วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ การแตกลายงา การแตกลายสังกะโลก และการลงรักเก่าทองเก่า


พระสมเด็จวัดระฆังฯ การแตกลายงา การแตกลายสังกะโลก และการลงรักเก่าทองเก่า


การแตกลายงา

“...เนื้อประเภทหนึกแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อขนมตุ้บตั้บ เมื่อแตกลายงาแล้ว จะส่งผลทางสุนทรียะอันทรงคุณค่ายิ่ง การพิจารณาเนื้อแตกลายงาที่มีความซึ้งจัดๆ ย่อมจะเกิดสุนทรียะแก่จิตใจ ทำนองเดียวกับการพิจารณาลายไม้ เช่น ประดู่ลาย ปุ่มมะค่า และไม้สักลาย หรือลายหินอ่อน อันสลับซับซ้อน ฉะนั้นเนื้อขนมตุ้บตั๊บที่แตกลายงา จะมีค่าสุนทรียะอย่างสูงในระดับเดียวกับ เนื้อกระแจะจันทน์ ที่มีผิวแป้งโรยพิมพ์นั่นเทียว...”

 
การแตกลายงา


การแตกลายสังกะโลก

“...มีความงดงามในอันดับรองลงมาจากการแตกลายงา ในประเภทเนื้อหนึกแกร่งด้วยกัน เพราะช่วยให้เกิดความซึ้งมากกว่าเนื้อประเภทหนึกแกร่งที่ไม่มีลวดลายเรขาประเภทนี้...”


 
การแตกลายสังกะโลก

การลงรักเก่าทองเก่า

“...วรรณะเก่าเลือดหมูหม่นแห้งๆหรือดำแห้งๆและวรรณะเปลวทอง อันหม่นแห้งซึ้งรำไรๆอยู่ตามซอกต่างๆของพระ ย่อมส่งลักษณะความเป็นโบราณวัตถุให้ชัดขึ้นเป็นอเนกประการ สำหรับประเภทเนื้อหนึกนุ่มนั้น บริเวณที่รักเก่าหลุดร่อนออก จะปรากฏความนุ่มของเนื้ออย่างจัดมีวรรณะเหลืองหม่น สลับกับผิวนวลบางๆ จัดเป็นสุนทรียะที่เทียบได้กับการแตกลายงา...” 

  

 
การลงรักเก่าทองเก่า

ที่มา: คัดลอกจากหนังสือ "ปริอรรถาธิบาย แห่งพระเครื่องฯ เล่มหนึ่ง พระสมเด็จ” ของ ตรียัมปวาย พิมพ์ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๒๐, หน้า๕๙๖-๕๙๗ (ห้วข้อ ซ. การแตกลายงา ฌ. การแตกสังกะโลก ญ. การลงรักเก่าทองเก่า)


พระสมเด็จฯมีจำนวนพอสมควรทีเดียว ที่ได้รับการลงรักเก่าทองเก่า หรือลงรักเก่าไม่ได้ปิดทอง หรือปิดทองอย่างเดียวไม่ลงรัก คำว่า “รักเก่าทองเก่า” หมายความว่า เป็นรักและทองที่ปิดลงมาแต่ดั้งเดิม หรือในสมัยใกล้เคียงการสร้าง อนึ่งรักเก่าทองเก่า มีเฉพาะของวัดระฆังฯ ส่วนบางขุนพรหมมีเฉพาะทองเก่า หรือทองกรุเท่านั้น

ก. มูลกรณีการลงรักเก่าทองเก่า สืบเนื่องมาจากคตินิยมแต่โบราณ ในการลงรักปิดทองพระพุทธประติมากรรม โดยถือว่าเป็นงานขั้นสุดท้ายของกรรมวิธีการสร้างพระ ตามอุดมคติที่ว่า พระพุทธฉวีมีวรรณะผุดผ่องดังสุวรรณชมภูนุท เมื่อเจ้าประคุณฯไดรับการถวายกัณฑ์เทศน์เป็นทองเปลวมาจากชาวบ้านถนนตีทองและที่อื่นๆ ท่านจึงได้ดำริการลงรักปิดทองพระสมเด็จฯของท่านขึ้น โดยมิได้กำหนดว่าจะปิดเฉพาะองค์เพื่อให้เป็นคะแนนแต่ประการใด คงปิดไปตามจำนวนแผ่นทองเปลวที่ได้รับมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น และต่อมาคงจะมีผู้ปฏิบัติตาม เมื่อได้รับพระสมเด็จฯมาก็ลงรักปิดทองกันเอง


ข. การทดสอบรักเก่าทองเก่า เป็นการใช้จักษุสัมผัส ประกอบกรรมวิธีลอกรักเก่า

มูลลักษณะของรักเก่า โดยทั่วไป รักเก่ามีอยู่ ๒ ชนิด ซึ่งมีลักษณะต่างกัน คือ

ก) รักเก่าน้ำเกลี้ยง เป็นรักเก่าดั้งเดิม ซึ่งเข้าใจว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ลงไว้ตั้งแต่การสร้าง การปรากฏตัวของรักเก่าชนิดนี้ จะต้องมีทองเก่าฉาบไว้อยู่ข้างหน้าเสมอ เป็นการลงรักปิดทองที่เรียกว่า “รักเก่าทองเก่า” เนื้อรักมีสัณฐานเป็นแผ่นบางๆ ลักษณะแห้งเกราะหรือหลุดร่วนหมดยางเหนียวมีวรรณะดำแกมเลือดหมู หรือ ดำแกมน้ำตาลไหม้ แต่เป็นวรรณะแห้งๆซีดๆไม่สดใส รักชนิดนี้อาจจะเรียกต่างๆกันไปว่า “รักสีเลือดหมู” หรือ “รักแดง” (ความจริงไม่ใช่สีแดง) เนื่องจากความเหนียวแน่นมีน้อยมาแต่เดิม และสัณฐานบาง รวมทั้งมีอายุเก่าแก่จึงอาจหลุดลุ่ยออกมาจากผิวเนื้อเป็นหย่อมๆ รักชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดการแตกลายงาอย่างจัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับที่เกิดกับประเภทเนื้อหนึกนุ่มด้วยแล้ว เกือบจะไม่แตกลายงาเลย แต่ถ้าเป็นประเภทเนื้อหนึกแกร่งจะเกิดการแตกลายงา ซึ่ง ร่องเรขารักจะมีเศษรักเก่าวรรณะดำแกมเลือดหมูคล้ำซีดๆฝังอยู่และเป็นเส้นที่เรียวเล็กมาก

ข) รักเก่าน้ำดำ เข้าใจว่าจะเป็นรักเก่าที่ลงในระยะการสร้างเช่นเดียวกับรักเก่าน้ำเกลี้ยง และมีอายุเก่าแก่เช่นเดียวกัน จึงมีวรรณะซีดและแห้ง แต่ถ้าใช้ใบมีดโกนปาดผิวหน้าออกเพียงเล็กน้อย จะปรากฏว่าวรรณะที่ถัดลงไปดำสนิทและขึ้นมัน เช่นเดียวกับรักใหม่ เพราะมีสัณฐานหนาและเนื้อรักยังสดหรือเหนียวอยู่บ้างและลึกลงไปบริเวณที่แนบกับผิวเนื้อพระ จะมีวรรณะแกมเลือดหมูหรือน้ำตาลไหม้เล็กน้อยและค่อนข้างสด รักเก่าชนิดนี้ช่วยให้เนื้อแตกลายงาได้งดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นประเภทเนื้อหนึกแกร่ง จะเกิดลายงาอย่างจัดที่สุด สำหรับประเภทเนื้อหนึกนุ่มจะเกิดลายงาพอสมควร ลายงาของรักชนิดนี้จะมีเนื้อรักฝังแน่นอยู่ เป็นร่องเรขารักที่ลึกและเส้นเขื่องกว่าชนิดแรก และวรรณะของร่องเรขารักเป็นดำแกมเลือดหมูค่อนข้างสดเข้ม รอยแตกระแหงอื่นๆ หรือแอ่งเล็กๆน้อยๆบนผิวเนื้อจะมีเนื้อรักฝังอยู่โดยทั่วไปและบนผิวเนื้อบางตอนที่แผ่นรักร่อนหลุดออกแล้ว (หรือถูกฝานออก) แต่ยังมีคราบรักตอนล่างที่แนบเนื้อพระเป็นปื้นบางๆ การร่อนของรักชนิดนี้มีลักษณะหลุดออกมาเป็นแว่นๆตรงบริเวณที่ลงไว้บางๆ ไม่มีลักษณะหลุดร่อนเช่นลักษณะเก่าน้ำเกลี้ยง และส่วนใหญ่จะไม่ร่อนออกเอง ต้องใช้ลอกหรือสะกิดออกและก็จะหลุดออกจากผิวเนื้อไม่หมดเกลี้ยงเกลาเหมือนรักน้ำเกลี้ยง หากมีเศษติดอยู่ตามผิวเนื้อวรรณะเลือดหมูเข้มสดหรือใกล้วรรณะดำ

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์อื่นๆ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น