วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระลีลากำแพงขาว พิมพ์กลาง ชินเงิน กำแพงเพชร

 

พระลีลากำแพงขาว พิมพ์กลาง ชินเงิน กรุวัดบรมธาตุ ทุ่งเศรษฐี(นครชุม)จังหวัด กำแพงเพชร

พระกำแพงขาวเป็นยอดพระเครื่องปางลีลา ศิลปะสุโขทัย อลังการเป็นเลิศอันเกิดจากจินตนาการโดยปฏิมากรสกุลกำแพงเพชร ซึ่งเป็นช่างผู้เชี่ยวชาญสุดยอด สามารถล้อศิลปะต่างประเทศที่มีฝีมือจัดๆไว้มาก มีศิลปะอินเดีย ศรีวิชัย ลังกาและขอม พระลีลาพิมพ์นี้ได้นำศิลปะอินเดียมาประยุกต์ในลักษณะการเยื้องย่าง การแกว่งกระหวัดพระกรทั้งสองในท่า “ตริภังค์” ซึ่งเป็นศิลปะอินเดียอย่างแท้จริง ในสมัยสุโขทัยกำลังรุ่งเรืองศิลปะและวัฒนธรรมของอินเดียได้ครอบคลุมอารมณ์และจินตนาการของคนในสมัยนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างน้อยก็คงมีการรื้อฟื้นโดยนำศิลปะอินเดียเข้ามาประยุกต์ให้รู้ว่าเป็นหลักไว้บ้าง นับเป็นการเห็นการณ์ไกลของช่างสกุลกำแพงเพชรที่มีความสามารถเป็นเลิศ นักนิยมพระเรื่องต้องเคยเป็นพระพิมพ์มากมายหลายๆแบบของกำแพงเพชรที่นำศิลปะอินเดีย ศรีวิชัย ลังกาและขอม มาสร้างไว้ด้วยเนื้อดิน เนื้อชิน และชินสนิมแดง ล้วนมีฝีมือจัดๆทั้งนั้น แม้แต่พระพุทธปฏิมาองค์เล็กๆ ถ้าสังเกตให้ดีและค้นคว้าดูพิมพ์ต่างๆของกำแพงเพชรแล้วจะพบข้อมูลดังกล่าวเป็นที่ยอมยอมรับกัน

พุทธลักษณะ
พระลีลากำแพงขาว พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลางและพิมพ์เล็ก มีลักษณะการลีลาในสัณฐานเดียวกันทั้งหมด
1) องค์พระปฏิมาประทับยืนก้าวย่างปางลีลาบนฐานบัวชั้นเดียวภายในกรอบเส้นนูนแบบหน้ากระดานสี่เหลี่ยม พระพักตร์หันไปด้านหน้าตรงและเอนพระเศียรไปทางด้านซ้ายในท่าก้าวย่างเล็กน้อย เหวี่ยงพระโสณีและยักย้ายพระวรกายเป็นสามส่วนอย่างนาฏศิลป์ที่อ่อนช้อยของอินเดียที่เรียกว่าแบบ “ตริภังค์” ส่วนรายละเอียดในองค์พระใกล้เคียงกันทุกพิมพ์ อาจผิดเพี้ยนกันเพียงความอ่อนไหวในพิมพ์ต่างกันเล็กน้อย
2) พระพักตร์รูปไข่นูนเรียว พระเนตรเป็นเม็ดโปน พระขนงและพระนาสิกคมสูงแบบหน้าแขก พระอุระและพระโสณี(สะโพก)อวบอ้วนกว้างนูน เม็ดพระศกทำเป็นตุ่มใหญ่แบบก้นหอยห่างกันหลวมๆ
3) ลักษณะการลีลาจะเยื้องย่างพระบาทไปทางขวา พระหัตถ์ซ้ายจะยกเหนือระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาจะทิ้งลงอ่อนไหวไปตามพระบาทที่ย่างก้าวเพื่อรับน้ำหนักกับการก้าวย่างพระบาททางด้านขวาได้อย่างเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเป็นสมัยก่อนนั้นจะเรียกว่า “กำแพงเขย่ง” อันเป็นสกุลเดียวกับพระกำแพงเม็ดขนุนและพระกำแพงพลูจีบ
4) พระอุระผาย พระอังสาใหญ่บั้นพระองค์เล็ก พระถันโปน ครองจีวรแนบเนื้อห่มคลุมเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรเป็นร่องตื้นจากพระอังสาซ้าย โค้งลงใต้พระถันขวา วกเข้าซอกพระกัจฉะ เบื้องล่างคลุมยาวลงถึงข้อพระบาท พระบาทประทับย่างบนฐานเตี้ยบัวชั้นเดียว ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบเป็นแอ่งท้องกระทะเล็กน้อย พื้นผิวเป็นลายผ้าเนื้อหยาบ

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระลีลากำแพงขาว เป็นยอดพระเรื่องปางลีลา ศิลปะสุโขทัย กำเนิดในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงองค์ที่5 แห่งกรุงสุโขทัยได้เสด็จไปยังเมืองกำแพงเพชร ได้ทรงสถาปนาวัดพระบรมธาตุ ณ ลานทุ่งเศรษฐี นครชุม พร้อมทั้งมีพระราชโองการให้จัดสร้างพระเครื่องพิมพ์ต่างๆมากมาย โดยช่างปฏิมากรชาวกำแพงเพชร บรรจุในกรุสถูปพระปรางค์เมื่อพ.ศ. 1900 พระพิมพ์กำแพงขาว ชินเงิน ก็เป็นพระเครื่องพิมพ์หนึ่งรวมอยู่ด้วย พบครั้งแรกที่กรุวัดพระบรมธาตุ เมื่อพ.ศ.2392 ต่อมาพ.ศ.2470 พบที่กรุวัดพิกุล พ.ศ.2475 พบที่วัดลานดอกไม้ วัดกะโลทัย และวัดอาวาสน้อย
พระกำแพงขาวมีสร้างลงกรุไว้แต่เฉพาะเนื้อชินเงินและชินเขียวเท่านั้น ต่อมาได้มีผู้พบเนื้อดินเผาด้วย ที่เรียก “กำแพงขาว”เกิดจากสภาพสีผิวภายนอกของชินเงินเป็นสีขาววาววับของโลหะดีบุก เคลือบผิวภายนอกอยู่เมื่ออกจากกรุครั้งแรกๆ มิใช่อาบด้วยผิวปรอทอย่างที่เข้าใจกัน

วัสดุใช้สร้าง
พระลีลากำแพงขาว ชินเงิน สร้างด้วยโลหะสองชนิดคือตะกั่วดีบุก หลอมละลายเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว สร้างเป็นพระพิมพ์ ทุกขนาดเมื่อสร้างเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆจะมีสีขาววาววับดังสีเงินทุกองค์ เมื่อนำไปบรรจุกรุแล้ว ผ่านกาลเวลายาวนาน 600-700 ปี สภาพภายในกรุแต่ละกรุแตกต่างกัน ทั้งความร้อน เย็นและความชื้น ซึ่งมีผลกับโลหะทุกชนิด (ยกเว้นทองคำ) ทำให้เกิดสนิมกัดก่อนทั้งผิวภายนอกและเนื้อภายใน ปฏิกิริยานี้ทำให้องค์พระพิมพ์มีสีผิวต่างกันสองลักษณะคือ ผิวขาวดังสีเงินและคล้ำดำ

ผิวขาวสีเงินวาวอยู่ในกรุที่มีสภาพดี เมื่อออกจากรุก็ยังคงรักษาผิวให้คงอยู่ เป็นสภาพที่ยังไม่ได้ใช้สัมผัส แต่เมื่อถูกต้องสัมผัสด้วยมือคนที่มีเหงื่อและไขมันในเหงื่อ ผิวจะค่อยๆหมองเป็นสีเทาจนกลายเป็นสีดำในที่สุด สามารถกู้ให้คืนเป็นสีเงินดังเดิมได้ นานเข้าก็จะระเบิดแตกปริ ซึ่งแสดงคุณสมบัติอย่างแท้จริงของชินเงินที่มีอายุยาวนาน

ชนิดผิวดำคล้ำหรือดำตีนกา เกิดจากภายในกรุมีความชื้นมากเป็นการเร่งปฏิกิริยาให้เกิดสนิมคือ ออกไซด์ให้เร็วขึ้น ผิวจึงเป็นสีดำ และระเบิดแตกปริตามผิวและสันขอบในที่สุด

พระลีลากำแพงขาว พิมพ์กลางมีขนาดสัณฐาน
กว้าง 1.7 ซม. สูง 4 ซม. สันขอบหนา 0.2 ซม.

พุทธคุณ

นับว่ายอดเยี่ยมให้โชคให้ลาภ และเชื่อถือได้ในด้านแคล้วคลาดอีกด้วย

พระลีลากำแพงขาว พิมพ์อื่นๆ





วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เนื้อชินเงิน กรุวัดช้างล้อม สุโขทัย

 

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เนื้อชินเงิน อำเภอศรีสัชนาลัย(ชะเลียง)กรุวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย


วัดช้างล้อมเป็นวัดหลวงที่สำคัญสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย มีพระเจดีย์ที่สูงบรรจุพระบรมธาตุ รอบฐานพระเจดีย์สร้างรูปช้างล้อมไว้ 16 เชือกตั้งแต่ พ.ศ. 1820-1835 จึงแล้วเสร็จในสมัยพ่อขุนรามคำแหงครองราชย์ ณ กรุงสุโขทัย และในช่วงปีนั้นเอง “พระร่วงนั่งหลังลิ่ม” ก็ถือกำเนิดขึ้นในระยะนั้นด้วย จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2561 มีอายุรวมประมาณ 725 ปี

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม “วัดช้างล้อม” แตกกรุออกครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2480 และอีกครั้งพ.ศ.2490 หลังจากนั้น พ.ศ.2500 เป็นต้นไปก็พบอีกที่กรุบ้านแก่งสารจิต กรุวัดเจดีย์เจ็ดแถวก็มีพระพิมพ์นี้ขึ้นจากกรุด้วย กรุเมืองชัยนาทก็มีผู้พบ ครั้งสุดท้ายพ.ศ.2507 กรุวัดเขาพนมเพลิงแตกก็พบพระร่วงนั่งหลังตัน ไม่มีลิ่ม รวมอยู่ด้วยแต่มีขนาดเล็กกว่า

เมืองสวรรคโลกเดิมชื่อ เมืองชะเลียงมาก่อน ถึงสมัยสุโขทัยเรียกชื่อใหม่ว่า “ศรีสัชนาลัย” เป็นเมืองลูกหลวงที่พ่อขุนรามคำแหงเสด็จมาประทับ

พุทธลักษณะ
1.องค์พระปฏิมาประทับนั่งปางมาริชัยบนฐานเขียงเป็นเส้นยาวสองเส้น พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งเหมือนคันศร พระนาสิกงุ้มแหลม เปลือกพระเนตรคล้ายกลีบดอกบัว พระหนุเป็นปม พระศกขมวดเหมือนก้นหอย มีไรพระศกเป็นเส้นกรอบพระนลาฏ พระเมาลีเป็นมวย พระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระกรรณแนบพระปรางยาวจดพระอังสา
2.พระวรกายสง่างามสมสัดส่วน พระอังสากว้างใหญ่ พระอุระผาย พระถันโปน บั้นพระองค์เล็กเหมือนรูปกายสตรีเพศ พระอุทรเป็นลอน ครองพระจีวรแนบเนื้อห่มดอง เปิดพระอังสาขวา ริมายพระจีวรเป็นเส้นลวดพาดลงใต้พระถันวกเข้าซอกพระกัจฉะ พระสังฆาฏิพาดบนพระอังสาซ้ายปล่อยชายปลายตัดยาวลงถึงพระอุระปิดพระถัน
3.พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างพระวรกาย พระกรขวากลมกลึงยาวดุจงวงช้าง ยกพระหัตถ์วางกุมพระชานุลักษณะเข่านอก นิ้วพระหัตถ์เรียวสละสลวย พระกรซ้ายพับโค้งเข้าในพระหัตถ์วางหลายบนพระเพลา ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ขวาพับเข้าใน วางซ้อนทับบนพระชงฆ์ซ้ายบนอาสนะฐานเตี้ยลักษณะแผ่นเขียงเป็นเส้นสองชั้น
4.องค์พระปฏิมาสร้างเป็นปฏิมากรรมนูนต่ำลอยองค์ หน้าเดียวเหมือนพระพุทธรูป ด้านหลังแบนเรียบมีเส้นลายกบหมากและมีร่องเป็นแอ่งใหญ่กดประทับลึกลงไปรูปร่างคล้ายลิ่ม

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กำเนิดในสมัยสุโขทัยยุคกลาง ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อายุประมาณ 700 กว่าปี อยู่ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงครองราชย์ ได้ทรงสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุขึ้นที่เมืองศรีสัชนาลัยระหว่างที่พระองค์เสด็จไปประทับที่เมืองนั้น พร้อมทั้งทรงโปรดให้สร้างพระเครื่องมากแบบพิมพ์บรรจุกรุพระเจดีย์ด้วยในคราวเดียวกัน โดยศิลปินชาวสุโขทัย และพระร่วงนั่งหลังลิ่มก็เป็นพระพิมพ์หนึ่งรวมอยู่ด้วย โดยสร้างเป็นศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ที่งดงามยอดเยี่ยมตามจินตนาการของช่างศิลป์และผู้สร้างให้เป็นมรดกตกทอดให้อนุชนรุ่งหลังได้ระลึกถึงจนถึงปัจจุบัน

วัสดุใช้สร้าง
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เป็นพระพิมพ์ขนาดเล็กเนื้อชินเงิน ส่วนผสมหลักคือโลหะตะกั่วกับโลหะดีบุก หลอมละลายเข้าด้วยกันสร้างเป็นพระพิมพ์ เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ผิวภายนอกจะเป็นสีเงินขาววาววับของดีบุกเคลือบอยู่ เมื่อนำไปบรรจุกรุ เมื่อกาลเวลาผ่านไปยาวนานราว 700 ปีจะเกิดสนิมของโลหะ ทำให้ผิวภายนอกเป็นสีดำตีนกา รวมทั้งกัดกร่อนลงไปในเนื้อเป็นหลุมทั่วไป ภายในหลุมมีไขขาวเหมือนแป้งบรรจุอยู่ทุกหลุม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ชนิดหนึ่งของสนิมชินเงินตามธรรมชาติที่มีอายุยาวนาน ฝีมือมนุษย์ไม่สามารถปลอมแปลงและเลียนแบบได้ ส่วนเนื้อภายในจะเป็นสีเทาจนถึงดำ
ขนาดฐานกว้าง 2.3 ซม. สูง 3 ซม. หนา 0.4 ซม.

พุทธคุณ
มีครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเมตตามหานิยม โชคลาภ มหาอุตม์ คงกระพันชาตรี และแคล้วตลาด

พระร่วงนั่ง พิมพ์อื่นๆ