พระกำแพงสิบ เนื้อดินเผา
กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร
พระกำแพงสิบมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น
พระเจ้าสิบองค์ พระกำแพงสิบทิศ หรือ ปัญญาบารมี มีบางท่านเรียกว่า สิบนาง
การเรียกชื่อตามจำนวนองค์พระปฏิมาที่ประดิษฐานอยู่ในรูปลีบดอกบัวหลวง มูลเหตุที่สร้างพระกำแพงสิบนี้คงเนื่องมาจาก
“พุทธนิมิต” ที่พระพุทธองค์ทรงแสงยมกปาฏิหาริย์ให้บังเกิดพาหุภาพขึ้นถึง 10
พระองค์ ตามคติพุทธศาสนามหายาน
อนึ่งจำนวนสิบพระองค์นี้ อาจสืบเนื่องมาจากทศชาติ(พระเจ้าสิบชาติ)
อันเป็นเรื่องราวของบารมีธรรมที่พระโพธิสัตว์ทั้งสิบชาติได้บำเพ็ญเพียรมาอย่างอุกฤษฏ์
พุทธลักษณะ
องค์พระปฏิมาทั้งสิบองค์นั้น
เป็นพิมพ์ลักษณะประติมากรรมนูนต่ำลอยเด่นเหนือพื้นผนังด้านหลังที่รองรับ
เรียงรายเป็นระเบียบสามชั้น แถวชั้นบนมี 3 องค์ แถวชั้นกลางมีสี่องค์
แถวชั้นล่างมี 3 องค์ แต่ระยะช่องไฟแต่ละองค์ห่างกันกันพองาม
หันพระเศียรเรียงรายขึ้นสู่ส่วนยอดของกลีบบัว
ขนาดองค์พระปฏิมาทั้งสิบองค์มีขนาดเท่ากัน
แต่ละองค์มีฐานกว้าง 0.9 ซม. สูง 1.3 ซม. องค์พระประทับนั่งราบ ปางสมาธิ
บนอาสนะฐานเขียงชั้นเดียว พระเศียรกลม พระเกศยาวเรียวปลายยาวแหลม พระพักตร์รูปไข่
พระกรรณยาวแนบพระปราง พระอุระใหญ่ พระอุทรคอด พระพาหาทั้งสองกางพระกัประเล็กน้อย
พระกรขวาและซ้ายทอดโค้งอ่อนสลวย พระหัตถ์ทั้งสองวางประสานเหนือพระเพลาพอดี
ช่องพระพาหาเห็นชัดเจน
การจัดวางเรียงองค์พระปฏิมาตามตำแหน่งสัดส่วนเรขาคณิตอย่างน่าทึ่งในศิลปะของกำแพงสิบ
ซึ่งออกแบบสร้างขึ้นอย่างประณีตวิจิตรพิสดารยิ่งนัก
ทั้งหมดอยู่ภายในกรอบรูปกลีบดอกบัวหลวง มีส่วนกว้าง 4.2 ซม. ส่วนสูง 5 ซม.
ด้านหลังเรียบโค้งอูมนูนแบบหลังเต่า
ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
ศิลาจารึกนครชุมหลักที่ 3 เป็นแผ่นหินอ่อนสีดำ มีอักษรจารึกด้านหน้า 78 บรรทัด
ด้านหลัง 58 บรรทัด แต่งขึ้นในรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์กรุงสุโขทัย
กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ 3 องค์ในวัดบรมธาตุ นครชุม ในปีปีพ.ศ.1900
เดิมทีศิลาจารึกนครชุมนี้อยู่ในวัดเสด็จ หลังจากที่ทราบว่ามีพระเจดีย์บรรจุพระธาตุอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง จึงมีการค้นหา
เพราะขณะนั้นพื้นที่รกร้างเป็นป่าอยู่
พระยากำแพงเพชร(น้อย)ผู้ว่าราชการเมืองได้ค้นพบวัดและพระเจดีย์ ได้พบแผ่นลานเงิน
ระบุถึงพระฤๅษี 11 ตน มีพระฤๅษีพิลาลัย พระฤๅษีตาวัว พระฤๅษีตาไฟ เป็นประธาน
แก่พระฤๅษีทั้งหลาย ได้สร้างพระซุ้มกอ พระเม็ดขนุน พระพลูจีบ และพระเครื่องสกุลทุ่งเศรษฐี
เช่น พระว่านหน้าทอง พระกลีบบัว พระเปิดโลก พะงบน้ำอ้อย รวมทั้ง พระกำแพงสิบ
เป็นต้น ทั้งหมดเหล่านี้เป็นศิลปะสุโขทัยร่วมกับศิลปะกำแพงเพชรเองประยุกต์เข้าด้วยกัน
มวลสารที่ใช้สร้าง
พระเครื่องเนื้อดินที่ขุดพบจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง หรือจากลานทุ่งเศรษฐี
มักมีเนื้อดินละเอียดหนึกนุ่มเป็นพิเศษ จนเรียกติดปากว่า “เนื้อทุ่ง”
เช่นพระซุ้มกอ พระเม็ดขนุน พระพลูจีบ เป็นต้น
ยังมีพระกำแพงพวกหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ พระกำแพงสอง พระกำแพงสาม พระกำแพงห้า
พระกำแพงสิบ พระประเภทนี้มีทั้งเนื้อดินและเนื้อชินเงินซึ่งพบน้อย
พระเนื้อดินมีทั้งเนื้อดินละเอียด และเนื้อดินหยาบ
พระดินเผา วัสดุส่วนใหญ่
คือดินละเอียดในท้องถิ่น บดกรองเม็ดกรวดทรายออกหมด ผสมด้วยผงว่านศักดิ์สิทธิ์ตามตำราโบราณ
สร้างเป็นพระพิมพ์ดินเผา
พุทธคุณ
พระกำแพงสิบ มีพุทธคุณและอานุภาพมาก นักพระเครื่องรุ่นเก่าเชื่อมั่นว่า
มีพระกำแพงสิบไว้ติดตัวเพียงองค์เดียว สามารถคุ้มครองปกป้องอันตรายได้ทั้งมวล
ดุจดังยมกปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ สามารถขจัดเภทภัยและอัปมงคลทั้งปวง
อีกทั้งยังดลบันดาลให้บังเกิดมหาลาภและเพิ่มพูนโภคทรัพย์ด้วยเป็นมหาเศรษฐี
ดุจดังมงคลนามของพระเครื่องได้จากลานทุ่งเศรษฐี
พระคาถา “หัวใจทศชาติ”
ได้แก่ “เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว” คาถานี้ใช้ได้สารพัดอย่าง
ดีเด่นทั้งทางเมตตา คงกระพัน แคล้วคลาด ตลอดจนใช้ทำมนต์ปัดเป่า ถอนคุณแก้ไสย
แก้อัปมงคล ป้องกันเสนียดจัญไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น