พระนาคปรกนาดูน พิมพ์ใหญ่
พิมพ์ที่ 1 นครจำปาศรีโบราณ กรุอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
พุทธลักษณะ ปางสมาธิ
องค์พระประทับนั่งสมาธิ พระชงฆ์ขัดไขว้เป็นเอกลักษณ์
พระพิมพ์นาดูนบนรัตนบัลลังก์บัวหงายสองชั้น พระเศียรองค์พระกลมกว้าง
พระเกศาขมวดเป็นพระศกกลมโต ไม่ปรากฏพระเมาลี พระเกศส่วนยอดเป็นต่อมเล็กสั้น
ไม่มีไรพระศก พระพักตร์รูปผลมะตูม พระนลาฏแคบ พระขนงเป็นเส้นนูนยาวติดกัน พระเนตรโปน
หลังพระเนตรบวม พระนาสิกแบน พระโอษฐ์กว้างแบะ พระหนุกลมสั้น พระปรางอวบแคบ
พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระศอสั้นเป็นลอน พระอุระกว้าง ครองจีวรห่มคลุมแนบเนื้อ
พระอุทรอวบอูมยาว ไม่ปรากฏพระนาภี พระพาหาสองข้างทอดลงขนานลำพระองค์
พระกรขวาวางบนพระกรซ้ายหงายพระหัตถ์บนพระเพลา พระชงฆ์ขวาขัดไขว้กับพระชงฆ์ซ้าย
เบื้องพระปฤษฎางค์ พระเศียรมีพระรัศมีประภามณฑลเป็นเส้นนูนโค้งรอบพระเศียร
และต่อยาวลงมาด้านข้างพระพาหาจนจรดพระเพลา ด้านนอกพระรัศมีประภามณฑลมีพญานาคเจ็ดเศียรแผ่พังพานปรกอยู่
ทั้งหมดรวมอยู่ในกรอบพิมพ์ยาวรูปใบพาย
ด้านหลังเรียบอูมนูน ปรากฏลายมือกดแต่งเป็นคลื่นโค้งลงบรรจบกรอบด้านหน้าเป็นขอบสันบาง
1.วัสดุที่ใช้สร้าง
ส่วนผสมประกอบด้วยดินเหนียวบดกรองละเอียด กรวดทรายกรองละเอียด ผงศิลาแลงผสมเข้าด้วยกันนวดให้เหนียว
พิมพ์แบบ เผาไฟด้วยอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์เป็นดินเผาสีแดงส้ม
บรรจุในกรุเจดีย์ เกิดคราบไคลกรุเป็นผงหินปูนสีขาวผสมกับผงฝุ่นรวมเป็นสีเทา
เคลือบติดแน่นตามส่วนลึกด้านหน้าพระพิมพ์ ความชื้นในกรุทำให้เกิดราดำขนาดเล็กเท่าปลายเข็มทั่วไปทั้งด้านหน้าและหลัง
ขนาดพระพิมพ์ กว้าง 4.3 ซม. สูง 7.5 ซม. หนา 1.8
ซม.
2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
สร้างยุคสมัยทวาราวดีตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 14-15 อายุประมาณ 1,300 ปี
เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะทวาราวดีกับศิลปะลพบุรี ที่สืบทอดมาจากศิลปะของขอมกัมพูชา
เป็นปางนาคปรกตามคติพุทธมหายาน จากอักษรที่ปรากฏบนแผ่นพระพิมพ์ดินเผาบางองค์
คำจารึกส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อกุศลผลบุญโดย “พระเจ้ากะลามาแตง”
กษัตริย์มอญปกครองอาณาจักรนครจำปาศรีโบราณ ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอนาดูน
จังหวัดมหาสารคาม
พุทธคุณ
ทางด้านแคล้วคลาดสูงมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น