วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พระนาดูนปรกโพธิ์ใหญ่ กรุพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

 

ประติมากรรมล้ำค่าอีกหนึ่ง ที่น้อยคนจะได้พบเห็น

พุทธลักษณะ ปางสมาธิ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบแบบขาไขว้เป็นเอกลักษณ์ของพระพิมพ์นาดูน บนบัลลังก์ฐานบัว 5 ชั้น พระหัตถ์ขวาวางซ้อนบนพระหัตถ์ซ้ายซึ่งวางหงายบนหน้าตัก พระจีวรห่มดองแนบเนื้อเปิดไหล่ขวา พระเกศาขมวดเป็นตุ้มก้นหอย พระเกศลิ่มเล็กรูปบัวตูม มีรัศมีประภามณฑลรอบพระเศียร เหนือประภามณฑลขึ้นไปเป็นซุ้มปรกโพธิ์ รอบนอกเป็นเส้นครอบโค้งกรอบกระจก
ฐานบัวส่วนล่างสองชั้น มีพระโมคคัลลานะพระสารีบุตร ประทับยืนพนมมือหันหน้าเข้าหาองค์พระ ทั้งหมดอยู่ภายในกรอบรูปใบพาย
ด้านหลังพระพิมพ์อูมนูนเล็กน้อย มีรอยตกแต่งด้วยมือเป็นคลื่น เอียงลาดลงขอบพิมพ์ สันขอบหนา 7 มม.
1.    วัสดุและทัพสัมภาระการสร้างพระพิมพ์ ส่วนผสมประกอบด้วยดินเหนียว, กรวด, ศิลาแลง และแกลบ เมื่อเผาแล้ว ทำให้เนื้อพระแข็งแกร่ง พระพิมพ์เป็นดินเผาสีแดงคล้ำ เนื้อดินจับตัวกันกลายเป็นผลึกหินแล้ว ใช้แท่งโลหะเคาะ จะมีเสียงกังวานเหมือนระฆัง คราบไคลสีดินโคลนเคลือบบางๆเกาะติดผิวแน่นทั้งด้านหน้าและหลัง เป็นหลักฐานอยู่ในกรุด้วยเวลายาวนาน
ขนาดของพระพิมพ์ กว้างฐาน 8 ซม. สูง 14 ซม.
2.     ยุคสมัยการสร้างและศิลปะ ลักษณะพุทธประติมากรรมเป็นแบบผสมระหว่างศิลปะทวาราวดีกับศิลปะลพบุรี มีส่วนละม้ายศิลปะขอม กรมศิลปากรกำหนดอายุของพระพิมพ์นาดูน อายุการสร้างอยู่ระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 14-15 ประมาณ 1,300 ปี
ความงดงามและความเก่าแก่ของพระกรุนี้จัดอยู่ในยุคปลายคุปตะหรือต้นปาละของศิลปะอินเดีย
การแตกกรุ สถูปขนาดใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งเมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคามพังทลายลงมาทางด้านทิศตะวันออก พระพิมพ์ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในกรุหรือภาชนะอื่นใด จมอยู่ในดินไม่ลึก ฝังอยู่เปะปะทั่วไป พระพิมพ์คงติดประดับไว้ตามซุ้มด้านข้างพระสถูป และวางกองไว้ที่ฐาน เมื่อสถูปล้มฟาดไปทางใด พระพิมพ์ก็จะปรากฏมีมากด้านนั้นๆ
การแตกกรุค้นพบโดยบังเอิญ โดยเจ้าของนาไปปลูกผักในที่นาของตน ได้พบพระพิมพ์แบบต่างๆ จึงนำไปขายในตัวจังหวัด กระทั่งชาวบ้านรู้ข่าวว่า จึงลุกฮือไปแย่งกันขุด เมื่อเดือนมิถุนายน 2522
3.    ผู้สร้าง จากอักขระที่ปรากฏอยู่บนแผ่นพระพิมพ์ดินเผาบางองค์ ซึ่งใช้ดินสีแดง เขียนด้วยของแหลมลงในเนื้อดินนั้น ทำให้ทราบว่า คำจารึกส่วนใหญ่ ได้สร้างพระเหล่านี้ขึ้นเพื่อการกุศลผลบุญ มีจารึกตอนหนึ่งกล่าวว่า “พระเจ้ากะลามาแตง สร้างไว้เพื่อทำบุญ” แสดงว่าพระพิมพ์ดินเผากรุพระธาตุนาดูน กษัตริย์มอญปกครองอาณาจักรนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้สร้างไว้เมื่อประมาณ 1,300 ปีมาแล้ว


พุทธคุณ ทางด้านแคล้วคลาดสูงมาก

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พระคันธาระสุวรรณภูมิ ประทานพร

 

พระพุทธลักษณะ ปางประทานพร หรือแสดงธรรม องค์พระประทับนั่งราบบนฐานเขียงสองชั้น พระสรีระเสมือนมนุษย์จริง ห่มคลุมกลีบจีวรเป็นริ้ว พระเกศาและมวยผม เป็นเส้นผมหวีเรียบเหมือนผมจริง เป็นศิลปะสมัยคันธาระของอินเดีย ด้านหลังพระเศียรมีรัศมีประภามณฑลรูปกลม
ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ ขนาดกว้างฐาน 4.5 ซม. สูง 7 ซม.

1. วัสดุการสร้างพระพิมพ์ ส่วนผสมหลักคือดินเหนียว กรวด ทราย บดกรองละเอียด ส่วนผสมที่ใช้มากคือทราย เมื่อเผาแล้วทำให้เนื้อพระแข็งแกร่ง ได้พระพิมพ์ดินเผาสีส้มแดง คราบไคลสีดำคล้ำผสมกับคราบหินปูนสีขาว เป็นฝ้าบางๆ เคลือบผิวเนื้อติดแน่น เป็นหลักฐานที่พระพิมพ์นี้ ถูกฝังอยู่ในวัตถุสถานนับพันปี

2. ศิลปะ ยุคสมัยการสร้างและผู้สร้าง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ดั้งเดิมเป็นเมืองโบราณศูนย์กลางอาณาจักรสุวรรณภูมิ มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ อาศัยอยู่ นับถือศาสนาพุทธที่แผ่เข้ามาจากอินเดีย มีศิลปะทวาราวดี กำเนิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 10 ชาวอินเดียอพยพเข้ามาภายหลัง ได้นำเอาอารยธรรมการสร้างพระพุทธรูปบูชาเข้ามาด้วย ผู้ปกครองจึงรับเอา มาประยุกต์ใช้กับพระพิมพ์ดินเผาขนาดเล็ก เพราะสร้างง่ายและได้จำนวนมาก ปลุกเสกแล้วนำบรรจุในสถูปเจดีย์เพื่อยึดเหนี่ยวชาวพุทธและสืบต่อพระศาสนา ถือเป็นกำเนิดของพระพิมพ์ครั้งแรกของประเทศไทย มีชื่อว่า “พระคันธาระสุวรรณภูมิ ในต้นยุคทวาราวดีที่อู่ทอง สุพรรณบุรี ก่อนศิลปะทวาราวดีจะไปเจริญที่นครปฐม เมื่ออู่ทองเสื่อมลง

พุทธคุณ นิรันตรายภัยพิบัติทั้งปวง

พระสามหอม สกุลหริภุญชัย(ลำพูน) กรุดอยคำ เชียงใหม่ - ๒

 

เมื่อปี พ.ศ. 2509 เคยพบที่กรุเวียงกุมกาม

พุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร เข่านอก ประทับบนบัลลังค์บังคว่ำบัวหงาย อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วลายกนก ข้างๆมีอัครสาวกสององค์ ด้านข้างซุ้มและยอดซุ้ม มีพระเจดีย์ องค์พระนูนเด่นชัดเจนสวยงาม มีกลิ่นหอม สัณฐานขอบนอกเป็นรูปไข่ ขนาดกว้าง 5ซม. สูง 7.5 ซม. ด้านหลังองค์พระนูนมาก เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นไข่เป็ดขนาดใหญ่ผ่าซีก พื้นผิวกดพิมพ์ด้วยนิ้วมือ เป็นรอยบดบี้อยู่ทั่วไป

1. องค์พระเป็นดินเผาสีแดง สร้างด้วยดินกรองละเอียดผสมว่าน ผิวตึง ความเสื่อมผิวน้อย เพราะกรุอยู่บนดอย ไม่แช่น้ำเหมือนพระเมืองลำพูน ราดำมีให้เห็นประปรายพอสมควร

2. ยุคสมัยการสร้าง พระสามหอม เป็นพระที่มีศิลปะสูงแบบหนึ่ง วงการอ่านว่าเป็นศิลปะทวาราวดี หรือ คุปตะเป็นศิลปะเก่ากว่าลพบุรี แต่ได้ประยุกต์ฝีมือหลายช่างรวมกัน จนกลายเป็นพระที่มีศิลปะสูงแบบหนึ่ง จนกระทั่ง ศาสตราจารย์ เขียน ยิ้มศิริ เรียกศิลปะสมัยลำพูนว่า “ละโว้หริภุญชัย” โดยเป็นฝีมือประยุกต์ และใช้แบบพระเก่ามาเป็นแม่แบบ แต่ช่างมีความชำนาญในศิลปะลพบุรี จึงแทรกศิลปะลพบุรีลงในที่ใดที่หนึ่ง เช่นเดียวกับสมัยหริภุญชัย ซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 14-17 พระสามหอมมีอายุการสร้างไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 17 (ราว1,000 ปี)

3. ผู้สร้าง กลุ่มชนมอญโบราณใช้อักษรมอญโบราณและภาษามอญอยู่ในจังหวัดลำพูน(หริภุญชัย) เป็นผู้สร้างบรรจุกรุไว้ ที่กรุดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะล่มสลาย ถูกยึดครองโดยอาณาจักรล้านนาและราชวงศ์กษัตริย์แห่งหริภุญชัยนครสิ้นสุดลงในพุทธศตวรรษที่ 17

พุทธคุณ พระสามหอมมี นิรันตราย แบบเดียวกับพระรอด เป็นพระรักษาชีวิตดีเลิศองค์หนึ่งทีเดียว

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ กรุต้นจันทร์ สุโขทัย

 

 

พุทธลักษณะ เหมือนกรุตาเถรขึงหนังทุกประการ จุดที่เป็นส่วนต่างให้สังเกตมือ ข้อศอกที่วางบนหัวเข่าซ้าย จะมีหมอนแบนรองรับไว้

พุทธคุณ เมตตาหมานิยม, แคล้วคลาด, คงกระพัน

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ กรุตาเถรขึงหนัง วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม อารามร้าง สุโขทัย

 

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย ลอยองค์ นั่งขัดสมาธิราบ บนบัลลังก์ ฐานเขียงไม้ชั้นเดียว ห่มคลุมเปิดไหล่ขวา ผนังด้านหลังองค์พระแบนเรียบ ไม่มีเครื่องตกแต่ง ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว
ศิลปะในการสร้างพระพิมพ์ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย พระเศียรทรงผมเรียบ พระเมาลีเกล้ามวย พระเกศเปลวยอดแหลม
ด้านหลังเรียบ มีลายมือกดแต่งและใช้แผ่นไม้กดทับ ขอบข้างตัดเรียบ หนา 3 มม.

1.    วัสดุและทัพสัมภาระการสร้างพระ ใช้ดินกรองละเอียด ผสมว่านและเกสรดอกไม้ เผาแล้วมีสี่สีคือ เหลือง, แดง, เขียว และดำ เกือบทุกองค์มีฝ้ากรุสีขาวหนาติดผิวแน่น
ขนาดพระพิมพ์ กว้างฐาน 3 ซม. สูง 3.5 ซม.

2.    ยุคสมัยการสร้าง วัดตาเถรขึงหนัง อารามร้าง ที่จังหวัดสุโขทัย ได้สร้างกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 1946 (สุโขทัยยุคปลาย) ส่วนพระเครื่องที่ขนานนามว่า “พระนางพญาเสน่ห์จันทร์”นั้น ก็คงสร้างในปี พ.ศ. 1947 นั่นเองด้วย 
เปิดกรุเป็นทางการโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2502

3.    ผู้สร้าง พระมหาธรรมราชาที่ 2 (ไสยลือไท) พระร่วงองค์ที่ 6 ขึ้นครองราชย์กรุงสุโขทัย พ.ศ.1921 เป็นผู้สร้างวัดตาเถรขึงหนัง รวมทั้งพระพิมพ์นางเสน่ห์จันทร์ บรรจุไว้ในกรุเจดีย์และในระยะเวลาเดียวกันนั้น กรุงสุโขทัยก็ตกเป็นเมืองข้นกับกรุงศรีอยุธยา จึงทำให้วัดตาเถรขึงหนังร้างไปในที่สุด

พุทธคุณ เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, คงกระพัน

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พระขุนแผน พิมพ์ห้าเหลี่ยม อกใหญ่ กรุวัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ภายในซุ้มเรือนแก้วบนบัลลังค์ฐานเขียงชั้นเดียว องค์พระห่มคลุมเปิดไหล่ขวาภายในกรอบรูปห้าเหลี่ยม
ด้านหลัง เรียบมีลายนิ้วมือกดแต่ง

1. วัสดุการสร้างพระพิมพ์ เนื้อดินป่นกรองละเอียด เต็มไปด้วยฝุ่นผงและแร่ดอกมะขามเป็นหลัก ผสมแร่กรวดกรองละเอียด ได้พระพิมพ์ดินเผามีแดงอิฐ ผิวเนียนนุ่ม มีแร่กรวดลอยขึ้นบนผิว
ขนาดพระพิมพ์ กว้าง 3 ซม. สูง 5 ซม.

2. ยุคสมัยการสร้าง เป็นศิลปะยุคอยุธยา สร้างภายหลังรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯเล็กน้อย ประมาณ พ.ศ. 2137 อายุ 400 ปี
การแตกกรุ เจดีย์ภายในวัดล้มลงในปีพ.ศ. 2445 มีพระขุนแผนพิมพ์ต่างๆกลาดเกลื่อนจำนวนมาก เป็นหมื่นๆองค์

3. ผู้สร้าง โดยช่างหลวงพระนครศรีอยุธยา แล้วนำไปบรรจุกรุเจดีย์วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

พุทธคุณ ขลังมากด้านเสน่ห์ และยิ่งยงด้านแคล้วคลาด คงกระพัน



พระขุนแผน (ทุกกรุ) พิมพ์อื่นๆ






พระขุนแผน พิมพ์หน้าเทวดา กรุวัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ภายในซุ้มเรือนแก้วแบบลอยองค์ องค์พระห่มคลุมเปิดไหล่ขวา ภายในกรอบรูปกลีบบัว ด้านหลังแบนเรียบ ขอบข้างถูกตัดด้วยของมีคมจากด้านหน้าเฉียงสอบลงด้านหลัง

1. วัสดุการสร้างพระพิมพ์ เนื้อดินป่นกรองละเอียด เต็มไปด้วยฝุ่นผงและแร่ดอกมะขามเป็นหลัก ผสมแร่กรวดกรองละเอียด เมื่อเผาแล้วได้พระพิมพ์ดินเผามีแดงอิฐ ผิวเนียนนุ่ม มีแร่กรวดลอยขึ้นบนผิว และรารักสีดำเล็กน้อย
ขนาดพระพิมพ์ กว้าง 2.7 ซม. สูง 4.7 ซม.

2. ยุคสมัยการสร้าง เป็นศิลปะยุคอยุธยา สร้างภายหลังรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯเล็กน้อย ประมาณ พ.ศ. 2137 อายุ 400 ปี
การแตกกรุ เจดีย์ภายในวัดล้มลงในปีพ.ศ. 2445 มีพระขุนแผนพิมพ์ต่างๆกลาดเกลื่อนจำนวนมาก เป็นหมื่นๆองค์

3. ผู้สร้าง โดยช่างหลวงพระนครศรีอยุธยา แล้วนำไปบรรจุกรุเจดีย์วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

พุทธคุณ ขลังมากด้านเสน่ห์ และยิ่งยงด้านแคล้วคลาด คงกระพัน


พระขุนแผน (ทุกกรุ) พิมพ์อื่นๆ






พระงบน้ำอ้อย พิมพ์ยมกปาฏิหาริย์ ๒๕ พระองค์ กรุวัดเขาพระบาทน้อย สุโขทัย

 

พุทธลักษณะ เป็นพระพิมพ์ปางปาฏิหาริย์ แสดงภาพเป็นพระองค์เล็กๆมากมาย ให้พระประยูรญาติได้เห็น เมื่อเกิดความเชื่อถือและศรัทธาแล้ว จึงสามารถเทศนาสั่งสอนพระธรรมได้สำเร็จ พระพิมพ์นี้เป็นพระองค์เล็กๆประทับนั่งปางมารวิชัย เรียงแถวกันไปเป็นรูปวงกลมภายในกรอบรูปวงกลมเหมือนงบน้ำอ้อย วงนอกมี 17 องค์ วงในมี 8 องค์ รวมกัน 25 องค์  ด้านหลังอูมนูนเล็กน้อย ปรากฏลายมือกดแต่งอยู่ทั่วไป ขอบข้างเป็นสันคม

1. วัสดุและทัพสัมภาระการสร้าง เป็นพระพิมพ์ดินเผาสีแดง ค่อนข้างกระด้าง เนื้อดินกรองละเอียดผสมกรวด ขี้กรุเป็นผงดินโคลนละเอียดสีเทาเคลือบผิว
ขนาดพระพิมพ์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 ซม.

2. ยุคสมัยการสร้าง เป็นพระพิมพ์ศิลปะยุคสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 19 มีอายุ 800 ปีล่วงมาแล้ว

3. ผู้สร้าง พระมหาธรรมราชาลิไท (พระยาลือไท) ขึ้นครองราชย์กรุงสุโขทัย พ.ศ. 1890 บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดกว่ารัชกาลใด ทั้งด้านพระพุทธศาสนา, ศิลปกรรม, ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม พระพิมพ์ศิลปะยุคสุโขทัย จึงมีลักษณะที่งดงาม เป็นศิลปะชั้นสูง พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์กรุงสุโขทัยองค์ที่5 เป็นผู้อำนวยการสร้างพระพิมพ์เหล่านี้บรรจุกรุไว้ตามเจดีย์ต่างๆ เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา ตามธรรมเนียมโบราณสืบต่อกันมา

พุทธคุณ คงกระพันชาตรีเป็นเยี่ยม

พระงบน้ำอ้อย พิมพ์ยมกปาฏิหาริย์ ๑๒ พระองค์ กรุกลางทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร

 

พุทธลักษณะ เป็นพระพิมพ์ปางปาฏิหาริย์ แสดงภาพเป็นพระองค์เล็กๆมากมาย ระทับนั่งปางสมาธิ เรียงแถวภายในกรอบรูปวงกลมเหมือนงบน้ำอ้อย วงนอกมี 11 องค์ วงในมี 1 องค์ รวมกัน 12 องค์  
ด้านหลังอูมนูนเหมือนลูกสะบ้าผ่าครึ่ง ผิวเทียน ปรากฏลายมือกดแต่งอยู่ทั่วไป

1. วัสดุการสร้าง เนื้อดินกรองละเอียด ผสมว่านดินเผาสีเขียวคราบแดง ดินกรุสีเทาเคลือบผิวบางๆ
ขนาดพระพิมพ์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 ซม.

2. ยุคสมัยการสร้าง เป็นพระพิมพ์ศิลปะยุคสุโขทัย ระหว่างพ.ศ.1900 สร้างบรรจุกรูไว้ที่เมืองโบราณชากังราว(นครชุม) ลานทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร

3. ผู้สร้าง พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์กรุงสุโขทัยองค์ที่5 เป็นผู้อำนวยการ โดยช่างเมืองกำแพงเพชร ได้สร้างบรรจุกรุไว้ตามเจดีย์ต่างๆ บริเวณลานทุ่งเศรษฐี ตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร


พุทธคุณ คงกระพันชาตรีเป็นเยี่ยม