วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

พระลีลากำแพงขาว เนื้อดิน กรุเจดีย์ร้าง ลานทุ่งเศรษฐี (นครชุม) จังหวัดกำแพงเพชร

 

พระกำแพงขาวเนื้อดิน พบครั้งแรกมี 2 กรุ คือกรุวัดพระบรมธาตุ ฝั่งนครชุม กรุวัดไชยพฤกษ์ (ลานดอกไม้) ซึ่งได้พระพิมพ์เนื้อดิน หลายพิมพ์มากมาย และพบอีก ที่กรุวัดพิกุล และกรุวัดร้างอีกหลายวัด ในลานทุ่งเศรษฐี ครั้งสุดท้ายพบที่กรุวัดอาวาสน้อย
พระกำแพงขาวสมัยแรก มีสร้างลงกรุไว้เฉพาะเนื้อชินเงิน และชินเขียวเท่านั้น เนื้อดิน เป็นพระพิมพ์รุ่นหลัง

พุทธลักษณะ
พระกำแพงขาว สร้างเป็นศิลปะสุโขทัยสกุลกำแพงเพชรโดยเฉพาะมีความงดงามกะทัดรัด เนื้อดินผสมว่านมีความงามประทับตาผู้ที่ได้พบเห็น ความสมส่วนในองค์พระปฏิมา ความอ่อนไหวที่พริ้ว ในอากัปกริยาก็ตาม ดูผสมกลมกลืน กับกรอบรูปองค์พระ ลักษณะการลีลานั้น จะเยื้องย่างพระบาท ไปทางขวาทุกองค์ พระหัตถ์ซ้าย ยกเหนือระดับพระอุระ ส่วนพระหัตถ์ขวา จะทิ้งลู่อ่อนไหวไปตาม พระบาทที่ย่างก้าว พระพักตร์นั้น โน้มเอียงไปทางซ้าย เล็กน้อย เพื่อรับน้ำหนัก การย่างก้าวทางด้านขวา ได้อย่างเหมาะสม เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเป็นสมัยก่อนนั้น คนรุ่นก่อนจะเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “กำแพงเขย่ง”

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระลีลากำแพงขาว เนื้อชินและเนื้อดิน เป็นยอดพระเครื่องปางลีลาศิลปะสุโขทัย สกุลกำแพงเพชร จากความเก่าแก่ ตามศิลปะ และฝีมือช่างของพระลีลานี้ ประมาณการสร้างอายุไม่น้อยกว่า 600 ปี คือราวต้นสมัยสุโขทัยพุทธศตวรรษที่ 19 พระกำแพงขาวเนื้อดินพบที่กรุเจดีย์ร้างลานทุ่งเศรษฐีมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับเนื้อชิน จึงหายากและไม่ค่อยพบเห็นในวงการพระเครื่องที่เล่นหาสะสมกันในปัจจุบัน

วัสดุใช้สร้าง
พระกำแพงขาวเนื้อดิน สร้างด้วยดินเหนียวท้องถิ่นมีแร่ดอกมะขามเป็นส่วนผสมอยู่โดยธรรมชาติบดกรองเอาเม็ดกรวดและทรายออกหมด บทละเอียดอีกครั้งกรองเอาเฉพาะผงดินละเอียด ผสมด้วย ผงว่านบดละเอียด นวดเข้ากัน เป็นเนื้อเดียว สร้างเป็นพระพิมพ์ เข้าเตาอบเผาไฟได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดง เนื้อละเอียดปราศจากเม็ดกรวดทรายให้เห็น มีแต่รอยจุดแดงเข้มเล็กๆของแร่ดอกมะขาม อยู่ในเนื้อ และลอยขึ้นบนผิว เนื้อดินมีความหนึกนุ่ม เป็นเอกลักษณ์ ของเมืองกำแพงเพชร คือเนื้อดินผสมว่านเมื่อสัมผัสแล้ว จะมีความมันวาว จัดว่าเป็นพระพิมพ์เนื้อละเอียดหรือเนื้อจัดคือเป็นเนื้อดินเผาไฟแต่การเผาไม่ทำลายเนื้อมวลสารจนสิ้นด้านหลังพระพิมพ์มีลายมือประทับกดพิมพ์ ขี้กรุเป็นผงดินที่ละลายน้ำซึมเข้าเกาะผิวพระตามธรรมชาติค่อยเป็นค่อยไป เป็นดินสีเทา และสีเหลืองนวล
ขนาดฐานกว้าง 1.7 ซม. สูง 3.7 ซม. หนาสัน 0.5 ซม.

พุทธคุณ
ยอดเยี่ยมทางโชคลาภ และเชื่อถือได้ด้านแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง

พระลีลากำแพงขาว พิมพ์อื่นๆ





วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระลีลากำแพงขาว พิมพ์กลาง ชินเงิน กำแพงเพชร

 

พระลีลากำแพงขาว พิมพ์กลาง ชินเงิน กรุวัดบรมธาตุ ทุ่งเศรษฐี(นครชุม)จังหวัด กำแพงเพชร

พระกำแพงขาวเป็นยอดพระเครื่องปางลีลา ศิลปะสุโขทัย อลังการเป็นเลิศอันเกิดจากจินตนาการโดยปฏิมากรสกุลกำแพงเพชร ซึ่งเป็นช่างผู้เชี่ยวชาญสุดยอด สามารถล้อศิลปะต่างประเทศที่มีฝีมือจัดๆไว้มาก มีศิลปะอินเดีย ศรีวิชัย ลังกาและขอม พระลีลาพิมพ์นี้ได้นำศิลปะอินเดียมาประยุกต์ในลักษณะการเยื้องย่าง การแกว่งกระหวัดพระกรทั้งสองในท่า “ตริภังค์” ซึ่งเป็นศิลปะอินเดียอย่างแท้จริง ในสมัยสุโขทัยกำลังรุ่งเรืองศิลปะและวัฒนธรรมของอินเดียได้ครอบคลุมอารมณ์และจินตนาการของคนในสมัยนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างน้อยก็คงมีการรื้อฟื้นโดยนำศิลปะอินเดียเข้ามาประยุกต์ให้รู้ว่าเป็นหลักไว้บ้าง นับเป็นการเห็นการณ์ไกลของช่างสกุลกำแพงเพชรที่มีความสามารถเป็นเลิศ นักนิยมพระเรื่องต้องเคยเป็นพระพิมพ์มากมายหลายๆแบบของกำแพงเพชรที่นำศิลปะอินเดีย ศรีวิชัย ลังกาและขอม มาสร้างไว้ด้วยเนื้อดิน เนื้อชิน และชินสนิมแดง ล้วนมีฝีมือจัดๆทั้งนั้น แม้แต่พระพุทธปฏิมาองค์เล็กๆ ถ้าสังเกตให้ดีและค้นคว้าดูพิมพ์ต่างๆของกำแพงเพชรแล้วจะพบข้อมูลดังกล่าวเป็นที่ยอมยอมรับกัน

พุทธลักษณะ
พระลีลากำแพงขาว พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลางและพิมพ์เล็ก มีลักษณะการลีลาในสัณฐานเดียวกันทั้งหมด
1) องค์พระปฏิมาประทับยืนก้าวย่างปางลีลาบนฐานบัวชั้นเดียวภายในกรอบเส้นนูนแบบหน้ากระดานสี่เหลี่ยม พระพักตร์หันไปด้านหน้าตรงและเอนพระเศียรไปทางด้านซ้ายในท่าก้าวย่างเล็กน้อย เหวี่ยงพระโสณีและยักย้ายพระวรกายเป็นสามส่วนอย่างนาฏศิลป์ที่อ่อนช้อยของอินเดียที่เรียกว่าแบบ “ตริภังค์” ส่วนรายละเอียดในองค์พระใกล้เคียงกันทุกพิมพ์ อาจผิดเพี้ยนกันเพียงความอ่อนไหวในพิมพ์ต่างกันเล็กน้อย
2) พระพักตร์รูปไข่นูนเรียว พระเนตรเป็นเม็ดโปน พระขนงและพระนาสิกคมสูงแบบหน้าแขก พระอุระและพระโสณี(สะโพก)อวบอ้วนกว้างนูน เม็ดพระศกทำเป็นตุ่มใหญ่แบบก้นหอยห่างกันหลวมๆ
3) ลักษณะการลีลาจะเยื้องย่างพระบาทไปทางขวา พระหัตถ์ซ้ายจะยกเหนือระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาจะทิ้งลงอ่อนไหวไปตามพระบาทที่ย่างก้าวเพื่อรับน้ำหนักกับการก้าวย่างพระบาททางด้านขวาได้อย่างเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเป็นสมัยก่อนนั้นจะเรียกว่า “กำแพงเขย่ง” อันเป็นสกุลเดียวกับพระกำแพงเม็ดขนุนและพระกำแพงพลูจีบ
4) พระอุระผาย พระอังสาใหญ่บั้นพระองค์เล็ก พระถันโปน ครองจีวรแนบเนื้อห่มคลุมเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรเป็นร่องตื้นจากพระอังสาซ้าย โค้งลงใต้พระถันขวา วกเข้าซอกพระกัจฉะ เบื้องล่างคลุมยาวลงถึงข้อพระบาท พระบาทประทับย่างบนฐานเตี้ยบัวชั้นเดียว ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบเป็นแอ่งท้องกระทะเล็กน้อย พื้นผิวเป็นลายผ้าเนื้อหยาบ

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระลีลากำแพงขาว เป็นยอดพระเรื่องปางลีลา ศิลปะสุโขทัย กำเนิดในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงองค์ที่5 แห่งกรุงสุโขทัยได้เสด็จไปยังเมืองกำแพงเพชร ได้ทรงสถาปนาวัดพระบรมธาตุ ณ ลานทุ่งเศรษฐี นครชุม พร้อมทั้งมีพระราชโองการให้จัดสร้างพระเครื่องพิมพ์ต่างๆมากมาย โดยช่างปฏิมากรชาวกำแพงเพชร บรรจุในกรุสถูปพระปรางค์เมื่อพ.ศ. 1900 พระพิมพ์กำแพงขาว ชินเงิน ก็เป็นพระเครื่องพิมพ์หนึ่งรวมอยู่ด้วย พบครั้งแรกที่กรุวัดพระบรมธาตุ เมื่อพ.ศ.2392 ต่อมาพ.ศ.2470 พบที่กรุวัดพิกุล พ.ศ.2475 พบที่วัดลานดอกไม้ วัดกะโลทัย และวัดอาวาสน้อย
พระกำแพงขาวมีสร้างลงกรุไว้แต่เฉพาะเนื้อชินเงินและชินเขียวเท่านั้น ต่อมาได้มีผู้พบเนื้อดินเผาด้วย ที่เรียก “กำแพงขาว”เกิดจากสภาพสีผิวภายนอกของชินเงินเป็นสีขาววาววับของโลหะดีบุก เคลือบผิวภายนอกอยู่เมื่ออกจากกรุครั้งแรกๆ มิใช่อาบด้วยผิวปรอทอย่างที่เข้าใจกัน

วัสดุใช้สร้าง
พระลีลากำแพงขาว ชินเงิน สร้างด้วยโลหะสองชนิดคือตะกั่วดีบุก หลอมละลายเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว สร้างเป็นพระพิมพ์ ทุกขนาดเมื่อสร้างเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆจะมีสีขาววาววับดังสีเงินทุกองค์ เมื่อนำไปบรรจุกรุแล้ว ผ่านกาลเวลายาวนาน 600-700 ปี สภาพภายในกรุแต่ละกรุแตกต่างกัน ทั้งความร้อน เย็นและความชื้น ซึ่งมีผลกับโลหะทุกชนิด (ยกเว้นทองคำ) ทำให้เกิดสนิมกัดก่อนทั้งผิวภายนอกและเนื้อภายใน ปฏิกิริยานี้ทำให้องค์พระพิมพ์มีสีผิวต่างกันสองลักษณะคือ ผิวขาวดังสีเงินและคล้ำดำ

ผิวขาวสีเงินวาวอยู่ในกรุที่มีสภาพดี เมื่อออกจากรุก็ยังคงรักษาผิวให้คงอยู่ เป็นสภาพที่ยังไม่ได้ใช้สัมผัส แต่เมื่อถูกต้องสัมผัสด้วยมือคนที่มีเหงื่อและไขมันในเหงื่อ ผิวจะค่อยๆหมองเป็นสีเทาจนกลายเป็นสีดำในที่สุด สามารถกู้ให้คืนเป็นสีเงินดังเดิมได้ นานเข้าก็จะระเบิดแตกปริ ซึ่งแสดงคุณสมบัติอย่างแท้จริงของชินเงินที่มีอายุยาวนาน

ชนิดผิวดำคล้ำหรือดำตีนกา เกิดจากภายในกรุมีความชื้นมากเป็นการเร่งปฏิกิริยาให้เกิดสนิมคือ ออกไซด์ให้เร็วขึ้น ผิวจึงเป็นสีดำ และระเบิดแตกปริตามผิวและสันขอบในที่สุด

พระลีลากำแพงขาว พิมพ์กลางมีขนาดสัณฐาน
กว้าง 1.7 ซม. สูง 4 ซม. สันขอบหนา 0.2 ซม.

พุทธคุณ

นับว่ายอดเยี่ยมให้โชคให้ลาภ และเชื่อถือได้ในด้านแคล้วคลาดอีกด้วย

พระลีลากำแพงขาว พิมพ์อื่นๆ





วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เนื้อชินเงิน กรุวัดช้างล้อม สุโขทัย

 

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เนื้อชินเงิน อำเภอศรีสัชนาลัย(ชะเลียง)กรุวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย


วัดช้างล้อมเป็นวัดหลวงที่สำคัญสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย มีพระเจดีย์ที่สูงบรรจุพระบรมธาตุ รอบฐานพระเจดีย์สร้างรูปช้างล้อมไว้ 16 เชือกตั้งแต่ พ.ศ. 1820-1835 จึงแล้วเสร็จในสมัยพ่อขุนรามคำแหงครองราชย์ ณ กรุงสุโขทัย และในช่วงปีนั้นเอง “พระร่วงนั่งหลังลิ่ม” ก็ถือกำเนิดขึ้นในระยะนั้นด้วย จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2561 มีอายุรวมประมาณ 725 ปี

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม “วัดช้างล้อม” แตกกรุออกครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2480 และอีกครั้งพ.ศ.2490 หลังจากนั้น พ.ศ.2500 เป็นต้นไปก็พบอีกที่กรุบ้านแก่งสารจิต กรุวัดเจดีย์เจ็ดแถวก็มีพระพิมพ์นี้ขึ้นจากกรุด้วย กรุเมืองชัยนาทก็มีผู้พบ ครั้งสุดท้ายพ.ศ.2507 กรุวัดเขาพนมเพลิงแตกก็พบพระร่วงนั่งหลังตัน ไม่มีลิ่ม รวมอยู่ด้วยแต่มีขนาดเล็กกว่า

เมืองสวรรคโลกเดิมชื่อ เมืองชะเลียงมาก่อน ถึงสมัยสุโขทัยเรียกชื่อใหม่ว่า “ศรีสัชนาลัย” เป็นเมืองลูกหลวงที่พ่อขุนรามคำแหงเสด็จมาประทับ

พุทธลักษณะ
1.องค์พระปฏิมาประทับนั่งปางมาริชัยบนฐานเขียงเป็นเส้นยาวสองเส้น พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งเหมือนคันศร พระนาสิกงุ้มแหลม เปลือกพระเนตรคล้ายกลีบดอกบัว พระหนุเป็นปม พระศกขมวดเหมือนก้นหอย มีไรพระศกเป็นเส้นกรอบพระนลาฏ พระเมาลีเป็นมวย พระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระกรรณแนบพระปรางยาวจดพระอังสา
2.พระวรกายสง่างามสมสัดส่วน พระอังสากว้างใหญ่ พระอุระผาย พระถันโปน บั้นพระองค์เล็กเหมือนรูปกายสตรีเพศ พระอุทรเป็นลอน ครองพระจีวรแนบเนื้อห่มดอง เปิดพระอังสาขวา ริมายพระจีวรเป็นเส้นลวดพาดลงใต้พระถันวกเข้าซอกพระกัจฉะ พระสังฆาฏิพาดบนพระอังสาซ้ายปล่อยชายปลายตัดยาวลงถึงพระอุระปิดพระถัน
3.พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างพระวรกาย พระกรขวากลมกลึงยาวดุจงวงช้าง ยกพระหัตถ์วางกุมพระชานุลักษณะเข่านอก นิ้วพระหัตถ์เรียวสละสลวย พระกรซ้ายพับโค้งเข้าในพระหัตถ์วางหลายบนพระเพลา ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ขวาพับเข้าใน วางซ้อนทับบนพระชงฆ์ซ้ายบนอาสนะฐานเตี้ยลักษณะแผ่นเขียงเป็นเส้นสองชั้น
4.องค์พระปฏิมาสร้างเป็นปฏิมากรรมนูนต่ำลอยองค์ หน้าเดียวเหมือนพระพุทธรูป ด้านหลังแบนเรียบมีเส้นลายกบหมากและมีร่องเป็นแอ่งใหญ่กดประทับลึกลงไปรูปร่างคล้ายลิ่ม

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กำเนิดในสมัยสุโขทัยยุคกลาง ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อายุประมาณ 700 กว่าปี อยู่ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงครองราชย์ ได้ทรงสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุขึ้นที่เมืองศรีสัชนาลัยระหว่างที่พระองค์เสด็จไปประทับที่เมืองนั้น พร้อมทั้งทรงโปรดให้สร้างพระเครื่องมากแบบพิมพ์บรรจุกรุพระเจดีย์ด้วยในคราวเดียวกัน โดยศิลปินชาวสุโขทัย และพระร่วงนั่งหลังลิ่มก็เป็นพระพิมพ์หนึ่งรวมอยู่ด้วย โดยสร้างเป็นศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ที่งดงามยอดเยี่ยมตามจินตนาการของช่างศิลป์และผู้สร้างให้เป็นมรดกตกทอดให้อนุชนรุ่งหลังได้ระลึกถึงจนถึงปัจจุบัน

วัสดุใช้สร้าง
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เป็นพระพิมพ์ขนาดเล็กเนื้อชินเงิน ส่วนผสมหลักคือโลหะตะกั่วกับโลหะดีบุก หลอมละลายเข้าด้วยกันสร้างเป็นพระพิมพ์ เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ผิวภายนอกจะเป็นสีเงินขาววาววับของดีบุกเคลือบอยู่ เมื่อนำไปบรรจุกรุ เมื่อกาลเวลาผ่านไปยาวนานราว 700 ปีจะเกิดสนิมของโลหะ ทำให้ผิวภายนอกเป็นสีดำตีนกา รวมทั้งกัดกร่อนลงไปในเนื้อเป็นหลุมทั่วไป ภายในหลุมมีไขขาวเหมือนแป้งบรรจุอยู่ทุกหลุม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ชนิดหนึ่งของสนิมชินเงินตามธรรมชาติที่มีอายุยาวนาน ฝีมือมนุษย์ไม่สามารถปลอมแปลงและเลียนแบบได้ ส่วนเนื้อภายในจะเป็นสีเทาจนถึงดำ
ขนาดฐานกว้าง 2.3 ซม. สูง 3 ซม. หนา 0.4 ซม.

พุทธคุณ
มีครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเมตตามหานิยม โชคลาภ มหาอุตม์ คงกระพันชาตรี และแคล้วตลาด

พระร่วงนั่ง พิมพ์อื่นๆ






วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก กรุฤๅษี ลานทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร


 

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์อื่นๆ





วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระนางพญา พิมพ์ใหญ่ เข่าโค้ง กรุวัดนางพญา พิษณุโลก


 

 


พระนางพญา พิษณุโลก พิมพ์อื่นๆ