วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระสมเด็จวัดระฆังฯ แป้งโรยพิมพ์

พระสมเด็จวัดระฆังฯ แป้งโรยพิมพ์


  
      พิมพ์ใหญ่                       พิมพ์ทรงเจดีย์

 
 พิมพ์เกศบัวตูม                   พิมพ์ปรกโพธิ์     
                            

แป้งโรยพิมพ์ มีลักษณะเป็นฝ้านวลดุจนวลตอง ฉาบอยู่บนผิวเนื้อสำหรับประเภทเนื้อหนึกนุ่ม ความหนาบางต่างกันตามระดับความนุ่มของเนื้อ สำหรับเนื้อที่นุ่มจัดและแห้งสนิท จะปรากฏฝ้านวลหนามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณซอกต่างๆแป้งโรยพิมพ์มีปรากฏทั้งของวัดระฆังและบางขุนพรหม

แป้งโรยพิมพ์ เชื่อกันว่าเป็นผงแป้งที่ใช้โรยแม่พิมพ์ เพื่อให้เนื้อล่อนไม่ติดพิมพ์ในขณะถอดพระ ซึ่งทำให้เนื้อพระประทับเอาผงแป้งติดมาด้วย ถ้าหากว่าแป้งที่โรยไว้มากและเนื้อพระค่อนข้างเหลว ก็จะทำให้เกิดเป็นแป้งโรยพิมพ์ชนิดผิวฟู แต่ถ้าเป็นเนื้อหมาดก็จะติดผงแป้งพอสมควร จัดเป็นผิวแป้งโรยพิมพ์ธรรมดาที่กอรปด้วยผิวแป้งค่อนข้างหนา แต่ถ้าหากเป็นเนื้อค่อนข้างเหลวเล็กน้อย และใช้แป้งโรยพิมพ์น้อยผิวเนื้อพระด้านหน้าจะไม่ปรากฏเป็นผิวแป้ง แต่จะมีวรรณะขาวผุดผ่องกว่าผิวด้านอื่นๆ ในประการสุดท้ายถ้าหากเป็นเนื้อค่อนข้างหมาด ก็จะติดผงแป้งขึ้นมาหนาหรือบางแล้วแต่ปริมาณแป้งและระดับความหมาดของเนื้อ

ริ้วรอยธรรมชาติด้านหลัง

 
พิมพ์ใหญ่                        พิมพ์ทรงเจดีย์



 พิมพ์เกศบัวตูม                     พิมพ์ปรกโพธิ์ 


ริ้วรอยธรรมชาติด้านหลัง ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น 8 ประการ
  1. รูพรุนปลายเข็ม มีลักษณะเป็นรูเล็กๆขนาดปลายเข็ม อาจปรากฏอยู่โดยทั่วไปตลอดด้านหลังโดยไม่จำกัดบริเวณ เกิดมากบ้างน้อยบ้างต่างๆกันไปเป็นบางองค์ กล่าวคือ จะมีการคายอ๊อกซิเจนหรือฟองอากาศออกมาปุดๆ ในขณะที่เนื้อยังเป็นของเหลว ซึ่งเรียกว่า “ปฏิกิริยาปูนเดือด” ฟองอากาศพยายามผุดและลอยหนีออกจากผิวเนื้อขณะที่ยังเหลว พอพ้นจากผิวเนื้อจึงทำให้เกิดเป็นรูเล็กๆ
  2. รอยปูไต่ เป็นร่องรอยอีกชนิดหนึ่งที่แตกต่างไปจากรูพรุนปลายเข็มคือมิได้เกิดจากภายในออกมาสู่ภายนอกแต่มีลักษณะเป็นรอยย้ำหรือสักจากภายนอกลงไปในเนื้อมีสัณฐานเขื่องกว่ารูพรุนปลายเข็มและเป็นรูคู่ คือ สองรูเคียงกันและเดินเกาะคู่เป็นแนวทางไป คล้ายๆจะเป็นรอยทางเดินของแมลงอะไรสักชนิดหนึ่ง     รอยปูไต่นี้ถ้าปรากฏสำหรับพระสมเด็จฯองค์ใดก็จะเป็นเครื่องช่วยในการพิจารณาตัดสินยืนยันในความแท้จริงได้เป็นอย่างดี
  3. รอยหนอนด้น ลักษณะโดยทั่วไปทำนองเดียวกับรอยปูไต่นั่นเองแต่แทนที่จะเป็นรอยคู่ กลับเป็นรอยเดี่ยว มีขนาดสัณฐานกว้างและลึกกว่ารอยปูไต่เล็กน้อย มีลีลาเป็นแนวทางเดินเช่นเดียวกัน บางองค์จะปรากฏเป็นแนวทางโค้งๆ จัดว่าเป็นริ้วรอยธรรมชาติ
  4. รอยย่นตะไคร่น้ำหรือฟองเต้าหู้ เป็นรอยย่นของผิวเนื้อโดยทั่วไปตลอดด้านหลัง หรือเป็นบางตอน ฯลฯ
  5. รอยกาบหมาก มีลักษณะเป็นริ้วรอยธรรมชาติคล้ายคลึงกับรอยย่นตะไคร่น้ำ สันนิษฐานว่าเกิดจากกรรมวิธีการสร้างขณะที่ถอดพระออกจากแม่พิมพ์และตัดกรอบแล้ว คงจะได้วางพระไว้บนแผ่นกาบหมากเพื่อผึ่งลมให้แห้ง
  6. รอยสังขยา มีสัณฐานมีลักษณะเป็นวงๆ ซึ่งมีเส้นรอบวงหยักคดเคี้ยวไปตามธรรมชาติ ปรากฏตอนบริเวณย่านกลางๆของพื้นที่ด้านหลัง ริ้วรอยย่นซ้อนกันของเนื้อคล้ายกับผิวน้ำเป็นพริ้วระลอกวงกลมกระจายออกจากส่วนกลาง
  7. รอยลายนิ้วมือ เป็นร่องลอยของลายหัวแม่มือของผู้กดพิมพ์พระในกรรมวิธีการสร้างนั่นเอง
  8. รอยริ้วระแหง นอกจากริ้วรอยธรรมชาติต่างๆแล้ว ยังมีริ้วรอยอีกชนิดหนึ่งที่มีปรากฏค่อนข้างหนาตาคือได้แก่ รอยริ้วระแหง
ริ้วรอยสัญลักษณ์ 8 ประการนี้ อาจมีปรากฏมากน้อยต่างๆกันไปชัดเจนบ้างรางเลือนบ้าง มีปรากฏเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดปะปนกัน หรือด้านหลังมีลักษณะค่อนข้างราบเรียบ เกือบจะสังเกตไม่ได้ว่ามีริ้วรอยธรรมชาติประการใด 

ที่มา: คัดลอกจากหนังสือ "ปริอรรถาธิบาย แห่งพระเครื่องฯ เล่มหนึ่ง พระสมเด็จ” ของ ตรียัมปวาย พิมพ์ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๒๐


พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์อื่นๆ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น