พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย
องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนอาสนะฐานเรียบ พระเศียรทรงเทริด
พระเมาลีเป็นมวยแบน พระเกศมาลาเป็นรูปกรวยสองชั้นยอดแหลม พระพักตร์กว้างสี่เหลี่ยม
พระนลาฏแคบ พระขนงโก่งโค้ง พระเนตรโปนหลับหรี่ลงมองต่ำ พระนาสิกแบน พระปรางอวบอิ่ม
พระโอษฐ์แบะ พระหนุเป็นลอน พระกรรณยาวเสมอพระหนุ พระศอเป็นลอนแคบ พระอุระใหญ่
ครองจีวรแนบเนื้อห่มเฉียง ขอบจีวรเป็นเส้นโค้งใต้พระถันยาวเลยเข้าไปในพระกัจฉะ
ไม่ปรากฏผ้าสังฆาฏิ ขอบสบงยกขึ้นเป็นเส้น
พระพาหาทั้งสองข้างทอดลงขนานลำพระองค์หักพระกัปประพระกรขวายกขึ้น พระหัตถ์วางคว่ำบนพระชานุลักษณะเข่านอก
พระกรซ้ายโค้งลง พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา พระชงฆ์ซ้ายสอดใต้พระชงฆ์ขวาขัดกันในลักษณะขัดสมาธิเพชร
องค์พระประทับนั่งบนผ้าพระสุจหนี่ (ผ้าปูรองนั่ง) ภายในกรอบรูปกรวยยอดโค้งมน
ด้านหลังอูมเรียบ กดแต่งโค้งลงบรรจบกรอบหน้า
ไม่มีการตัดขอบ ฐานล่างเรียบหนารูปครึ่งวงกลมตั้งได้
1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย
ดินเหนียวกรองละเอียด กรวดทรายขนาดเล็กละเอียด ผงแร่ศิลาแรง
ใช้ข้าวสุกประสานยึดเหนี่ยวเป็นกาว นวดผสมเข้ากันให้เหนียว กดพิมพ์แบบ ตากแห้ง
เผาไฟอุณหภูมิ 700 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดงจัดทั้งเนื้อในและผิวนอก
เนื้อแน่นแกร่งหยาบเล็กน้อย ผิวนอกเนียนเรียบ ไม่มีผดและเม็ดกรวดทราบผุดขึ้นบนผิว นอกจากผิวกร่อนกะเทาะล่อน
จึงจะเห็นเม็ดกรวดทรายภายใน
คราบขี้กรุมีน้อย มีเพียงผงฝุ่นสีเทาอุดตามซอกลึกด้านหน้าพระพิมพ์
ขนาดฐานกว้าง 2 ซม. สูง 4 ซม.
2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
เป็นพระพิมพ์ดินเผาสมัยลพบุรีตอนปลาย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 อายุราว 600 ปี
ร่วมสมัยกับยุคสุโขทัยตอนต้น แต่ยังคงศิลปะลพบุรี ทรงเครื่องสวมพระเศียร
คติพุทธศาสนานิกายมหายาน ปนพราหมณ์ผสมศิลปะขอมโบราณ ขุดพบตามเนินดินที่เป็นโบราณสถาน
ผุพังตามกาลเวลาพ้นสภาพที่จะสังเกตได้ว่าเป็นกรุบรรจุพระบูชาและพระพิมพ์
พระองค์นี้เป็นพระพิมพ์พิเศษกว่าพระพิมพ์ทั่วไป
คือองค์พระองค์พระปางมารวิชัย “ขัดสมาธิเพชร” ไม่ใช่ขัดสมาธิราบ
จึงเป็นพระพิมพ์ที่มีน้อยและหายากยิ่ง
พุทธคุณ แคล้วคลาด
คงกระพัน มหาอุตม์ และเมตตามหานิยม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น