วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระท่ากระดานหูช้าง เนื้อชินเงิน กรุวัดเหนือ(เทวสังฆาราม) ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง กาญจนบุรี


 

พระท่ากระดานหูช้าง เนื้อชินเงิน กรุวัดเหนือ(เทวสังฆาราม) ตำบลบ้านเหนือ  อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี


พอสิ้นเสียง  เปล่า  ทหารเสือดำนายนั้นหาเป็นอะไรไม่  เพียงแต่ว่าสะเก็ดระเบิดทะลุทะลวงเสื้อผ้าเครื่องแบบทหารเข้าไปติดอยู่ตามเนื้อหนังมังสาเท่านั้น เสือดำนายนั้นมีอะไรดีจึงแคล้วคลาดแม้กระทั่งกับระเบิดซึ่งอย่าว่าแต่คนเลยรถจิ๊บทั้งคันก็ยังแหลกเป็นเศษเหล็กภายในพริบตา แน่นอนเสือดำนายนั้นมีของดีแน่ และของดีที่คุ้มครองชีวิตเขามีเพียง 2 อย่างคือ พระท่ากระดานหูช้างและพระโคนสมอของวัดเหนือ( เทวสังฆาราม) ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเขาอาราธนาขึ้นคอติดตัวเป็นประจำอำแต่จากประเทศไทยไปปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ในสมรภูมิเวียดนามใต้

เรื่องดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องจริง เพราะพันเอกพิเศษสัมผัส ภาสนะยงภิญโญ ผู้บังคับการเสือดำได้เห็นมากับตาและยังช่วย แกะสะเก็ดระเบิดมากับมือเองด้วย หลังจากนั้นอีกไม่นาน พันเอกพิเศษสัมผัสกลับมาเยี่ยมบ้าน ครั้นถึงเมืองไทยท่านก็ตรงไปวัดเหนือเลยทีเดียว และขอเช่าพระโคนสมอจากทางวัดไปบูชา 1 องค์  ส่วนพระท่ากระดานหูช้างนั้นท่านมีอยู่แล้ว ตั้งแต่ครั้งท่านยังฝึกเสือดำอยู่กาญจนบุรี  โดยได้ไปเมื่อตอนเป็นกรรมการขุดกรุวัดเหนือนี้ นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต

พระท่ากระดานหูช้างเป็นพระที่ได้จากกรุ ภายในพระเจดีย์โบราณขนาดใหญ่ที่มีอยู่องค์เดียวภายในวัดเหนือ นอกจากได้พระท่ากระดานหูช้างแล้วยังได้พระเครื่องอื่นอีกมากกว่า 20 พิมพ์  แต่ขึ้นชื่อมากที่สุดได้แก่พระท่ากระดานกับพระท่ากระดานหูช้าง ซึ่งเป็นพระที่ทางวัดเหนือได้นำทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมพระเครื่องกรุเดียวกันอีกหลายชนิด ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กับนายทหารจงอางศึกที่เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาไปราชการสงคราม ณ ประเทศเวียดนามใต้จึงทำให้พระท่ากระดานหูช้างของกรุวัดเหนือเป็นพระยอดนิยมอันดับหนึ่งขึ้นมาทันที ส่วนความศักดิ์สิทธิ์ได้เป็นที่ประจักษ์มาแล้วทั้งเสือดำและจงอางศึก

พุทธลักษณะ ศิลปะอู่ทอง
1) องค์พระปฏิมาประทับนั่งราบปางมารวิชัยบนรัตนบัลลังก์รูปฝักบัวภายในกลีบบัวคว่ำบัวหงาย พระเศียรโต พระศกเป็นเม็ดกลม พระศฎา( ผมที่เกล้ามวย) ยกสูงขึ้นพระศกเป็นเม็ดกลมสองชั้น พระเกศรัศมีรูปดอกบัวตูมยาวยอดแหลม
2) พระพักตร์ยาวรูปสามเหลี่ยม พระนลาฏแคบ พระขนงโกงโค้งติดกันดังรูปนกบิน ประเภทปูนพระนาสิกโด่งพระโอษฐ์ใหญ่ยาวพระปรางค์อวบพระหนุเล็กแคบพระศอเป็นลำกว้างมีเส้น 2 ลอน พระกันยาวจรดพระอังสา
3) พระอังสากว้างโค้ง พระอุระแฟบ พระกฤษฎีเว้าคอด พระอุทรไม่นูน คลองพระจีวรแนบเนื้อ ห่มดองเปิดพระอังสาขวา พระจีวรคลุมผ้าอังสาซ้าย เส้นชายพระจีวรนูนพาดคลุมลงใต้พระถันขวา โค้งวกลงสอดเข้าซอกพระกัจฉะ พระสังฆาฏิ พาดจากพระอังสาซ้ายชายผ้ายาวลง มาถึงพระนาภี
4) พระสรีระมีส่วนสูงชะลูดและเทอะทะผิดส่วนไปมากทีเดียว พระพาหาขวาทอดลงข้างลำพระองค์ยกพระกรขึ้นเล็กน้อย พระหัตถ์วางกุมพระชานุลักษณะเข่านอก พระพาหาซ้ายทอดลงกางออก พระกรโค้งเข้าใน พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา ประทับนั่งราบ พับพระชานุขวา ยกพระชงฆ์หงายพระบาทวางทาบบนพระชงฆ์ซ้าย  พระชงฆ์โตใหญ่คล้ายศิลปะเชียงแสน
5) พระสรีระตั้งตรงทรงพระผาสุขวิหาร ประทับบนรัตนบัลลังก์ฝักบัวภายในกลีบบัวคว่ำบัวหงายบนฐานรูปกลอง ผิวภายนอกเป็นเส้นหวายติดเรียงกันเป็นแนวขนานทางตั้ง
6) องค์พระปฏิมาและฐานประทับออกแบบสร้างเป็นประติมากรรมนูนต่ำประดิษฐานอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว กรอบเป็นเส้นลวดนูน ด้านหลังพระพิมพ์แบนเป็นแอ่งท้องกระทะพื้นผิวขรุขระเล็กน้อย

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
กาญจนบุรีในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์(ประมาณ 5,000 ปี) เมื่อเข้ายุคประวัติศาสตร์แล้ว กาญจนบุรีสมัยทราวดีเคยเป็นเมืองสำคัญมาก่อน เมื่อ “ขอม” เข้ามามีอำนาจอยู่ในสุวรรณภูมิ  กาญจนบุรีก็เป็นส่วนหนึ่งตกอยู่ในปกครองของขอมตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาจนกระทั่งกลับมาเป็นเมืองสำคัญในสมัยอู่ทอง เมื่อถึง พ.ศ.1893  พระเจ้าอู่ทองได้ย้ายเมืองมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กาญจนบุรีก็จัดเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญที่สุดของสมัยอยุธยา

ประติมากรรมของขลังหรือพระเครื่องชื่อดังของกาญจนบุรีที่พบมากที่สุดสร้างด้วยเนื้อชินสนิมแดง 85% อีก 15% เป็นเนื้อชินธรรมดาและเนื้อดินเผา ศิลปะของพระเครื่องนั้นเป็นศิลปะทวารวดีมีไม่มากนัก  นอกนั้นเป็นศิลปะอู่ทอง
และศิลปะอยุธยาเสียเป็นส่วนมาก

พระท่ากระดานหูช้างถือกำเนิดในสมัยอู่ทอง ศิลปะอู่ทองนั้นคลุมเครือไม่ชี้ชัด คำว่า อู่ทองนั้นก็คือ ไทยนั่นเอง เป็นไทยสายเก่าแก่ที่อพยพลงมาก่อนสายอื่นๆและคลุกคลีกับชนเผ่าเจ้าของถิ่นเดิมมานับชั่วศตวรรษเลยทีเดียว พุทธศิลปะอู่ทองจึงสร้างตามอิทธิพลช่างของชนชาติเจ้าของถิ่นเดิมที่เป็นนายได้แก่ มอญ ศรีวิชัยและขอมโบราณ  มีอายุยืนยาวตั้งแต่สมัยทวารวดีผ่านศรีวิชัย ลพบุรี และเข้าคลุกเคล้ากับศิลปะเชียงแสนและศิลปะสุโขทัยไปจดศิลปะอยุธยา จะพบว่าศิลปะอู่ทองปนอยู่ในทุกสกุลช่างที่มีในเมืองไทย แต่ศิลปะอู่ทองก็กลั่นตัวเองจนเป็นสกุลช่างแท้ของตนเองได้ในยุคหลังลพบุรี ซึ่งจัดว่าเป็นอู่ทองคลาสสิค เช่นเดียวกับสุโขทัยคลาสสิค และเชียงแสนคลาสสิค

ดังนั้นผู้สร้างพระท่ากระดานหูช้างก็คือปฏิมากร สกุลช่างอู่ทองแห่งเมืองกาญจนบุรีนั่นเอง จัดเป็นศิลปะอู่ทองยุคกลางพุทธศตวรรษที่ 17  อายุราว 700 ปี

ขนาด ฐานกว้าง 5.5 ซม.  สูง 10 ซม.  หนา 0.2 ซม.

มวลสารใช้สร้าง
สร้างด้วยโลหะหนัก 2 ชนิดคือตะกั่วกับดีบุกหลอมละลายเข้าด้วยกัน เทหยอดลงเบ้าแม่พิมพ์ เมื่อเย็นแข็งตัวดีแล้ว แกะออกจากแม่พิมพ์ได้พระพิมพ์ผิวสีขาวแวววาว ดังเงินยวง นำเข้าบรรจุกรุเก็บรักษาไว้ ต่อมาเมื่อมีการเปิดกรุพบพระเครื่องเหล่านี้ ผิวภายนอกของพระพิมพ์จะเกิดสนิมเป็นสีเทาตลอดจนสีดำโดยผ่านกาลเวลาอันยาวนานและ จะกัดกร่อนระเบิดผุพังในที่สุดเป็นการเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

พุทธคุณ
เป็นยอดคงกระพัน แคล้วคลาดและมหาอุตม์ เป็นที่เชื่อถือได้

พระท่ากระดาน องค์อื่นๆ







วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระขุนแผนกระเบื้องเคลือบ สีเขียว วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา


 

พระขุนแผน (ทุกกรุ) พิมพ์อื่นๆ







พระพุทธชินราช ญสส เนื้อว่านหน้าทอง 23 พ.ย. 2543


 



พระพุทธชินราช ญสส เนื้อว่านหน้าทอง สุดยอดของดีเมืองพิษณุโลก 23 พ.ย. 2543