พุทธลักษณะ องค์พระนารายณ์อวตารแบ่งภาค 10 ปาง
องค์กลางปางปฏิหาริย์ 9 เศียร 22 กร พระกรสองข้างทอดลง พระหัตถ์วางคว่ำกุมพระชงฆ์
พระกรข้างละ 10 แผ่ออกเป็นรูปพัด พระเศียรซ้อนกันสามชั้น พระพักตร์แบน พระกรรณยาว
พระอุระกว้าง พระอุทรคอด ประทับนั่งสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย
เหนือพระเศียรขึ้นไปเป็นพระโพธิสัตว์ปางนาคปรก 7 เศียร พระหัตถ์ประสานกันวางบนพระเพลา
ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานขีด4ชั้นรูปฝักบัว ด้านข้างองค์กลางลดหลั่นลงมา
เป็นพระนารายณ์อวตาร 4 กร 4 องค์ พระกรสองข้างยกชูขึ้น อีกสองข้างทอดโค้งลง
พระหัตถ์วางคว่ำกุมพระชงฆ์ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานฝักบัว
มีกลีบบัวสามกลีบใหญ่และก้านบัวยาว
ต่ำลงมาเสมอองค์กลางประทับนั่งบนฐานบัวขีดสองชั้น ส่วนล่างสุดเป็นพระนารายณ์อวตาร
2 กร 4 องค์ ปางสมาธิ พระหัตถ์ประสานกันบนพระเพลาภายในซุ้มโค้ง
ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรเรียงเป็นแถวหน้ากระดานบนฐานเส้นลวดยาว
ส่วนล่างเป็นกลีบบัวแถว ทั้งหมดอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วรูปกลีบบัว
กรอบในสุดเป็นเส้นลวดซ้อนกันสามเส้น ตั้งบนหัวเสาลายกนก
ขยักโค้งเว้าเข้าในสองยักตามรูปองค์พระ ยอดบนสุดเป็นดอกบัวตูมยอดแหลม
กรอบนอกสุดเป็นเส้นลวดล้อพิมพ์ตามกรอบใน ยอดสุดรูปกลีบบัว
ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ
มีรอยเสี้ยนไม้กดพิมพ์เป็นทางยาวรางๆ แม่พิมพ์มีความลึกพอสมควร
จึงกดพิมพ์ได้พอดีโดยไม่มีการตัดขอบ
1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย
ดินเหนียวมีกรวดทรายเล็กน้อยบดกรองละเอียด ผงแร่ดอกมะขาม, ว่าน108,
ข้าวสุกเป็นตัวยึดมวลสาร ผสมกันโขลกตำเป็นเนื้อเดียว ใส่น้ำนวดให้ข้นเหนียว
ปั้นเป็นก้อน กดพิมพ์แบบ ผึ่งในร่มให้แห้ง เผาไฟอุณหภูมิ 1,300 องศาเซลเซียส
ได้พระพิมพ์ดินเผาสีผิวไผ่รวกแห้ง ผิวเรียบ แข็งแกร่ง เนื้อละเอียดนุ่ม
มีกรวดทรายและจุดสีแดงแร่ดอกมะขามผุดขึ้นบนผิว
มีคราบไคลขี้กรุเป็นผงดินโคลนดำคล้ำแห้งแล้วเคลือบติดผิวบางๆ ตามซอกลึกด้านหน้า
ด้านหลังมีน้อย
ขนาด กว้างฐาน 6.5 ซม. สูง 9.5 ซม.
2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
เป็นพระพิมพ์ดินเผาสมัยลพบุรีตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16-17 อายุ 1,000 ปี
ประติมากรรมเป็นศิลปะลพบุรี สร้างตามคติพราหมณ์ฮินดูผสมคติหินยาน
ร่วมสมัยทวาราวดีตอนปลายที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในพื้นที่นี้ คือกรุงละโว้เสื่อมอำนาจลง
ขอมกัมพูชาขยายอำนาจแผ่เข้ามาครอบครอง มีความเจริญขึ้นเป็นลำดับ
และได้นำศิลปะแบบขอม เช่นการสร้างเทวรูปแบบฮินดู พระพุทธรูปแบบพระโพธิสัตว์
มาประยุกต์สร้างพระพิมพ์ผสมศิลปะทวาราวดีที่มีอยู่เดิม
ผู้อำนวยการสร้างคือชนชั้นผู้ปกครอง ให้ช่างหลวงรวมกับช่างท้องถิ่นประสานกันสร้าง
จึงได้พระพิมพ์ที่มีศิลปะชั้นสูงแบบหนึ่ง ที่ประณีตสวยงาม วิจิตร อลังการ มีความคม
ชัด ลึก ชัดเจน ฝีมือช่างเป็นเลิศกว่าสมัยใดๆ สร้างเสร็จแล้ว
นำพระพิมพ์บรรจุกรุที่กรุงละโว้เมืองแม่ และแบ่งไปฝากบรรจุกรุที่เมืองบริวารอื่นๆ
เป็นการขยายอิทธิพลภายในตัว จึงพบพระพิมพ์นี้ในที่ต่างๆหลายแห่งในปัจจุบัน
พุทธคุณ
พระพิมพ์สร้างตามคติพราหมณ์ฮินดูผสมหินยานจึงมีกฤติยาคมแฝดเข้มแข็งเป็นสองเท่าของพระพิมพ์ชนิดอื่น
คือด้านแคล้วคลาด, คงกระพัน, มหาอุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น