พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เนื้อชินเงิน
อำเภอศรีสัชนาลัย(ชะเลียง)กรุวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย
วัดช้างล้อมเป็นวัดหลวงที่สำคัญสมัยสุโขทัย
ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย มีพระเจดีย์ที่สูงบรรจุพระบรมธาตุ
รอบฐานพระเจดีย์สร้างรูปช้างล้อมไว้ 16 เชือกตั้งแต่ พ.ศ. 1820-1835
จึงแล้วเสร็จในสมัยพ่อขุนรามคำแหงครองราชย์ ณ กรุงสุโขทัย และในช่วงปีนั้นเอง
“พระร่วงนั่งหลังลิ่ม” ก็ถือกำเนิดขึ้นในระยะนั้นด้วย จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2561 มีอายุรวมประมาณ
725 ปี
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม “วัดช้างล้อม”
แตกกรุออกครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2480 และอีกครั้งพ.ศ.2490 หลังจากนั้น พ.ศ.2500
เป็นต้นไปก็พบอีกที่กรุบ้านแก่งสารจิต กรุวัดเจดีย์เจ็ดแถวก็มีพระพิมพ์นี้ขึ้นจากกรุด้วย
กรุเมืองชัยนาทก็มีผู้พบ ครั้งสุดท้ายพ.ศ.2507
กรุวัดเขาพนมเพลิงแตกก็พบพระร่วงนั่งหลังตัน ไม่มีลิ่ม
รวมอยู่ด้วยแต่มีขนาดเล็กกว่า
เมืองสวรรคโลกเดิมชื่อ เมืองชะเลียงมาก่อน
ถึงสมัยสุโขทัยเรียกชื่อใหม่ว่า “ศรีสัชนาลัย” เป็นเมืองลูกหลวงที่พ่อขุนรามคำแหงเสด็จมาประทับ
พุทธลักษณะ
1.องค์พระปฏิมาประทับนั่งปางมาริชัยบนฐานเขียงเป็นเส้นยาวสองเส้น
พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งเหมือนคันศร พระนาสิกงุ้มแหลม
เปลือกพระเนตรคล้ายกลีบดอกบัว พระหนุเป็นปม พระศกขมวดเหมือนก้นหอย
มีไรพระศกเป็นเส้นกรอบพระนลาฏ พระเมาลีเป็นมวย พระรัศมีรูปดอกบัวตูม
พระกรรณแนบพระปรางยาวจดพระอังสา
2.พระวรกายสง่างามสมสัดส่วน พระอังสากว้างใหญ่
พระอุระผาย พระถันโปน บั้นพระองค์เล็กเหมือนรูปกายสตรีเพศ พระอุทรเป็นลอน
ครองพระจีวรแนบเนื้อห่มดอง เปิดพระอังสาขวา ริมายพระจีวรเป็นเส้นลวดพาดลงใต้พระถันวกเข้าซอกพระกัจฉะ
พระสังฆาฏิพาดบนพระอังสาซ้ายปล่อยชายปลายตัดยาวลงถึงพระอุระปิดพระถัน
3.พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างพระวรกาย
พระกรขวากลมกลึงยาวดุจงวงช้าง ยกพระหัตถ์วางกุมพระชานุลักษณะเข่านอก
นิ้วพระหัตถ์เรียวสละสลวย พระกรซ้ายพับโค้งเข้าในพระหัตถ์วางหลายบนพระเพลา
ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ขวาพับเข้าใน
วางซ้อนทับบนพระชงฆ์ซ้ายบนอาสนะฐานเตี้ยลักษณะแผ่นเขียงเป็นเส้นสองชั้น
4.องค์พระปฏิมาสร้างเป็นปฏิมากรรมนูนต่ำลอยองค์
หน้าเดียวเหมือนพระพุทธรูป ด้านหลังแบนเรียบมีเส้นลายกบหมากและมีร่องเป็นแอ่งใหญ่กดประทับลึกลงไปรูปร่างคล้ายลิ่ม
ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กำเนิดในสมัยสุโขทัยยุคกลาง
ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อายุประมาณ 700 กว่าปี อยู่ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงครองราชย์
ได้ทรงสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุขึ้นที่เมืองศรีสัชนาลัยระหว่างที่พระองค์เสด็จไปประทับที่เมืองนั้น
พร้อมทั้งทรงโปรดให้สร้างพระเครื่องมากแบบพิมพ์บรรจุกรุพระเจดีย์ด้วยในคราวเดียวกัน
โดยศิลปินชาวสุโขทัย และพระร่วงนั่งหลังลิ่มก็เป็นพระพิมพ์หนึ่งรวมอยู่ด้วย โดยสร้างเป็นศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ที่งดงามยอดเยี่ยมตามจินตนาการของช่างศิลป์และผู้สร้างให้เป็นมรดกตกทอดให้อนุชนรุ่งหลังได้ระลึกถึงจนถึงปัจจุบัน
วัสดุใช้สร้าง
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม
เป็นพระพิมพ์ขนาดเล็กเนื้อชินเงิน ส่วนผสมหลักคือโลหะตะกั่วกับโลหะดีบุก หลอมละลายเข้าด้วยกันสร้างเป็นพระพิมพ์
เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ผิวภายนอกจะเป็นสีเงินขาววาววับของดีบุกเคลือบอยู่
เมื่อนำไปบรรจุกรุ เมื่อกาลเวลาผ่านไปยาวนานราว 700 ปีจะเกิดสนิมของโลหะ
ทำให้ผิวภายนอกเป็นสีดำตีนกา รวมทั้งกัดกร่อนลงไปในเนื้อเป็นหลุมทั่วไป
ภายในหลุมมีไขขาวเหมือนแป้งบรรจุอยู่ทุกหลุม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ชนิดหนึ่งของสนิมชินเงินตามธรรมชาติที่มีอายุยาวนาน
ฝีมือมนุษย์ไม่สามารถปลอมแปลงและเลียนแบบได้ ส่วนเนื้อภายในจะเป็นสีเทาจนถึงดำ
ขนาดฐานกว้าง 2.3 ซม. สูง 3 ซม. หนา 0.4 ซม.
พุทธคุณ
มีครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเมตตามหานิยม โชคลาภ
มหาอุตม์ คงกระพันชาตรี และแคล้วตลาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น