วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสุพรรณหลังผาล ชินเงิน(ชินแข็ง) กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง สุพรรณบุรี

 

พระสุพรรณหลังผาล ชินเงิน(ชินแข็ง) กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง สุพรรณบุรี

พระสุพรรณหลังผาล(ผาลไถนา) เป็นพระเครื่องที่ไม่เหมือนใคร คือด้านหลังมีผาลทุกองค์ โดยมีพระนางพญาประทับนั่งอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมขอบมนโค้งคล้ายผาลไถนา นอกจากนี้แล้วยังมีพิมพ์พิเศษคือ พิมพ์หลังเรียบลายผ้า พิมพ์หลังซุ้มระฆังและพิมพ์หลังผาลมียันต์ประกอบ พระสุพรรณหลังผาล มีสามขนาด ใหญ่, กลางและเล็ก เป็นพระพิมพ์สองหน้าที่พิสดาร งดงามระดับเดียวกับ “พระมเหศวร”

พระสุพรรณหลังผาลนี้ เดิมทีนักนิยมพระเครื่องเมืองสุพรรณเรียกว่า “พระพิจิตรหลังผาล” ไม่ทราบว่าอะไรจึงเรียกเช่นนั้นทั้งๆที่จังหวัดพิจิตรไม่เคยมีพระพิมพ์นี้ ถามจากนักนิยมพระเครื่องรุ่นเก่า ก็บอกว่าไม่ทราบ เขาเรียกกันมาอย่างนั้น ปัจจุบันเรียกกันว่า “พระสุพรรณหลังผาล” ตามสากลเพราะถูกต้องกว่า

พระสุพรรณหลังผาลเป็นพระเครื่องชินเงิน ผิวกลับดำ บางองค์มีคราบดีบุกสีเงินจับตามซอก พระเครื่องพิมพ์นี้พบที่กรุในองค์พระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี เมื่อพ.ศ. 2456 กรุเดียวกับพระผงสุพรรณ ฯลฯ

พุทธลักษณะ
1) องค์พระพุทธปฏิมาประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย มีพระเศียรใหญ่ พระเกศาขมวดเป็นพระศกเม็ดกลมรวมทั้งพระเมาลี ยอดพระเมาลีรูปดอกบัวตูม วงพระพักตร์ยาวศิลปะอู่ทองปลาย(อู่ทอง3) พระขนงโก่งโค้งติดกันรูปนกบิน เชื่อมติดกับสันพระนาสิก พระเนตรรูปเม็ดงา พระนาสิกนูนป้าน พระโอษฐ์ใหญ่หนา พระปรางตอบ พระหนุเล็กแคบ พระกรรณทั้งสองปลายแหลมเบนเข้ามนน้อยๆ ยาวเกือบจรดพระอังสา พระศอเป็นปล้องเส้นลวด 3 เส้น
2) ลำพระองค์กลมกลึงสูงชะลูดศิลปะอู่ทอง พระอังสากลมมนเป็นธรรมชาติสัมพันธ์กับพระกรและพระหัตถ์ที่มีความอ่อนไหว ดุจงวงช้าง ท่วงทีการวางพระหัตถ์ทั้งสองข้างงดงามมาก พระกัประซ้ายโค้งงามเป็นธรรมชาติไม่แข็งกระด้าง ถ่างหรือชิดจนเกินไป พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา องค์ที่ชัดเจนจะเห็นพระอังคุฐ(นิ้วหัวแม่มือ) พระกรรณขวาปล่อยโค้งลง พระหัตถ์มีลักษณะคล้ายนวม จับอยู่ด้านหน้าพระชานุ(หัวเข่า)
3) พระอุระขวานูน พระอุทรแคบตื้น(ศิลปะอู่ทอง) ครองจีวรแนบเนื้อ ห่มดองเปิดพระอังสาขวา ชายพระจีวรเป็นร่องจากพระอังสาซ้ายโค้งลงพาดใต้พระถันขวา เข้าซอกพระกัจฉะ พระสังฆาฏิเป็นแผ่นนูนพาดบนพระอังสาโค้งน้อยๆไปตามพระจีวรแล้วตัดตรงลงจรดพระกรซ้าย
4) องค์พระปฏิมาสร้างเป็นประติมากรรมนูนต่ำ ประทับนั่งราบ พระชงฆ์ขวาวางซ้อนทับบนพระชงฆ์ซ้าย บนฐานเขียง หรือฐานหน้ากระดานสองชั้น อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธรูปอู่ทอง ที่มีฐานทั้งสองชั้น มีเส้นขีดเฉียง 9 เส้น เป็นบัวก้างปลา เหมือนพระปรุหนังอยุธยา ซุ้มรัศมีรอบองค์พระเป็นเส้นลวด รอบซุ้มมีรัศมีเส้นขีด 28 เส้น ส่วนปลายมีปุ่มกลมทุกเส้น ทั้งหมดประดิษฐานอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมขอบมนโค้ง ยอดแหลมรูปผาล ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ มีพระปฏิมาพิมพ์นูนต่ำประดิษฐานอยู่ในผาลขนาดเล็กตั้งเอียง มีก้านต่อเชื่อมจากก้นฐาน ยาวลงจนสุดขอบล่างของพระพิมพ์

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระผงสุพรรณหลังผาลสร้างในสมัยอู่ทอง พุทธศตวรรษที่ 17-18 พิมพ์เป็นศิลปะอู่ทอง3 พบในกรุพระปรางค์องค์ใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ผู้สร้างคือสมเด็จพระราชาธิบดีอู่ทององค์สุดท้ายที่บูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุปลายสมัยอู่ทองราวมหาศักราช 1269(พ.ศ.1890) อยู่ระยะที่อโยธยา(เมืองสุพรรณบุรี) กำลังรุ่งเรืองขีดสุด ก่อนที่จะย้ายเมืองไปสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปีพ.ศ.1893 ปฏิมากรชาวอู่ทองผู้สืบทอดศิลปะและวิวัฒนาการจากศิลปะสุโขทัย ศิลปะเชียงแสนและศิลปะทวาราวดี มาประยุกต์ เป็นศิลปะอู่ทองของตนเอง สร้างเป็นพระพุทธรูป และพระเครื่องที่ยังพบเห็นในปัจจุบัน

วัสดุใช้สร้าง
พระผงสุพรรณหลังผาลสร้างด้วยชินรัตนาภรณ์(ชินแข็ง) ส่วนผสมหลักคือโลหะตะกั่วกับโลหะดีบุกโดยปริมาณดีบุกมากกว่าตะกั่ว หลอมละลายเป็นเนื้อเดียว เทหยอดลงเบ้าแม่พิมพ์ก่อนที่จะแข็งตัว ใช้แม่พิมพ์อีกตัวที่มีรูปพระอยู่ในผาลขนาดเล็ก กดทับลงไปลักษณะเดียวกับหลังลายผ้า เมื่อโลหะแข็งตัวดีแล้ว ถอดออกจากแม่พิมพ์รวบรวมไว้เข้าพิธีปลุกเสก ครบกำหนดนำไปบรรจุในสถูปองค์พระปรางค์

ในปีพ.ศ.2456 พระยาสุนทรสงครามผู้ว่าเมืองสุพรรณบุรีเปิดกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พบพระเครื่องจำนวนมากมีพิมพ์ต่างๆมากมาย พระสุพรรณหลังผาลเป็นพระเครื่องพิมพ์หนึ่งที่พบในกรุนี้ด้วย มีอายุราว 650 ปี พระเนื้อชินแข็งเกิดปฏิกิริยาภายในกรุ ทำให้เกิดสนิมกาฬภัสสร(สนิมตีนกา)หรือสนิมดำ มีวรรณะสีดำไม่จัดนัก ผิวเรียบมีแววหรือเงามันเมื่อต้องแสง สนิมนี้มีความหนา บางทีกินลึกลงไปในเนื้อจนทำให้มีวรรณะดำเป็นสนิมไปทั้งหมดด้วยแต่จะไม่ทำให้ผุ มีคราบกรุหินปูนเป็นฝ้าสีขาวขุ่นปกคลุมผิว ขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีน้ำตาลอ่อนติดตามผิวบนสุดประปราย
ขนาด ฐานกว้าง 3 ซม. สูง 4.5 ซม. หนา 0.3 ซม.

พุทธคุณ
ดีทางแคล้วคลาด และคงกระพันยิ่งนัก




วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เหรียญเสมาพิเศษเนื้อทองแดงลงยา ๘ รอบหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง พ.ศ.๒๕๑๘

 



เหรียญเสมาพิเศษเนื้อทองแดงลงยา ที่ระลึกฉลองอายุครบ ๘ รอบ พระครูภาวนาภิรัต (ทิม) วัดละหารไร่ จ.ระยอง ๑๖ มิ.ย. พ.ศ. ๒๕๑๘ ตอกโค๊ด อิ เหนือเข่าขวาขององค์หลวงปู่

เหรียญเสมา ๘ รอบเป็นพระเครื่องชุดฉลองอายุครบ ๘ รอบของหลวงปู่ทิม สร้างทั้งหมด ๘ แบบในคราวเดียวกัน ประกอบด้วย
๑. เหรียญเสมาหน้าทองคำหลังทองคำ
๒. เหรียญเสมาหน้าทองคำหลังเงิน
๓. เหรียญเสาหน้าเงินหลังเงิน
๔. เหรียญเสมาหน้าเงินหลังนวโลหะ
๕. เหรียญเสมาเงินลงยาที่จีวรสีเหลือง
๖. เหรียญเสมาเนื้อนวโลหะผสมชวนพระกริ่งชินบัญชร
๗. เหรียญเสมาเนื้อทองแดง
๘. เหรียญเสมาพิเศษเนื้อทองแดงลงยา

พระหลวงปู่ทิม พิมพ์อื่นๆ






วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสุพรรณยอดโถ เนื้อชิน กรุพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง สุพรรณบุรี

 

พระสุพรรณยอดโถ เนื้อชิน กรุพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง สุพรรณบุรี

พระพิมพ์นี้คือ พระผงสุพรรณเนื้อชินนั่นเอง ที่ถูกเรียกว่า “พระสุพรรณยอดโถ” ทั้งนี้เป็นการเรียกกันมานาน แต่เริ่มแรก ไม่ใช่มาตั้งชื่อกันใหม่ภายหลัง ความเป็นจริงจะเรียกว่า “พระผงสุพรรณเนื้อชิน”ก็ได้ เพราะโดยพุทธลักษณะทุกอย่างเหมือนกับพระผงสุพรรณ หน้าแก่ อย่างไรอย่างนั้นไม่ผิดเพี้ยนกันเลย บางองค์ชัดเจนขึงขังไม่น้อย เสียแต่ว่าพระพิมพ์นี้มีจำนวนน้อยมาก การสะสมจึงไม่กว้างขวางเท่าพระพิมพ์ผงสุพรรณ เนื้อผงว่านทั้งสามพิมพ์ แต่ใคร่จะแจ้งให้ทราบว่า พระพิมพ์พระผงสุพรรณเนื้อชินมีปลอมแปลงจำนวนมากและปลอมกันมานานแล้ว ไม่ควรสุ่มสี่สุ่มห้าเช่าบูชาเอาไว้ ใครมีของแท้ควรหวงแหนเพราะเป็นของหายากมากแม้แต่พระพิมพ์พระผงสุพรรณ เนื้อผงว่านทั้งสามพิมพ์ที่มีจำนวนมากกว่า ก็เป็นของหายากเช่นเดียวกัน
 ของปลอมมีเต็มตลาดพระ

พุทธลักษณะ
1)องค์พระปฏิมาประทับนั่งราบปางมารวิชัย พระพักตร์เคร่งขรึม พระกำโบล(แก้ม)เหี่ยวตอบ พระหนุ(คาง)เสี้ยมและมักกลืนหาย พระเกศเป็นต่อมกลมสองชั้น ชั้นล่งใหญ่ ชั้นบนเล็กยอดมน กรอบไรพระศกองค์ที่ชัดเจนขึ้นนูนสวบงามมาก แต่ส่วนมากมักจะเลือน พระขนง(คิ้ว)เป็นปื้น หางพระเนตรชี้ขึ้นสูง พระเนตรขวามักจะโบ๋ พระเนตรข้างซ้ายมีเม็ดพระเนตร พระนาสิกป้าน ปลายพระนาสิกบานใหญ่เท่ากับพระโอษฐ์ มีรอยบากข้างพระนาสิกด้านขวาเป็นขีดสึก พระโอษฐ์จู๋มีขนาดเท่ากับปลายปลายพระนาสิก พระหนุ(คาง) เสี้ยมเล็ก บางองค์กลืนหายไปกับพระศอ พระกรรณขวายาว ด้านซ้ายสั้น ไม่มีพระศอ
2.)พระอุระ(หน้าอก)คล้ายหัวช้าง พระอุทร(ท้อง) ติดบางมาก พระพาหา(ท่อนแขนบน) พระกร(ท่อนแขนล่าง) มีขนาดพอสมควร ห่างจากลำพระองค์พอประมาณ พระกัประ(ข้อศอก) ทั้งสองข้างมีระดับเสมอกัน ปลายพระหัตถ์ซ้ายสั้นวางหงายบนพระเพลา มักจะเห็นนิ้วพระอังคุต(หัวแม่มือ) รางๆ
3)พระเพลา(หน้าตัก) กว้างพอสมส่วน พระบาทขวาหงายทาบเฉียงขึ้นบนเล็กน้อยแต่ไม่เป็นการแน่นอนเสมอไป บางองค์ทาบตรงก็มี ไม่เห็นพระปราษณี(ส้นเท้า) และข้อพระบาท บางองค์เห็นนิ้วหัวพระบาท(หัวแม่เท้า) พระบาทซ้ายเช่นเดียวกันปลายแหลม
4)องค์พระปฏิมาออกแบบเป็นประติมากรรมนูนต่ำ ประทับนั่งราบบนฐานฝักบัวเป็นเส้นนูนหนาชั้นเดียว ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วตัดยอดมน ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบเป็นแอ่งเล็กน้อย

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
ในปีพ.ศ.2456 พระยาสุนทรสงคราม(อี้ กัณสูตร) ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี เปิดกรุพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุหลังจากคนร้ายลักลอบขุดกรุก่อนหน้านั้น ได้พบแผ่นลานทองและพระเครื่องจำนวนมาก จารึกในแผ่นลานทองอักษรขอมแปลเป็นไทยได้ความว่า “พ.ศ.1886 มีพระฤๅษี 4 ตน พระฤๅษีพิมพิราลัย เป็นหัวหน้า เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำเครื่องประดิษฐ์ฐานมีสุวรรณเป็นต้น คือบรมกษัตริย์ พระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นผู้มีศัทธา...ฯลฯ พระมหาเถระปิยะทัสสะสี ศรีสารีบุตร คือเป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น ให้เอาแร่ต่างๆ ซัดสำเร็จแล้วให้นามแร่ว่า สังฆวานร ได้หล่อเป็นพิมพ์ต่างๆ มีอานุภาพต่างๆกัน เสกด้วยมนต์ คาถาทั้งปวง ครบสามเดือนแล้ว ให้เอาไปประดิษฐานไว้ในพระสถูปใหญ่แห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม ถ้าผู้ใดไปพบเห็นให้รีบเอาไปไว้สักการบูชาเป็นของวิเศษ แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอจะคุ้มครองอันตรายทั้งปวง”

จารึกลานทองแผ่นที่3 กล่าวถึงการสร้างพระปรางค์แปลเป็นไทยความว่า “สมเด็จพระราชาเจ้าพระองค์ใดทรงพระนามว่า พระบรมมหาจักรพรรดิเจ้า เป็นบรมกษัตริย์ครองกรุงอโยชฌราช ได้ให้ก่อพระสถูปองค์นี้ บรรจุพระมารชิธาตุภายในไว้ในที่นี้ได้วิกาลแล้วตามกาล พระราชโอรสของพระองค์เป็นราชาธิราชผู้ประเสริฐ โปรดปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดีดังเดิม”

ศิลปะของพระพิมพ์พระสุพรรณยอดโถ เป็นศิลปะอู่ทอง 1 ตามลานทองบ่งบอกไว้ว่า สร้างเมื่อ พ.ศ.1886 ดังนั้นพระพิมพ์นี้ควรเป็นพระที่สร้างเมื่อพ.ศ.1886 ดังนั้นพระพิมพ์นี้ควรเป็นพระที่สร้างในยุคอู่ทองตอนปลาย คืออู่ทอง 3 มากกว่าอู่ทอง 1 ตามศิลปะ

วัสดุใช้สร้าง
พระพิมพ์พระสุพรรณยอดโถ สร้างด้วยชินรัชตาภร หรือชินเงิน มีส่วนผสมระหว่างตะกั่วกับดีบุกหลอมละลายเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว เหยอดลงในแม่พิมพ์กดทับด้วยแผ่นของแข็งทิ้งไว้ให้เย็น แข็งตัวดีแล้ว ถอดออกจากแม่พิมพ์รวบรวมไว้ เข้าพิธีปลุกเสกครบตามกำหนดแล้ว นำเข้าบรรจุกรุในพระปรางค์ ภายหลังต่อมาเมื่อมีการเปิดกรุพบพระพิมพ์มีอายุ 600 กว่าปี พระพิมพ์เนื้อชินจะเกิดปฏิกิริยาภายในกรุ ผิวจะเป็นเม็ดละเอียดเล็กๆ สากขรุขระ สนิมดำคล้ำ กร้านๆ หรือดำแกมขาบ พร้อมทั้งเกิดสนิมขุมลึกลงไปในเนื้อเป็นแอ่งรูพรุนห่างกัน ภายในแอ่งมีไขสีขาวด้านบรรจุอยู่ คราบกรุเป็นฝ้าสีขาวปกคลุมทั่วผิว ขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีน้ำตาลอ่อนอยู่บนผิวอีกชั้น

พุทธคุณ
ตามจารึกในลานทองบอกว่า พระพิมพ์นี้เป็นของวิเศษ แม้จะมีอันตรายประการใดก็ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ จะคุ้มครองอันตรายได้ทั้งปวง

การอาราธนาพระพิมพ์พระสุพรรณยอดโถ เนื้อชิน
1)ให้ว่าพระคาถา นวหรคุณ ดังนี้
“อังสะสุวิโล ปุสะพุพะ”
2)ให้สวด “พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ”
3)ให้สวด “พาหุง” จนจบ
4)ให้สวด “กะเตสิกเก กะระณังมหาไชยังมังคะ สังนะมะพะทะ”
5)ให้สวด “กิริมิติ กุรุมุทุ เกเรเมเถ กระมะทะ ประสิทธิแล”


พระผงสุพรรณ พิมพ์อื่นๆ





พระสุพรรณยอดโถ องค์อื่นๆ






วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ตราไปรษณียากรไทยที่ระลึก

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 




พระร่วงยืนประทานพร เนื้อดิน กรุวัดมหาธาตุ สุโขทัย ศิลปะสุโขทัยล้อแบบทวาราวดีและลพบุรี

 


พระร่วงยืนประทานพร เนื้อดิน กรุวัดมหาธาตุ สุโขทัย  ศิลปะสุโขทัยล้อแบบทวาราวดีและลพบุรี

กรุงสุโขทัยได้ชื่อว่า เป็นเมืองพระร่วง มีพระร่วงครองราชย์อยู่หลายพระองค์ และที่สุโขทัยนี้มีผู้พบพระเครื่องพิมพ์พระร่วงมากพิมพ์ มากเนื้อ มากกรุด้วยกัน วัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่นับเป็นแหล่งรวมเอาพระร่วงไว้มาพิมพ์ประมาณมากกว่า 15 พิมพ์ขึ้นไป แต่ละพิมพ์ชวนให้น่าสนใจศึกษายิ่ง มีการสร้างไว้ทั้งประเภทเนื้อชินเงิน ชินเขียว และเนื้อดินด้วย ส่วนศิลปะแต่ละองค์นอกจากเป็นศิลปะสุโขทัยแล้ว ช่างยุคนั้นยังนิยมเอาศิลปะลพบุรี อู่ทอง และศิลปะสูงขึ้นไปอีก คือศิลปะทวาราวดี ศรีวิชัย พระร่วงกรุนี้มีการสร้างล้อแบบไว้เป็นอย่างมากทีเดียว จะพบพระเครื่องที่กำเนิดตั้งแต่สุโขทัยยุคต้น อายุ 700 ปีก็มี 600 ปีก็มี หรือต่ำลงมาจนถึงสมัยอยุธยาก็มี ด้วยเพราะการสร้างพระเครื่องมิได้หยุดนิ่งทั้งพุทธลักษณะและศิลปะจึงแปรเปลี่ยนไปได้ ในด้านพุทธคุณแล้วขึ้นชื่อว่า พระร่วงแห่งสุโขทัยย่อมเกรียงไกรสมกับพระนามที่ว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์” ไว้ไม่ผิดเลย

พุทธลักษณะ
1) องค์พระปฏิมาประทับยืนปางประทานพร พระเสียรกว้างกลม พระเกศาเรียบรวบขึ้น พระเกศมาลาเป็นมวยเล็ก พระรัศมีจีบเล็กยอดแหลม พระพักตร์แบนกว้าง พระนลาฏกว้าง พระขนงโค้งยาวติดกันรูปนกบิน พระเนตรโปน พระนาสิกแบน สันพระนาสิกจรดพระขนง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้านแคบ ลักษณะเหล่านี้ล้อแบบศิลปะทวาราวดี พระกรรณแนบพระปราง พระศอตื้นเป็นร่องแคบ
2) พระอังสากว้าง พระอุระเป็นเนื้อนูนแล้วเรียวลงมายังพระปรัศว์ทีเว้าคอด พระอุทรอวบ พระนาภีเป็นหลุมกลม ครองพระจีวรแนบเนื้อห่มคลุมทั้งองค์
3) พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างลำพระองค์ พระกรซ้ายทิ้งลงอ่อนโค้งเล็กน้อย ตามพระโสณี พระหัตถ์แผ่ดรรชนีชี้ลงพื้น หักพระกัประยกพระกรขวาเฉียงขึ้นแนบพระอุระ หงายพระหัตถ์ไปข้างหน้าปิดพระถันลักษณะประทานพร พระโสณีผายลงจากพระอุทร พระอุระเป็นลำคู่ขนาน พระชงฆ์เรียวลง จนถึงข้อพระบาท ครองพระสบงจับจีวรระหว่างพระอุระเป็นแผ่นแบนยาวลงคลุมถึงเหนือข้อพระบาท พระประคดเอวเป็นแถบใหญ่ ริมขอบพระจีวรห่มคลุมพระองค์เป็นแผ่นแผ่อยู่ข้างลำพระองค์ ทิ้งชายลงมาจากพระกัประขวาและปลายพระดรรชนีซ้ายยาวลงถึงกลางพระชงฆ์
4) องค์พระปฏิมาเป็นประติมากรรมนูนต่ำ ประทับยืนตรงบนฐานฝักบัวชั้นเดียว พระบาทแนบชิดยื่นไปข้างหน้า ลักษณะเหล่านี้ล้อแบบศิลปะลพบุรี ประดิษฐานภายในกรอบรูปใบหอกยอดแหลม กรอบล่างโค้งครึ่งวงกลม ด้านพระปฤษฎางค์เป็นพื้นผนังเรียบไม่มีเครื่องประดับตกแต่งใดๆ เน้นความเรียบง่าย ลักษณะเหล่านี้เป็นศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ ด้านหลังพระพิมพ์ผิวเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยจากการแต่งพิมพ์

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
สมัยสุโขทัยยุคต้น ระหว่างพ.ศ. 1800-1850 ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปและพระเครื่องสืบต่อจากสมัยลพบุรียังไม่มีรูปแบบเป็นดอกลักษณ์ของตนเอง จึงต้องอาศัยการล้อแบบศิลปะในสมัยก่อนหน้าขึ้นไป เช่นศิลปะแบบวัดตะกวน เป็นศิลปะสุโขทัยผสมศิลปะลังกา พระร่วงยืนเนื้อดินองค์นี้ก็เป็นพระพิมพ์หนึ่งที่เป็นศิลปะผสมของศิลปะสุโขทัยล้อแบบ ศิลปะทวาราวดีและศิลปะลพบุรี ผู้สร้างคือช่างชาวเมืองสุโขทัยในสมัยนั้น อายุพระพิมพ์ราว 700  ปี เป็นพระเครื่องที่หายากไปแล้ว ไม่พบเห็นง่ายนักในปัจจุบัน

วัสดุใช้สร้าง
พระเครื่องเนื้อดินของจังหวัดสุโขทัย การเผาใช้ความร้อนสูง ปรากฏว่าเนื้อเป็นสีน้ำตาลไหม้ บางองค์ผิวเหมือนเคลือบ เป็นเนื้อที่แกร่งที่สุดหรือสีเขียว พบในกรุเตาเหล็ก เตาชะเรียงมาก เนื้อสีแดงซึ่งนับว่าได้ความร้อนน้อย ก็เป็นเนื้อกระเบื้องที่แข็งแกร่ง ขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีนวลเหลืองอ่อนเคลือบติดผิวตามพื้นส่วนลึก ด้านหน้าหนาแน่น และด้านหลังเล็กน้อยเป็นธรรมชาติของพระอยู่ในกรุมานาน
ขนาด กว้าง 2 ซม. สูง 5 ซม. หนา 0.5-0.7 ซม.

พุทธคุณ
พระพุทธคุณส่วนมากมักจะเน้นหนักทางด้านคงกระพันชาตรี ชื่อปรากฏเป็นที่อัศจรรย์มานานแล้ว