วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

พระทวาราวดี พิมพ์ละโว้ กรุลพบุรี

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย องค์พระประทับนั่งราบขัดสมาธิเพชรลอยองค์ ไม่มีอาสนะ พระเศียรกว้างกลม พระเกศาขมวดเป็นเม็ดพระศกกลมโต ไม่มีพระเมาลี ไรพระศกเป็นเส้นลวดกรอบพระพักตร์ พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏแคบ พระขนงโค้งยาวรูปนกบินเป็นสันโค้งลงมายังพระนาสิก พระเนตรเป็นเมล็ดงามองต่ำ หนังตาบนอูมนูน หนังตาล่างเป็นเส้นประคองลูกตาไว้ พระนาสิกแบน พระโอษฐ์เป็นรูปคันธนูแนบชิดกัน ปลายริมพระโอษฐ์บนเป็นร่องยาวพริ้ว พระหนุกลมมน พระปรางเต็มอิ่ม พระกรรณยาวเสมอพระหนุ พระศอแคบเป็นลอนเส้นลวดสามเส้น ลำพระองค์เรียวเล็ก พระอุระกว้าง พระกฤษฎีคอด พระนาภีบุ๋ม ครองจีวรห่มคลุม ขอบสบงเผยอเป็นเส้น พระอังสาลู่ลง พระพาหาทั้งสองข้างทอดลงขนานลำพระองค์หักพระกัประ พระกรขวายกขึ้นวางคว่ำพระหัตถ์บนพระชานุ พระกรซ้ายหักพระกัประโค้งเข้าเข้าใน หงายพระหัตถ์บนพระเพลา พระชงฆ์ซ้ายหักเข้าในสอดใต้พระชงฆ์ขวาขัดกันในลักษณะขัดสมาธิเพชร องค์พระประทับนั่งบนผ้าพระสุจหนี่(ผ้าปูรองนั่ง)  ลอยองค์ ไม่มีกรอบ
ด้านหลังอูมนูนเล็กน้อย มีลายมือกดแต่งรางๆ เป็นคลื่นสูงต่ำ โค้งลงบรรจบขอบข้างด้านหน้าองค์พระเป็นเส้นบาง ส่วนล่างฐานเนื้อเกินกดแต่งพับไปด้านหน้า องค์พระลอยองค์จึงไม่มีการตัดขอบ

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย ดินเหนียวบดกรองละเอียด กรวดทรายละเอียด ผงเปลือกหอยมีมุกวาวทอง-เงิน ผสมด้วยหนังควายเคี่ยวให้เหนียวเป็นกาวยึดเหนี่ยวมวลสาร นวดเข้ากันให้เป็นเนื้อเดียวให้เหนียว กดพิมพ์แบบ ตากแห้ง เผาไฟด้วยอุณหภูมิ 1,090 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีเหลืองอ่อน ผิวเนียน เนื้อแข็งแกร่ง หยาบเล็กน้อย พระเก็บบรรจุเป็นอย่างดี สะอาดมิดชิด จึงไม่มีขี้กรุเลย
ขนาด หน้าตักกว้าง 4 ซม. สูง 7.5 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยทวาราวดีตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 15 อายุ 900 ปี ที่ละโว้ เจริญขึ้นเป็นศูนย์กลางอาณาจักรทวาราวดีต่อจากสุวรรณปุระ และนครปฐมที่เสื่อมลง องค์พระเป็นศิลปะทวาราวดีบริสุทธิ์ มีพุทธลักษณะตามศิลปะครบทุกประการ ผู้สร้างคือช่างชาวละโว้เดิม(มอญ)ในสมัยนั้น ก่อนที่ขอมกัมพูชาจะแผ่อำนาจเข้ามาครอบครองในพุทธศตวรรษที่ 16
พุทธคุณ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น