น ฐานล่างเสาเป็นบัวคว่ำ ทั้งหมดอยู่ในกรอบโค้ง ยอดแหลมฐานตัด รูปปลายใบหอก
ด้านหลังพระพิมพ์อูมนูนเหมือนไข่ผ่าซีก มีลายนิ้วมือกดแต่งรางๆ โค้งลงบรรจบกรอบด้านหน้า ฐานหนาปลายเรียว ไม่มีการตัดขอบโดยรอบ

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วยดินเหนียว กรวด ทราย แร่ดอกมะขาม ข้าวสุกเป็นตัวประสานยึดเหนี่ยวเหมือนกาว ผสมนวดเข้ากันให้เหนียว กดพิมพ์แบบ ตากแห้ง เผาไฟอุณหภูมิ 900 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดงอมชมพู เนื้อละเอียดแข็งแกร่ง คราบไคลขี้กรุ ชั้นล่างเป็นรารักสีดำ เคลือบผิวอยู่ ชั้นบนเป็นผงดินละเอียดคลุมเฉพาะด้านหน้าตามสภาพการวางบรรจุในกรุ
ขนาดกว้างฐาน 4 ซม. สูง 6 ซม. หนา 0.5-1 ซม.

2. ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยลพบุรีตอนต้น สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 900 ปีร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่7 แห่งกัมพูชา สร้างโดยขอมกัมพูชา ซึ่งครองเมืองลงประ แล้วแผ่ขยายอำนาจเข้าครอบครองอาณาจักรทวาราวดี สุวรรณภูมิเดิม พุทธศิลป์พระพิมพ์เป็นศิลปะลพบุรีแต่งองค์ทรงเครื่อง คติพุทธศาสนานิกายมหายานปนพราหมณ์ผสมศิลปะขอมสมัยบายน พระพิมพ์ค้นพบที่ลพบุรี ฝีมือช่างขอมและช่างไทยมากถึง 80% ขุดได้ตามเนื้อดินเป็นส่วนมาก

พุทธคุณ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุดและเมตตามหานิยม

พระตรีกาย สกุลลพบุรี

 

พระพิมพ์ 3 องค์รวมกันเรียกว่า “พระตรีกาย”เป็นคตินิยมพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ตรีกายนี้หมายถึง
พระพุทธเจ้าคือพระกายมนุษย์ เมื่อตรัสรู้แล้วอันเป็นกายบริสุทธิ์ หนึ่ง 
พระธรรมกาย คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หนึ่ง
และพระกายมนุษย์มีการเกิดแก่เจ็บตาย หนึ่ง

พุทธลักษณะ พระพุทธองค์กลางปางมารวิชัย ประทับนั่งบนบัลลังก์ สามชั้นรูปพาน มีเส้นลวดยาวเป็น ผ้าพระสุจหนี่ (ผ้าปูรองนั่ง) องค์พระทรงเครื่องราชาภรณ์ พระเศียรทรงเทริดกลีบบัว พระเมาลี เป็นต่อม พระเกศารูปดอกบัวตูม พระพักตร์ไม่ปรากฏรายละเอียด พระกรรณห้อยพระกุณฑลยาวจรดพระอังสา พระศอแคบ พระวรกายอ่อนโยนนุ่มนวล พระอุระกว้าง ครองจีวรแนบเนื้อห่มเฉียง พระกฤษฎีคอด พระพาหาทั้งสองข้างทอดลงขนานลำพระองค์ หักพระกัประ พระกรขวายกขึ้น พระหัตถ์วางคว่ำบนพระชานุ พระกรซ้ายโค้งลง พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา พระชงฆ์ขวาหักเข้าในวางราบบนพระชงฆ์ซ้าย องค์พระประทับนั่งในประภามณฑลซุ้มเรือนแก้ว เป็นเส้นลวดสองเส้นคู่ขนาน ขยักเป็นสองลอนยอดแหลม ปลายล่างขมวดหัวกนกใบเทศ ตั้งบนหัวเสาสูงรูปพาน ยอดซุ้มเป็นพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ ทรงสูงคล้ายยอดปราสาทนครวัดของขอม ก่อนดัดแปลงมาเป็นพระปรางค์ทรงฝักข้าวโพดแบบไทย
ด้านซ้ายและด้านขวาองค์พระพุทธกลาง เป็นพระพุทธขนาดย่อส่วนลงครึ่งหนึ่ง ปางสมาธิ ทรงเครื่องราชาภรณ์เช่นเดียวกับองค์กลาง ประภามณฑลเป็นเส้นลวดเล็กโค้งรอบพระเศียร ส่วนยอดเป็นดอกบัวตูมสามดอก ดอกกลางใหญ่ ดอกข้างเล็ก
ทั้งหมดอยู่ภายในกรอบโค้งยอดแหลมรูปปลายใบหอก ฐานตัด ขอบนอกเป็นเส้นลวดนูนกลมใหญ่ขยักเว้าเข้าในเป็นหัวกนกระดับกึ่งกลางพระพิมพ์
ด้านหลังพระพิมพ์เรียบโค้งอูมนูนน้อยๆ ลาดลงขอบข้าง ปรากฏลายมือลางๆ กดแต่งอยู่ทั่วไป ขอบข้างตัดเรียบจากด้านหน้าสอบเข้าด้านหลังด้วยของมีคม

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย ดินเหนียว และแร่ดอกมะขาม ไม่มีกรวด ทราย ใช้ข้าวสุกเป็นกาวประสานยึดเหนี่ยว นวดผสมเข้ากันให้เหนียว กดพิมพ์แบบ ตากแห้งเผาไฟด้วยอุณหภูมิ 900 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดงชมพู เนื้อละเอียดแข็งแกร่ง คราบไคลขี้กรุเป็นรารักสีดำ เคลือบผิวอยู่ด้านล่าง ส่วนบนเป็นผงฝุ่นดินละเอียดคลุมอยู่บางๆ ด้านหน้าขี้กรุมาก ด้านหลังน้อย ตามสภาพการวางบรรจุในกรุ
ขนาดองค์พระ กว้างฐาน 4.5 ซม. สูง 5.7 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยลพบุรี สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 900 ปี ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชา สร้างโดยขอม กัมพูชา ซึ่งครองเมืองลงประ แล้ว แผ่ขยายอำนาจครอบครองอาณาจักรทวาราวดี สุวรรณภูมิ พระพุทธศิลป์พระพิมพ์เป็นศิลปะลพบุรี แต่องค์ทรงเครื่อง คติพุทธศาสนานิกายมหาญาณปนพราหมณ์ผสม ศิลปะขอมสมัยบายน พระพิมพ์ค้นพบที่ลพบุรี ฝีมือช่างขอมแบะช่างไทยมากถึง 80% ขุดได้ตามเนินดินเป็นส่วนมาก

พุทธคุณ แคล้วคลาด, คงกระพัน, มหาอุด และเมตตามหานิยม

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่

 

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์อื่นๆ






พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง วัดพระศรีมหาธาตุ สุพรรณบุรี

 

พระยอดธง เนื้อทองผสม อยุธยา

 

พระยอดธงเนื้อเงิน วัดไก่เตี้ย ปทุมธานี