วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก กรุเก่าฝั่งศาลากลาง(ชากังราว) กำแพงเพชร

1 2

3 4

5 6


พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก กรุเก่าฝั่งศาลากลาง(ชากังราว) กำแพงเพชร
1.ด้านหน้า
2.ด้านหลัง
3.ด้านบน
4.ด้านล่าง
5.ด้านซ้าย
6.ด้านขวา

1.พุทธลักษณะ ปางสมาธิ ประทับนั่งราบ พระวรกายตั้งตรง พระเศียรกลม พระศกเม็ดไข่ปลา พระเมาลีรวบขึ้นรัดเกล้า พระเกศเป็นพุ่มรูปดอกบัวตูม พระพักตร์รูปไข่ มีไรพระศกกรอบพระพักตร์ พระเนตรเป็นเม็ดงา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์แบะ พระหนุกลม พระปรางอวบอิ่ม พระกรรณโค้งรูปบายศรีขาวจรดพระอังสา พระศอแคบตื้น สวมกรองศอเป็นวง ครองจีวรแนบเนื้อห่มคลุมเปิดไหล่ขวาชายจีวรพาดใต้พระถันเลี้ยวลงพระปรัศว์ สังฆาฏิพาดยาวจดพระนาภี พระอุระอวบใหญ่เหมือนนักกล้าม พระกฤษฎีคอดกิ่ว พระพาหาทอดกางลงข้างลำพระองค์ สวมพาหุรัดต้นพระพาหาสามวง หักพระกัประ พระกรพับเข้าในประสานกัน สวมทองพระกรข้างละสามวง พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระหัตถ์ซ้ายในพระอิริยาบถทรงสมาธิเข้าฌานสมาบัติบนพระเพลา ประทับนั่งราบ พระชงฆ์ทั้งสองพับเข้าในวางซ้อนกัน สวมทองพระบาทข้างละสามวง พระบาทขวาวางหงายบนพระชงฆ์ซ้าย บนรัตนบัลลังก์กลีบบัวห้ากลีบชั้นเดียว ด้านพระปฤษฎางค์ พระรัศมีประภามณฑลรอบพระเศียรเป็นเส้นลวดรูปกลีบบัวรอบซุ้มโค้งสลักเป็นเส้นนูนลายกนก ทั้งหมดเป็นประติมากรรมนูนต่ำ ประดิษฐานอยู่ภายในแอ่งท้องกระทะ กรอบยกเป็นสันรูปเล็บมือ ฐานล่างใต้กลีบบัวตัดตรง

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง สร้างสมัยสุโขทัยยุคต้น พุทธศตวรรษที่ 19 อายุถึงปัจจุบันราว 600 ปี ศิลปะสุโขทัยผสมศิลปะลังกา รวมทั้งสืบทอดศิลปะละโว้-หริภุญไชย ลักษณะกรอบโค้งทรงมือ ตามรูปแบบ พระคง พระบาง และพระเปิม ของสกุลลำพูน พระพิมพ์ซุ้มกอนี้สร้างโดยพระมหากษัตริย์เป็นพิธีหลวงครั้งละจำนวนไม่มากนัก เก็บรวบรวมไว้โดยไม่บรรจุกรุใดเป็นการเฉพาะ เมื่อมีการสร้างพระอารามหลวง หรือวัดของราษฎร ก็จะแบ่งไปร่วมบรรจุกรุกับพระเครื่องที่สร้างใหม่อื่นๆ ครั้งละไม่เกิน 10 องค์ หรือน้อยกว่า เมื่อมีการเปิดกรุภายหลังก็พบพระซุ้มกอปะปนขึ้นมาด้วยและมีจำนวนน้อย เพราะเป็นพระฝากกรุนั่นเอง

พระกำแพงซุ้มกอมีลายกนกพิมพ์ใหญ่องค์นี้ เป็นพิมพ์พิเศษที่ศิลปินได้ฝากฝีมือไว้อย่างยอดเยี่ยม เป็นพระทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ซึ่งไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายๆในบรรดาพระกำแพงซุ้มกอทั่วไป รวมทั้งการออกแบบให้มีซอกแขนลึกมาก เป็นเอกลักษณ์ของพระซุ้มกอยุคต้นๆ การแกะแบบพิมพ์ และการถอดจากพิมพ์จึงต้องปราณีตอย่างมาก ยุคหลังต้องการสร้างจำนวนมากและง่ายต่อการถอดพิมพ์ จึงทำซอกแขนตื้น นี่คือความแตกต่างระหว่างการสร้างยุคแรกกับยุคหลัง
กรุพระกำแพงฝั่งศาลากลาง(ชากังราว) มีมาก ได้แก่ วัดกโลทัย วัดช้างล้อม วัดป่ามืด วัดอาวาสน้อย วัดอาวาสใหญ่ วัดน้อยเป็นต้น อยู่คนละฝังกับกรุลานทุ่งเศรษฐี นครชุม ที่ไม่ค่อยจะมีการกล่าวถึงกัน พระกำแพงมีมากกรุ พบพระเครื่องจำนวนมากมาย เหลือคณานับ มักจะขึ้นทางฝั่งลานทุ่งเศรษฐี ทั้งนั้น

3.วัสดุใช้สร้าง เนื้อดินละเอียดไม่มีกรวดทราย คล้ายดินดิบแบบดินสอพอง ผสมผงว่านป่นละเอียดและผงแร่ดอกมะขาม สร้างเป็นพระพิมพ์เผาไฟอ่อน อุณหภูมิประมาณ 600 องศาเซลเซียส ได้ดินเผาสีแดงอ่อน เนื้อนุ่มแข็งแกร่งพอประมาณ ขอบข้างปาดด้วยของมีคมโค้งตามกรอบ ด้านหลังปาดเรียบ ขี้กรุเป็นเป็นฝุ่นดินแห้งละเอียดสีแดงของดินลูกรัง เคลือบติดแน่นบนผิวกลมกลืนไปกับสีผิว แร่ดอกมะขามถูกเผาละลายผสมในเนื้อดิน ทำให้พระพิมพ์มีสีสวยขึ้น มีราดำเล็กละเอียดขึ้นตามซอกทั่วไปนี้เป็นตัวชี้วัดอายุของพระพิมพ์ได้เป็นอย่างดี
ขนาด ฐานกว้าง 2.2 ซม. สูง 3.1 ซม. หนา 6 มม.

4.พุทธคุณ ให้โชคลาภ เมตตามหานิยม แคล้วคลาดจากอันตราย

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์อื่นๆ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น