พระพิมพ์หรือพระแผง มีสามองค์อยู่รวมกันเรียกว่า”พระตรีกาย” แปลว่ากายสาม
หมายถึง พระสามพี่น้อง เป็นพิมพ์ทรงเครื่อง
สร้างตามคตินิยมในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ตามความเชื่อแบบขอม หมายถึงพระอทิพุทธ
เป็นพระพุทธเจ้าที่เคารพสักการะสูงสุดของขอม
เป็นทิพยบุตรหรือบุตรแห่งสวรรค์องค์เดียว ที่แสดงปาฏิหาริย์ไว้ สามกาย อันได้แก่
พระนิรมาณกายคือพระกายมนุษย์ เมื่อตรัสรู้แล้วปราศจากกิเลสหนึ่ง พระธรรมกาย
คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหนึ่ง และพระสัมโภคกาย
คือพระกายมนุษย์ธรรมดาที่อยู่ในกฎแห่งกรรม เกิด แก่ เจ็บตายหนึ่ง
พุทธลักษณะ พระพุทธองค์กลางปางมารวิชัย
พระวรกายอวบสมบูรณ์ พระเศียรกลม
พระเกศาผมหวีรวบขึ้นเป็นมวยพระเมาลีครอบด้วยพระมาลาสามชั้น พระเกศรูปดอกบัวตูม
พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏแคบ พระขนงเป็นเส้นนูนตื่นยาวติดกบรูปนกบิน
พระเนตรเป็นเม็ดงา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน พระกรรณยาวจรดพระอังสา
ครองจีวรแนบเนื้อห่มเฉียงมีสังฆาฏิพาดรางๆ ขอบสบงเผยอเป็นเส้น พระอุระกว้าง
ทรงกรองศอเหนือพระอุระ พระพาหาทั้งสองทอดลงขนานลำพระองค์ ต้นพระพาหาทรงพาหุรัด
พระกรขวายกขึ้น พระหัตถ์วางคว่ำ กุมพระชานุ พระกรซ้ายโค้งพับเข้าใน
พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา
พระชงฆ์ขวาพับเข้าในวางหงายพระบาทบนพระชงฆ์ซ้ายในลักษณะขัดสมาธิราบบนรัตนบัลลังก์บัวคว่ำบัวหงาย
ภายในประภามณฑลซุ้มเรือนแก้ว ตั้งบนเสาสูง หัวเสาเป็นหางหงส์ลายกนกพลิ้ว
ขอบซุ้มเป็นเส้นนูนขยักเว้าเป็นลอน มีเส้นขีดเล็กสั้นประดับภายนอก
เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นพุ่มโพธิ์พฤกษ์มีทั้งก้านและใบ
ด้านซ้ายและขวาองค์พระเป็นพระพุทธอีกสององค์ปางสมาธิ
ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวคว่ำบัวหงายอยู่ภายในซุ้มประภามณฑลเรือนแก้ว
เช่นเดียวกับองค์กลางแต่มีขนาดเล็กลงมาเป็นครึ่งหนึ่งขององค์กลาง
ทั้งหมดรวมอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมโค้งยอดแหลมรูปกลีบบัว กรอบเป็นลวดสองเส้นขนานกันจากมุมฐานล่างยาวโค้งขึ้นไปจรดกันที่ยอดซุ้ม
ขยักเว้าเข้าในที่ยอดซุ้มพระองค์เล็ก ปลายยอดแหลม
ฐานล่างสุดเป็นกลีบบัวสามเหลี่ยมเส้นคว่ำหงายสลับกันเป็นแผ่นยาวตลอดเส้นฐาน
ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบอูมนูนตรงกลางเล็กน้อยมีรอยลายนิ้วมือกดแต่งเป็นริ้วยาวโค้งลงขอบพิมพ์ด้านหน้า
ใช้มีดตัดขอบเนื้อเกินพอดีกับกรอบพิมพ์ด้านหน้าเป็นเส้นหนา
1.วัสดุใช้สร้าง
ดินเหนียวผสมกรวดทรายบดละเอียด, ผงศิลาแลง,ข้าวสุกเป็นกาว โขลกตำผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียว
ใส่น้ำนวดให้เหนียวเหมือนดินน้ำมัน ปั้นเป็นก้อน กดลงแม่พิมพ์
แคะออกหงายด้านหน้าตัดขอบ ผึ่งในในร่มให้แห้ง เผาไฟอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส
ได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดงอมเหลือง ผิวเรียบ แข็งแกร่ง เนื้อหยาบเล็กน้อย
ด้านหลังมีแร่ดอกมะขามและเม็ดกรวดทรายขนาดเล็กผุดขึ้นบนผิวประปรายทั่วไป
คราบไคลขี้กรุเป็นผงดินโคลนแห้งสีดำติดตามซอกลึกด้านหน้า
ขนาด
กว้างฐาน 7 ซม. สูง 9 ซม. หนอขอบ 6 มม.
2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยลพบุรียุคต้น
พุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 900 ปี ร่วมสมัยทวาราวดีตอนปลาย
สร้างโดยช่างฝีมือขอมที่ขยายอำนาจเข้ามาครองรัฐละโว้ในภาคกลาง
นำศิลปะขอมเข้ามาเผยแพร่เป็นต้นกำเนิดของศิลปะลพบุรี
และขยายอิทธิพลมาครองนครปฐมด้วย มีหลักฐานการสร้างพระพิมพ์บรรจุกรุที่พระปฐมเจดีย์ที่ถูกค้นพบในสมัยปัจจุบัน
พุทธคุณ แคล้วคลาด
คงกระพัน มหาอุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น