วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

พระนางเหลียว กรุวัดมหาวัน ลำพูน

 

พุทธลักษณะ องค์พระลอยองค์ครึ่งองค์ เป็นเอกลักษณ์ของพระพิมพ์ชนิดนี้โดยเฉพาะ เป็นพระทรงเครื่อง พระเศียรทรงเทริดแบบขนนก กรอบกระบังหน้าสองชั้น พระพักตร์กลมรี พระนลาฏแคบ พระขนงโก่งโค้ง พระเนตรโปน พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์เป็นรูปคันธนูแนบชิดกัน พระปรางเต็มอิ่ม พระหนุป้าน พระกรรณห้อยพระกุณฑลยาวพาดพระอังสา พระสอเป็นเส้นสี่ลอน พระอุระกว้าง สวมทับทรวง ทรงภูษาหุ้มพระถัน พระอุทรสวมรัดประคด รูปมงกุฎ พระกรทั้งสองยกขึ้นแบพระหัตถ์ไปข้างหน้าในท่าห้ามสมุทร ลำพระองค์ตั้งแต่พระกฤษฎีลงไปถึงพระบาทตัดขาดจากส่วนบน องค์พระจึงมีครึ่งองค์เท่านั้น องค์พระลอยองค์จึงไม่มีกรอบ
ด้านหลังพระพิมพ์ ส่วนล่างหนาตั้งได้ ส่วนบนถึงยอดพระเศียรเนื้อบาง มีลายนิ้วมือกดแต่งลางๆ เป็นคลื่นยับย่นตะปุ่มตะป่ำ แต่งขอบข้างบรรจบขอบข้างองค์พระด้านหน้า บีบฐานล่างเว้าเข้าหากัน ไม่มีการตัดขอบโดยรอบ

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย ดินเหนียวธรรมดา ปราศจากกรวดทราย บดกรองละเอียด ผสมด้วยหนังควายเคี่ยวให้เหนียวเป็นกาวยึดเหนี่ยวมวลสาร นวดเข้ากันเป็นเนื้อเดียว กดพิมพ์แบบ ตากแง เผาไฟด้วยอุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีเทาดำคล้ำ เพราะเป็นพระพิมพ์เนื้อหนา จึงสุกไม่มาก เนื้อจึงฟ่ามความแน่นไม่มากนัก
วัดมหาวัน เป็นแหล่งชุมนุมพระที่สร้างในเมืองหริภุญชัยแทบทั้งหมด พระจากกรุอื่นจะปรากฏพบในวัดมหาวันเสมอ คนโบราณบอกว่า พระเครื่องใช้ในยามสงคราม เสร็จก็นำมาทิ้งไว้ในวัดมหาวัน ดังนั้นพระพิมพ์นางเหลียวนี้ก็เป็นพระเครื่องชนิดหนึ่งดังกล่าว เมื่อนำมาทิ้งไว้ไม่ได้บรรจุกรุ องค์พระจึงสะอาดไม่มีขี้กรุ
ขนาดกว้าง ฐาน 2 ซม. กว้างหน้าอก 4.5 ซม. สูง 6.5 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยทวาราวดีตอนปลายร่วมสมัยกับลพบุรีตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 900 ปีพุทธศิลป์ของพระพักตร์และพระหัตถ์ใหญ่ เป็นศิลปะทวาราวดี ส่วนองค์พระทรงเครื่องสวมเทริด เป็นศิลปะลพบุรี
รัฐทวาราวดีที่ละโว้เริ่มเสื่อมลง ขอมกัมพูชาแผ่ขยายอำนาจเข้ามาครอบครองละโว้ รวมทั้งเลยไปถึงเมืองหริภุญชัย ที่เป็นเมืองบริวาร ดังนั้นผู้สร้างจึงเป็นช่างมอญหริภุญชัยกับช่างขอมร่วมมือกันสร้างพระพิมพ์ชนิดนี้
พุทธคุณ เมตตามหานิยม ให้โชคลาภ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น