วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระนางกำแพง พิมพ์ใหญ่ ดินเผา กรุวัดเจดีย์กลางทุ่ง(นครชุม) กำแพงเพชร

 

พระนางกำแพง พิมพ์ใหญ่ ดินเผา กรุวัดเจดีย์กลางทุ่ง(นครชุม) กำแพงเพชร

พระนางพญากำแพงฯ มีทั้งพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก พิมพ์เล็กมีจำนวนมากกว่า จึงเป็นที่นิยม ในวงการราคาแพงกว่าพิมพ์ใหญ่ที่มีจำนวนน้อยกว่า พระนางพญากำแพง พิมพ์ใหญ่เป็นพระดินเผาที่พบจากรุวัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดป่ามืด วัดพระแก้ว ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นกรุที่โด่งดังของเมืองกำแพงเพชร

พุทธลักษณะ
1.องค์พระประทับนั่งราบ ปางมารวิชัย บนพระเศียรเห็นเป็นตุ่มเรียงรายแสดงเม็ดพระศก พระเมาลีเกล้าเป็นมวยเล็ก พระเกศยาวสูงแหลมรูปเปลวเพลิง พระพักตร์เรียวนูน ทรงผลมะตูม หรือแบบพระบูชาที่ชาวบ้านเรียกว่า รูป”ไข่จระเข้” ในวงพระพักตร์ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ลางๆ พระกรรณเป็นตุ่มแนบพระประปราง พระศอสั้นกลมกลึงเป็นร่องตื้น
2.พระอังสากว้างมนลาด พระอุระนูนหนา พระอุทรเรียวคอด กรอบพระจีวรแนบเนื้อห่มดองเปิดพระอังสาขวา พระจีวรห่มคลุมพระอังสาซ้าย เส้นชายขอบพระจีวรพาดลงใต้ราวพระถันวกสอดเข้าซอกพระกัจฉะจนพระอุระยกขึ้นเป็นลอนงดงามยิ่งเช่นเดียวกับพระพุทธรูปในโบสถ์ พระสังฆาฏิวงพาดบนพระอังสาซ้าย ปล่อยชายผ้ายาวลงจรดพระนาภีที่พองอูมแบบแสดงหน้าท้อง แล้วกลืนหายไปบนพระเพลา
3.พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างลำพระองค์ หักพระกัประ พระกรขวาทอดอ่อน กางออกยกพระหัตถ์วางกุมพระชานุลักษณะเข่านอก พระดรรชนีทั้งสี่ เว้นพระอังคุฐตัดเสมอกันจรดฐานบัวพอดี หักพระกัประพระกรซ้ายโค้งเข้าใน พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา
4.องค์พระประทับนั่ง พระชงฆ์ขวาและพระชงฆ์ซ้าย หักพระชานุพับเข้าใน พระบาทขวาวางซ้อนทับบนพระบาทซ้ายแบบหลวมๆ มีรอยเว้า ดีด เชิดของพระบาทแบบเล่นศิลปะ ขัดสมาธิลนฐานเป็นเส้นนูนหนา มีรอยเว้าแหว่งตามริม เนื่องจากมีขนาดเล็ก จึงสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นลักษณะของฐานกลีบบัวหงาย
5.ด้านพระปฤษฎางค์เป็นพื้นผนังเรียบ ปราศจากซุ้ม ประกอบองค์พระ ทั้งลวดลายและเครื่องประดับอื่นใด เน้นเฉพาะองค์พระลอยเด่นสวยงาม ศิลปะการสร้างเป็นประติมากรรมนูนต่ำ ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบตัดตรงเรียบ ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ ผิวเป็นตุ่มผดประปราย

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระนางพญาพิมพ์ใหญ่นี้ เป้นพระมีลักษณะงดงามตามแบบศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ จัดๆพิมพ์หนึ่ง เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นความงามและรายละเอียดในเชิงศิลปะของปฏิมากรที่มีความชำนาญอย่างดี สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยยุคกลาง พุทธศตวรรษที่ 19 หรือประมาณ พ.ศ.1890 อายุไม่น้อยกว่า 600 ปี ตรงกับรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พระร่วงองค์ที่ 5 ครองกรุงสุโขทัยที่พระพุทธศาสนาเจริญถึงขีดสุด และได้ทรงสร้างพระพิมพ์อย่างมากมายบรรจุกรุในพระเจดีย์ทั่วพระราชอาณาจักร

มวลสารใช้สร้าง
เนื้อพระนางพญาพิมพ์ใหญ่ เป็นดินเผา มีทั้งเนื้อละเอียดนุ่มและหยาบนุ่ม องค์ที่ละเอียดนุ่มจะมีเนื้อละเอียดมาก ปราศจากแร่กรวดที่มีผลึกใหญ่ๆ และเป็นเนื้อแก่ผงพุทธคุณคือมีสีจางๆปนอยู่ในเนื้อที่ค่อนข้างละเอียดนั้น บางองค์จะมีแร่ทรายทองผสมอยู่ในเนื้อด้วย
พระเนื้อหยาบนุ่มจะมีแร่กรวดเป็นผลึกใหญ่มากมาย เช่นแร่ดอกมะขาม เมื่อถูกเผาละลายจะเป็นจุดสีแดงเข้มขนาดเท่าปลายเข็ม ระท่งใหญ่เท่าหัวเข็มหมุด
พระเครื่องเหล่านี้ เมื่อสร้างและปลุกเสกเสร็จแล้วจะรวบรวมบรรจุในโถดินเก็บไว้ในกรุ พระสถูปเจดีย์ ด้วยกาลเวลาอันยาวนาน พระเจดีย์ปรักหักพังลง กลายเป็นเนินดิน บรรดาพระเครื่องเหล่านี้ ย่อมถูกความชื้นและฝุ่นโคลนเข้าแทรก เกิดคราบกรุและขี้กรุตามสภาพธรรมชาติ พระพิมพ์องค์นี้อยู่ในกรุค่อนข้างมีสภาพดี คราบกรุที่เกิดจากความชื้นจึงมีน้อย มีเพียงขี้กรุเป็นผงฝุ่นดินสีเทา และสีเหลืองนวล ฝังเหนืออย่างแน่นหนา ติดบนผิวตามส่วนลึกของพระพิมพ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ขนาด ฐานกว้าง 2.7 ซม. สูง 3 ซม. หนา 0.5 ซม.

พุทธคุณ
ยอดเยี่ยมทางด้านคงกระพันชาตรี และดีเด่นแน่นอนทางแคล้วคลาดทุกด้าน ดังเช่น
ทหารที่ไปปฏิบัติงานตามชายแดน แขวนพระนางพญาพิมพ์นี้มักจะรอดพ้นจากกับระเบิดและกระสุนปืนได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่เสาะหากันอย่างเงียบๆ ในหมู่ญาติของทหารกล้า เล่าสืบต่อกันมาจากปากของนายร้อยโทคนหนึ่ง ที่เคยออกไปสู้รบกับผู้ก่อการร้ายชายแดนเมืองน่าน เห็นเพื่อนรอดชีวิตมากับตาตนเอง ปัจจุบันเพื่อนคนนั้น ได้กลับเขามารับราชการอยู่ในเมืองพร้อมกัน และมักจะเล่าสู่กันฟังถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระที่แขวนอยู่เสมอ

พระนางกำแพง องค์อื่นๆ


พระนางกำแพง พิมพ์เล็ก กำแพงเพชร วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น