วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

พระทวาราวดี กรุลำพูน (หริภุญชัย)

 

พุทธลักษณะ ปางสมาธิ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนอาสนะฐานบัวสี่ชั้น ชั้นบนเกสรบัว ชั้นกลางเป็นกลีบบัวหงายสองชั้น ชั้นล่างเป็นเส้นฐานกลีบบัว องค์พระมีพระเศียรกลม พระเกศาขมวดเป็นพระศกเม็ดสาคูเม็ดเล็ก พระเมาลีเป็นต่อมเล็กสั้น ไรพระศกเป็นเส้นเล็ก พระพักตร์รูปไข่เรียว พระนลาฏแคบ พระขนงโก่งโค้งยาวติดกัน พระเนตรรูปเมล็ดงา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์เล็ก พระหนุมน พระปรางตอบ พระกรรณยาวเสมอพระหนุ พระศอแคบ พระอุระกว้าง พระอุทรคอด ทรงจีวรห่มคลุม ขอบจีวรรอบพระศอเป็นเส้น พระพาหาทั้งสองข้างห้อยลงขนานลำพระองค์ หักพระกัปประพับพระกรเข้าใน พระหัตถ์ประสานกันวางบนพระเพลา พระชงฆ์ซ้ายพับเข้าในสอดใต้พระชงฆ์ขวาในท่าขัดสมาธิเพชร บนผ้าพระสุจหนี่ (ผ้าปูรองนั่ง) รูปโค้งพระจันทร์เสี้ยว ด้านหลังองค์พระมีประภามณฑลเป็นเส้นลวดตั้งแต่พระกัประยาวขนานพระพาหา ขยักเว้าตามพระอังสาแล้วโค้งขึ้นรอบพระเศียร ประดับด้วยกลีบบัวโดยรอบ
ด้านหลังองค์พระพิมพ์เรียบ มีลายนิ้วมือลางๆ กดแต่งผิวเป็นคลื่นบรรจบกรอบหน้า ไม่มีการตัดขอบ

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมเป็นดินเหนียว บดกรองละเอียด ไม่มีกรวดทราย นวดให้เหนียวเป็นเนื้อเดียวกดพิมพ์แบบ ตากแห้ง เผาไฟด้วยอุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีเขียวหินครก มีขี้กรุเป็นผงดินทรายเคลือบผิวบางๆและติดตามซอกลึกด้านหน้า
ขนาด กว้างฐาน 2 ซม. สูง 3 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยทวาราวดีตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 900 ปี พุทธศิลป์เป็นศิลปะทวาราวดี ยึดตามศิลปะเอกลักษณ์ของหริภุญชัย สร้างโดยมอญชาวพื้นเมือง บรรจุกรุ กู่ สถูปเจดีย์ของวัดในเมืองและพื้นที่โดยรอบ

พุทธคุณ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น