วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระนางกำแพงลูกแป้ง พิมพ์เดี่ยวและพิมพ์คู่ เนื้อดินเผา กรุเจดีย์ทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

 
พระนางกำแพงลูกแป้ง พิมพ์เดี่ยว


 
พระนางกำแพงลูกแป้ง พิมพ์คู่


พระนางกำแพงลูกแป้ง พิมพ์เดี่ยวและพิมพ์คู่ เนื้อดินเผา กรุเจดีย์ทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

อันที่จริงแล้ว พระนางกำแพงลูกแป้ง ที่แท้ก็คือ พระนางกำแพงพิมพ์เล็กนั่นเอง จะผิดกันก็อยู่ที่ความไม่เรียบร้อยขององค์พระจนถูกเรียกว่า “นางลูกแป้ง” เท่านั้น พระพิมพ์นี้มีขึ้นจากกรุบ่อยครั้ง และยิ่งระยะ พ.ศ. 2510 ผ่านไปแล้ว ไม่ว่ารุกลางทุ่งหรือกรุชายทุ่งก็ตาม พระนางลูกแป้งมักจะมีขึ้นจากกรุอยู่ตลอดมา

พุทธลักษณะ
1.พระนางลูกแป้งพิมพ์เดี่ยว องค์พระประทับนั่งราบปางมารวิชัย ภายในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ไม่ตัดกรอบมีเนื้อเกินโดยรออบ รูปองค์พระลางเลือนไม่ชัดเจน ด้านหลังเรียบอมนูน เป็นหลังเต่าเล็กน้อย เนื้อดินละเอียดผสมผงเผาไฟได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดง ด้านหน้าลงรักดำมาแต่เดิม ด้านหลังมีราดำงอกขึ้นตามผิว
ขนาดฐานกรอบ กว้าง 1 ซม. สูง 1.8 ซม. หนา 0.5 ซม.
2.พระนางลูกแป้งพิมพ์คู่ องค์พระมีสององค์ประทับนั่งราบปางมารวิชัยเคียงกัน ภายในกรอบ รูปสามเหลี่ยมฐานโค้ง ลักษณะรูปกลีบดอกบัว
บานไม่ตัดแต่งกรอบ รูปองค์พระลางเลือนไม่ชัดเจน ด้านหลังอูมนูนเล็กน้อย มีลาบนิ้วมือตกแต่งเป็นคลื่นบนผิว เนื้อดินละเอียดผสมผงเผาไฟได้พระดินเผาสีแดง มีรารักสีดำเป็นจุดละเอียดเล็กๆบนผิวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ขนาดฐานกว้าง 2.5 ซม. สูง 2.8 ซม. หนา 0.8 ซม.

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระนางกำแพงลูกแป้ง เป็นพระพิมพ์สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยที่เมืองกำแพงเพชร ตั้งแต่พระมหาธรรมราชาลิไท พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ได้เสด็จมายังเมืองกำแพงเพชร สถาปนาวัดพระบรมธาตุไว้ ณ ลานทุ่งเศรษฐีเมื่อ พ.ศ.1900 และได้สร้างพระเครื่อง พระพิมพ์แบบต่าง บรรจุกรุพระเจดีย์ เป็นปฐมฤกษ์ไว้ด้วยอย่างมากมาย
พระเครื่องเมืองกำแพงเพชรมีมากมายหลายกรุ มีหลายรูปแบบ แตกต่างกันตามจินตนาการของชาวกำแพงเพชร โดยดำรงไว้ซึ่งศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ประยุกต์เข้ากับศิลปะของกำแพงเพชร เรียกกันว่า “ศิลปะสุโขทัยในพระกำแพง” โดยสร้างพระพิมพ์บรรจุกรุพระเจดีย์ ณ ลานทุ่งเศรษฐี ติดต่อกันเรื่อยมา จนถึงต้นยุคกรุงศรีอยุธยา จึงลดน้อยลง
พุทธคุณ พระพิมพ์กำแพงเพชรเนื้อดินเผา มีอานุภาพยอดเยี่ยมทางเมตตามหานิยม และโชคลาภ

พระนางกำแพง องค์อื่นๆ


พระนางกำแพง พิมพ์เล็ก กำแพงเพชร วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560



พระกำแพงสิบ เนื้อดินเผา กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

 


พระกำแพงสิบ เนื้อดินเผา กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร


พระกำแพงสิบมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น พระเจ้าสิบองค์ พระกำแพงสิบทิศ หรือ ปัญญาบารมี มีบางท่านเรียกว่า สิบนาง การเรียกชื่อตามจำนวนองค์พระปฏิมาที่ประดิษฐานอยู่ในรูปลีบดอกบัวหลวง มูลเหตุที่สร้างพระกำแพงสิบนี้คงเนื่องมาจาก “พุทธนิมิต” ที่พระพุทธองค์ทรงแสงยมกปาฏิหาริย์ให้บังเกิดพาหุภาพขึ้นถึง 10 พระองค์ ตามคติพุทธศาสนามหายาน อนึ่งจำนวนสิบพระองค์นี้ อาจสืบเนื่องมาจากทศชาติ(พระเจ้าสิบชาติ) อันเป็นเรื่องราวของบารมีธรรมที่พระโพธิสัตว์ทั้งสิบชาติได้บำเพ็ญเพียรมาอย่างอุกฤษฏ์

พุทธลักษณะ องค์พระปฏิมาทั้งสิบองค์นั้น เป็นพิมพ์ลักษณะประติมากรรมนูนต่ำลอยเด่นเหนือพื้นผนังด้านหลังที่รองรับ เรียงรายเป็นระเบียบสามชั้น แถวชั้นบนมี 3 องค์ แถวชั้นกลางมีสี่องค์ แถวชั้นล่างมี 3 องค์ แต่ระยะช่องไฟแต่ละองค์ห่างกันกันพองาม หันพระเศียรเรียงรายขึ้นสู่ส่วนยอดของกลีบบัว

ขนาดองค์พระปฏิมาทั้งสิบองค์มีขนาดเท่ากัน แต่ละองค์มีฐานกว้าง 0.9 ซม. สูง 1.3 ซม. องค์พระประทับนั่งราบ ปางสมาธิ บนอาสนะฐานเขียงชั้นเดียว พระเศียรกลม พระเกศยาวเรียวปลายยาวแหลม พระพักตร์รูปไข่ พระกรรณยาวแนบพระปราง พระอุระใหญ่ พระอุทรคอด พระพาหาทั้งสองกางพระกัประเล็กน้อย พระกรขวาและซ้ายทอดโค้งอ่อนสลวย พระหัตถ์ทั้งสองวางประสานเหนือพระเพลาพอดี ช่องพระพาหาเห็นชัดเจน การจัดวางเรียงองค์พระปฏิมาตามตำแหน่งสัดส่วนเรขาคณิตอย่างน่าทึ่งในศิลปะของกำแพงสิบ ซึ่งออกแบบสร้างขึ้นอย่างประณีตวิจิตรพิสดารยิ่งนัก ทั้งหมดอยู่ภายในกรอบรูปกลีบดอกบัวหลวง มีส่วนกว้าง 4.2 ซม. ส่วนสูง 5 ซม. ด้านหลังเรียบโค้งอูมนูนแบบหลังเต่า

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง ศิลาจารึกนครชุมหลักที่ 3 เป็นแผ่นหินอ่อนสีดำ มีอักษรจารึกด้านหน้า 78 บรรทัด ด้านหลัง 58 บรรทัด แต่งขึ้นในรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์กรุงสุโขทัย กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ 3 องค์ในวัดบรมธาตุ นครชุม ในปีปีพ.ศ.1900 เดิมทีศิลาจารึกนครชุมนี้อยู่ในวัดเสด็จ หลังจากที่ทราบว่ามีพระเจดีย์บรรจุพระธาตุอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง  จึงมีการค้นหา เพราะขณะนั้นพื้นที่รกร้างเป็นป่าอยู่ พระยากำแพงเพชร(น้อย)ผู้ว่าราชการเมืองได้ค้นพบวัดและพระเจดีย์ ได้พบแผ่นลานเงิน ระบุถึงพระฤๅษี 11 ตน มีพระฤๅษีพิลาลัย พระฤๅษีตาวัว พระฤๅษีตาไฟ เป็นประธาน แก่พระฤๅษีทั้งหลาย ได้สร้างพระซุ้มกอ พระเม็ดขนุน พระพลูจีบ และพระเครื่องสกุลทุ่งเศรษฐี เช่น พระว่านหน้าทอง พระกลีบบัว พระเปิดโลก พะงบน้ำอ้อย รวมทั้ง พระกำแพงสิบ เป็นต้น ทั้งหมดเหล่านี้เป็นศิลปะสุโขทัยร่วมกับศิลปะกำแพงเพชรเองประยุกต์เข้าด้วยกัน

มวลสารที่ใช้สร้าง พระเครื่องเนื้อดินที่ขุดพบจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง หรือจากลานทุ่งเศรษฐี มักมีเนื้อดินละเอียดหนึกนุ่มเป็นพิเศษ จนเรียกติดปากว่า “เนื้อทุ่ง” เช่นพระซุ้มกอ พระเม็ดขนุน พระพลูจีบ เป็นต้น ยังมีพระกำแพงพวกหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ พระกำแพงสอง พระกำแพงสาม พระกำแพงห้า พระกำแพงสิบ พระประเภทนี้มีทั้งเนื้อดินและเนื้อชินเงินซึ่งพบน้อย พระเนื้อดินมีทั้งเนื้อดินละเอียด และเนื้อดินหยาบ
พระดินเผา วัสดุส่วนใหญ่ คือดินละเอียดในท้องถิ่น บดกรองเม็ดกรวดทรายออกหมด ผสมด้วยผงว่านศักดิ์สิทธิ์ตามตำราโบราณ สร้างเป็นพระพิมพ์ดินเผา

พุทธคุณ พระกำแพงสิบ มีพุทธคุณและอานุภาพมาก นักพระเครื่องรุ่นเก่าเชื่อมั่นว่า มีพระกำแพงสิบไว้ติดตัวเพียงองค์เดียว สามารถคุ้มครองปกป้องอันตรายได้ทั้งมวล ดุจดังยมกปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ สามารถขจัดเภทภัยและอัปมงคลทั้งปวง อีกทั้งยังดลบันดาลให้บังเกิดมหาลาภและเพิ่มพูนโภคทรัพย์ด้วยเป็นมหาเศรษฐี ดุจดังมงคลนามของพระเครื่องได้จากลานทุ่งเศรษฐี

พระคาถา “หัวใจทศชาติ” ได้แก่ “เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว” คาถานี้ใช้ได้สารพัดอย่าง ดีเด่นทั้งทางเมตตา คงกระพัน แคล้วคลาด ตลอดจนใช้ทำมนต์ปัดเป่า ถอนคุณแก้ไสย แก้อัปมงคล ป้องกันเสนียดจัญไร




วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม

 

 

 

พระสมเด็จ"พิมพ์เกศบัวตูม" วัดระฆังฯเป็นอีกพิมพ์หนึ่งที่งดงามมาก ปรากฏมีน้อยมาก ลักษณะทั่วไปอยู่ในระหว่างพิมพ์เจดีย์ พิมพ์ฐานแซมและ พิมพ์สังฆาฏิ ความงามของพิมพ์เกศบัวตูมนี้ มีความสง่างามกะทัดรัดในลักษณะเฉพาะตัวเป็นพิเศษ  กอปรด้วยพุทธลักษณะหลายแบบผสมกันแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นพุทธศิลป์อีกแบบหนึ่งพุทธลักษณะพิเศษของพิมพ์นี้คือ พระเกตุตุ้ม มิได้เนื่องมาจากความผึ่งผงาดเช่น พิมพ์พระประธาน หรือความนูนเด่นเน้นพุทธลักษณะเช่นพิมพ์เจดีย์ พุทธะลักษณะพิเศษของพิมพ์เกศบัวตูมนี้คือ "พระเกศตุ้ม"จึงเรียกว่า "พิมพ์เกตุบัวตูม"

พระเกศ
มีลักษณะ ๓ แบบ คือ แบบตุ้ม แบบจิ่ม(เล็ก) และแบบเรียว

พระศิระและวงพระพักตร์
มี ๓ แบบ คือ
แบบผลมะตูม แบบป้อม และ แบบตั๊กแตน

พระกรรณ (หู)
ด้านซ้าย ใบพระกรรณเรียวคมและบางมาก ปลายห้อยระย้าประพระอังสาซ้าย
ด้านขวา ใบพระกรรณหนากว่าเบื้องซ้าย แต่รางเลือนมาก

พระศอ
มี ๓ แบบ แบบลำ แบบชะลูด และ แบบกลืนหาย

พระอังสกุฎ (หัวไหล่)
ทั้งสองลู่น้อยๆไม่เป็นปมเขื่อง

ลำพระองค์
มี ๒ แบบ แบบทึบ และแบบโปร่ง

พระเพลา
มี ๒ แบบ แบบขัดสมาธิเพชร และแบบขัดสมาธิราบ

มูลสูตรพระอาสนะ
๑.เส้นขีดแซมบน จะมีปรากฏเสมอทุกแบบพิมพ์
๒.ฐานชั้นบน หรือหน้ากระดานตัวบน มีสัณฐานนูนหนามาก
๓.เส้นขีดแซมล่าง คือบัวลูกแก้ว รางเลือนมาก
๔.ฐานชั้นกลาง ฐานสิงห์ มีช่วงแคบหรือสั้นกว่าฐานชั้นบน
๕.ฐานชั้นล่าง หรือหน้ากระดานตัวล่าง มีช่วงกว้างล้ำแนวหัวฐานชั้นกลางและหัวฐานชั้นบนออกมามากอย่างสังเกตได้ขัด

จำแนกพระอาสนะ
มี 2 แบบ แบบโปร่ง และแบบทึบ

ซุ้มประภามณฑล
เส้นซุ้มมีความหนาค่อนข้างมาก ทรวดทรงได้สัดส่วน มักจะไม่โย้แป้วหรือย้วย มากนัก

สัณฐานมิติ
โดยเกณฑ์เฉลี่ยดังนี้
๑.ความกว้าง(กรอบล่าง)
ประมาณ ๒.๒๐-๒.๔๐ซม.
๒.ความสูง(แนวดิ่ง)
ประมาณ๓.๓๐-๓.๔๐ซม.
๓.ความหนา(ขอบ)
ประมาณ ๐.๔๐-๐.๕๕ซม.

การจำแนกแบบพิมพ์
พิมพ์เกตุบัวตูมจำแนกได้ 5 พิมพ์
1.พิมพ์เขื่อง
2.พิมพ์โปร่ง
3.พิมพ์สันทัด
4.พิมพ์ย่อม
5.พิมพ์เกตุบัวเรียว


ที่มา ตรียัมปวาย


พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์อื่นๆ





วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์พระประธาน

 

 

 


พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์พระประธาน เนื้อผงสีเหลือง เป็นพระเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์ สร้างโดยสมเด็จพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสี ระหว่าง พ.ศ. 2409 – 2415 มีอายุถึงปัจจุบันราว 150 ปี

พระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระเครื่องที่ทรงไว้ซึ่ง “พุทธานุภาพ” เลิศค่าเหนือกว่าของขลังทั้งปวง ได้ชื่อว่าเป็น “จักรพรรดิ” ของพระเครื่องทั้งหมด

พระสมเด็จวัดระฆัง(นิยม) มี 5 พิมพ์คือ
1.พิมพ์พระประทาน (พิมพ์ใหญ่)
2.พิมพ์ทรงเจดีย์
3.พิมพ์ฐานแซม
4.พิมพ์เกศบัวตูม
5.พิมพ์ปรกโพธิ์

การสร้างและวัสดุส่วนผสม ประกอบด้วย
1.ผงวิเศษ 5 ประการได้แก่ ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงตรีนิสิงเห และผงพุทธคุณ
2.เกสรดอกไม้แห้ง
3.ปูนเปลือกหอยแครงเผา
4.ข้าวสุกตากแห้ง
5.กล้วยน้ำ
6.อิทธิวัตถุหลายอย่าง เช่น พระดินเผาชำรุดแตกหักของรุทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร
7.น้ำมันตังอิ้วเป็นตัวประสาน
การผสมเนื้อหามวลสารในแต่ละครกไม่มีกฎตายตัว ไม่มีการชั่งตวงวัดแต่อย่างใด บางอย่างมา บางอย่างน้อย ตามแต่มวลสารที่จัดหามาได้ จึงเกิดเนื้อที่แตกต่างกันออกไปตามส่วนผสมนั้น ซึ่งแบ่งออกได้ 4 ส่วนผสม ดังนี้

เนื้อมาตรฐานของสมเด็จวัดระฆัง
1.เนื้อปูนแกร่ง (แก่ปูน)
2.เนื้อเกสร(หนึกนุ่มแก่มวลสารดอกไม้แห้ง)และกล้วยน้ำ
3.เนื้อขนมตุ๊บตั๊บ (กระยาสารท)
4.เนื้อปูนนุ่ม

สีสันวัณนะของสมเด็จวัดระฆัง
1.สีขาวอมเหลือง
2.สีเหลืองอ่อน
3.สีเหลืองแก่
4.สีดอพิกุลแห้ง(น้ำตาลอมดำ)
5.สีขาวหม่น
6.เนื้อชนิดแตกลายงา

พระสมเด็จวัดระฆังองค์นี้ เป็นพระเนื้อผงสีเหลืองแก่ สีของเนื้อพระมีความเข้มเหลืองปรากฏเกสร(ดอกไม้แห้ง) อยู่ในเนื้อพระมาก จะเห็นได้ว่า สีเหลืองนั้นอาจจะเป็นส่วนผสมของว่านนางดำที่ท่านปลูกไว้ และเชื่อว่ามีสรรพคุณหรืออิทธิฤทธิ์ของว่านมาแต่โบราณ ผงพุทธคุณที่ได้จากการลงอักขระเลขยันต์ เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียน วนเวียนอยู่อย่างนั้นจนท่านเห็นว่ามากพอ ก็ปั้นเป็นแท่ง และผสมวัตถุมงคลอย่างอื่นอีก ทำเป็นแท่งดินสอพองขนาดใหญ่เก็บไว้ เมื่อตำผงปูนขาวผสมกับวัตถุมงคลต่างๆ จนได้ที่แล้ว ท่านก็นำมาพิมพ์พระ

พุทธคุณ พระสมเด็จวัดระฆัง ไม่ใช่พระผงคงกระพันชาตรี แต่ดีเลิศด้านเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดเป็นที่เชื่อถือได้
พระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระที่มีค่าและหายากอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ ที่ผู้คนนิยมพระเครื่องต่างเสาะแสวงหา ผู้ที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของจึงนับว่ามีบุญบารมีและโชคดีมหากุศล ต่างหวงแหนและไม่ชอบที่จะเอาไปอวดใคร หรือโชว์ให้ใครเห็น ราคาก็สูงลิ่ว อาจจะเจอใบสั่งเอาได้ง่ายๆ จึงต้องระมัดระวังเก็บรักษาติดตัวให้ดี มีพระดีไว้ให้ใช้คุ้มครองชีวิต ไม่ใช่มีเอาไว้ให้เก็บ

การอาราธนาพระสมเด็จวัดระฆัง ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี
“โอมมะศรีฯ พรหมรังสี นะมะเตโช
มหาสะมะโน มหาลาโภ มหายะโส
สัพพะโสตถี ภะวันตุเต “

เมื่ออธิษฐานขอพรแล้ว จะสวมคอให้ว่า พระคาถาดังนี้
“ปุตตะกาโม   ละเภปุตตัง
ธ ทง ชะนะกาโม  ละเภทะนัง
อัตถิ กาเย  กายะยายะเทวานัง
ปิยะตัง สุตวา  นะโมพุทธายะ”

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์อื่นๆ