พระนางแขนอ่อน กรุวัดเจดีย์สูง สุโขทัย
พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ พระวรกายเรียวยาว
พระพักตร์รูปไข่ ปรากฏพระขนง พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ พระกรรณยาวแนบพระปราง
พระเกศาและพระเมาลีเรียบ พระเกศเปลวเรียวแหลม พระศอตื้น พระอุระกว้าง พระอุทรคอด
ครองจีวรแนบเนื้อห่มคลุมเปิดไหล่ขวา พระกรขวาทอดลงอ่อนช้อยคล้ายงวงไอยรา
พระหัตถ์วางคว่ำกุมพระชานุลักษณะเข่าใน
พระพาหาและพระกรซ้ายโค้งพับเข้าใน พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา
ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ขวาพับเข้าในหงายพระบาทบนพระชงฆ์ซ้าย
องค์พระลอยองค์อยู่ภายในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่วทรงสูงขยักเว้าเข้าในที่พระอังสาและพระเมาลี
ด้านหลังอูมนูนเป็นคลื่น มีลายนิ้วมือ
1.วัสดุใช้สร้าง ดินละเอียดมีแร่ทรายเงินทรายทอง
ผสมผงและว่านบดกรองละเอียด ใส่กาวและน้ำนวดให้อ่อนเหนียวเหมือนดินน้ำมัน ปั้นเป็นก้อนกลมกดลงแม่พิมพ์
แคะออกปาดขอบข้าง ตากแห้ง เผาไฟอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส ได้พระดินเผาสีแดงอ่อน
เนื้อละเอียดแข็งแกร่ง ผิวเรียบ
คราบไคลขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีเทาและผงดินปูนสีขาวติดตามซอก
ขนาด กว้างฐาน 2 ซม. สูง 3 ซม.
2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยสุโขทัย
พุทธศตวรรษที่ 18 อายุ 800 ปี ศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ สร้างโดยช่างศิลป์หลวงตามบัญชาของผู้ปกครอง
บรรจุกรุวัดมหาธาตุฯ และถูกค้นพบมาก่อนแต่ไม่มากนัก ถึงพ.ศ.2508
ได้มีพระพิมพ์นางแขนอ่อนขึ้นจากกรุวัดเจดีย์สูงอย่างมากมาย
ทั้งชนิดเนื้อดินและเนื้อชิน ต่อมาพบพระจากพิมพ์นี้อีกที่กรุวัดเขาพระบาท
และกรุวัดเจดีย์งามอีกแต่ไม่มากนัก มีพิมพ์เหมือนกันแยกไม่ออก จึงอนุโลมเรียก
“กรุเจดีย์สูง” มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น