วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ซุ้มปรกโพธิ์ เนื้อผงปูนปั้น วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี กรุงเทพ


 

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ซุ้มปรกโพธิ์ เนื้อผงปูนปั้น วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี กรุงเทพ

ในอาณาจักร เครื่องราง ของขลัง ซึ่งเป็น ศูนย์รวมพระเครื่อง ทุกเนื้อ ทุกยุคสมัยนั้น พระสมเด็จวัดระฆังฯ ขึ้นชื่อว่า เป็นจักรพรรดิของบรรดาพระเครื่อง ทั้งหมด

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี สุดยอด อัจฉริยะ พระเกจิอาจารย์ แห่งยุค รัตนโกสินทร์ เป็นผู้ ให้กำเนิด พระเครื่อง "แบบชิ้นฟัก" นี้ สืบต่อ จากพระอาจารย์ ของท่าน คือสมเด็จพระสังฆราชสุกไก่เถื่อน ซึ่ง เป็นผู้ให้กำเนิด พระพิมพ์สมเด็จ "แบบชิ้นฟัก" ขึ้นเป็นปฐมนั้นเอง เมื่อสมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต) สร้างเสร็จแล้ว ก็นำ ติดตัวไป เมื่อออก บิณฑบาต แจกจ่าย ให้กับญาติโยม ที่ถวายอาหารให้แก่ท่าน ในเวลาต่อมา จึงเรียก พระเครื่อง ของท่านว่า "พระสมเด็จวัดระฆังฯ"
พระสมเด็จวัดระฆังฯ เป็นพระเครื่อง ประจุพระพุทธคุณ มนต์ขลัง ทรงอภิญญา ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสี เพียงองค์เดียวเท่านั้น เจ้าประคุณสมเด็จ สร้างไปแจกไป ทำมากก็เก็บมาก พิมพ์ใดทำน้อย ท่านก็หวงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า พระสมเด็จวัดระฆัง ไม่ใช่พระกรุ เพราะไม่ได้ลงกรุไว้เลย พระพิมพ์ จึงค่อนข้าง สะอาด สีเป็นไปตามมวลสาร ที่ใช้สร้าง จึงไม่มี ทั้งคราบ กรุ และขี้กรุ เฉกเช่น พระเครื่อง ที่บรรจุกรุ ทั้งหลาย จะมีเพียง แต่คราบแป้งโรยพิมพ์ติดตามผิว เฉพาะด้านหน้าแต่เพียงบางๆ
พระสมเด็จ วัดระฆังพิมพ์มาตรฐาน อยู่ในวงการ พระเครื่องขณะนี้ ทุกพิมพ์ "นายเทศ แห่งบ้านช่างหล่อ" เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ ถวายท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่(พระประธาน), พิมพ์ทรงเจดีย์, พิมพ์เกศบัวตูม, พิมพ์ฐานแซม และพิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ที่ 5 นี้มีจำนวนน้อยมาก จึงหายาก และไม่ค่อย มีผู้กล่าวถึงกัน

พุทธลักษณะ
การออกแบบ พระพิมพ์ สร้างเป็นประติมากรรม นูนต่ำ เชิงสัญลักษณ์ ต้นแบบเป็นศิลปะสุโขทัย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปะบริสุทธิ์ งดงามเป็นเลิศเป็นที่นิยมยอมรับกัน
1) องค์พระปฏิมาประทับนั่งราบปางสมาธิ พระพักตร์รูปไข่เรียบเกลี้ยง พระเศียรทรงกลม พระศกและพระเมาลี เรียบแนบพระเศียร พระรัศมีรูปเปลวเพลิงยอดยาวแหลม จรดยอดซุ้มโค้ง พระกรรณ ปรากฏรำไร พระศอตื้นกลืนหาย
2) พระวรกาย สง่างาม อ่อนช้อยสมสัดส่วน พระอุระผายออก พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์ เล็กเว้าคอดหลุดรูปกายสตรีเพศ พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างลำพระองค์ หักพระกัประ พับพระกรเข้าใน พระหัตถ์ประสานกันวางบนพระเพลา ประทับนั่งราบ พับพระชานุทั้งขวาและซ้าย พระชงฆ์ขวาอยู่ด้านใน พระชงฆ์ซ้ายวางแทบแนบพระชงฆ์ขวา ทรงสมาธิสมาบัติลอยพระองค์ ขึ้นเหนือแท่นประทับที่วางซ้อนกันสามชั้น ชั้นบน เป็นแท่น รูปหมอนทรงกระบอกยาวเสมอพระชานุ และยกลอยขึ้น จากชั้น 2 ที่เป็นแท่นรูปขาสิงห์ วางตั้งบนชั้นล่าง ที่เป็นแท่งรูปหมอนรางรถไฟ ยาวจรดกรอบซุ้มครอบแก้ว
3) รอบพระเศียร เป็นซุ้มปรกโพธิ์ แกะสลัก รูปใบโพธิ์ นูนเด่น แพกระจาย รอบพระเศียร ข้างละ 7 ใบ รวมเป็น 14 ใบ ฝาผนังด้านหลังองค์พระ แบนเรียบ ไม่มีเครื่องประดับตกแต่งอื่นใด ทั้งหมดประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มโค้งครอบแก้ว เป็นเส้นนูนหนาลักษณะเส้นหวาย ผ่าครึ่ง
4) สัณฐานพระพิมพ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบบชิ้นฟัก พื้นภายนอกซุ้มครอบแก้ว แบนเรียบ ขอบข้างโดยรอบตัดเฉือนลงตรงๆ ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบเสมอกัน
5) พระพิมพ์นี้ มีชื่อเรียกว่า “พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ซุ้มปรกโพธิ์” มีเอกลักษณ์ 2 อย่างประกอบกันคือ องค์พระปฏิมาประทับนั่งราบ บนบัลลังก์ ฐานสามชั้น นั้นเป็นลักษณะของพิมพ์ใหญ่โดยเฉพาะ ส่วนปรกโพธิ์ก็เป็นลักษณะของพิมพ์ปรกโพธิ์โดยตรง จึงทำให้พระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์นี้เป็นพิมพ์พิเศษ สร้างขึ้นมีจำนวนน้อยมาก ดังได้กล่าว ไว้แล้วว่า ยิ่งมีน้อยท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็ยิ่งหวงจึงหาได้ยากเป็นอย่างยิ่งไม่ปรากฏในวงการ พระเครื่องเลย นับว่าพระองค์นี้ เป็นองค์แรก ที่ปรากฏขึ้น ในยุคชาวศิวิไลซ์ ที่จะเริ่มต้นในรัชสมัย รัชกาลที่ 10 แห่งกรุง รัตนโกสินทร์ตามคำพยากรณ์แต่โบราณ

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระเครื่องในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต้นแบบคือศิลปะสุโขทัย ประยุกต์เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสี เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เป็นผู้ให้กำเนิดประจุพุทธาคมมนต์ขลังจากเจ้าประคุณสมเด็จ เพียงองค์เดียว เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2410 - 2415 อายุถึงปัจจุบันนี้ประมาณ 150 ปี จัดเป็นวัตถุโบราณที่ต้องอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติตลอดไป

มวลสารที่ใช้สร้าง
พระสมเด็จวัดระฆังฯ เนื้อผงปูนปั้น สร้างด้วยวัสดุหลักสองอย่างคือ ผงปูนเปลือกหอย โดยนำเปลือกหอยแครงและหอยมุกเผาไฟ บดละเอียดร่อนกรอง ได้ผงปูนสีขาวเหมือนแป้งและผงวิเศษทั้ง 5 ชนิดคือ ผงปถมัง, ผงอิทธิเจ, ผงมหาราช, ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห โดยนำดินสอพองปั้นเป็นแท่งชอล์ก เขียนบทพระพุทธมนต์ทั้ง 5 บนกระดานชนวน พร้อมทั้งกำหนดจิตภาวนาบทพระพุทธมนต์ควบคู่กันไปด้วย การนี้เจ้าประคุณสมเด็จ เป็นผู้กระทำเอง เขียนไปภาวนาไป แล้วเอาผงชอล์ก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อ้ายจนได้ผงชอล์กมากพอ จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นผงวิเศษ หลักที่ต้องใช้
ส่วนผสมรอง ประกอบด้วยวัสดุชนิดอื่นๆที่หาได้แต่ละครั้งคราว ได้แก่ดินสอพอง, ข้าวสุก, กล้วย, เกสรดอกไม้แห้งและเถ้าธูปบูชาพระ พระกำแพงดินเผาที่แตกหักผุพังชำรุด, ตะไคร่น้ำแห้งตามผิวพระเจดีย์ ผนังโบสถ์และวิหาร, สนิมหยกจากผิวพระบูชาและเครื่องสำริดโบราณที่ผุพังชำรุด, น้ำมันตังอิ้ว ฯลฯ ต่างๆเหล่านี้ มากหรือน้อยชนิดแล้วแต่จะหาได้ จึงทำให้ส่วนผสมแต่ละครั้งที่สร้างพระ เนื้อหาจึงแตกต่างกันไปเอาแน่นอนไม่ได้ แต่ส่วนผสมหลักคือผงปูนเปลือกหอย และผงวิเศษทั้ง 5 ต้องเป็นส่วนผสมหลักทุกครั้ง สีของพระพิมพ์ที่สร้าง แต่ละครั้งจึงต่างกันตามวัสดุที่ใช้ตลอดจนมวลสารที่ปรากฏบนผิวด้วย เมื่อสร้างเป็นพระพิมพ์เสร็จแล้วก็เรียกว่า"พระสมเด็จวัดระฆังฯ" ชื่อเดียวกันหมด
พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ซุ้มปรกโพธิ์ มีขนาดฐานกว้าง 2.3 ซม. สูง 3.5 ซม. หนา 0.4 ซม.

พุทธคุณ
มีพุทธคุณเยี่ยมมากเป็นสุดยอดพระเมตตามหานิยม แต่ด้านคงกระพันมีน้อยถึงกระนั้นก็มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาดจากภยันตรายสำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงที่ได้อย่างวิเศษทีเดียว


พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์อื่นๆ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น