พระซุ้มปรางค์เป็นพระพิมพ์แบบหนึ่งของพระตรีกาย
โดยมีพระพุทธ 3 องค์อยู่ในพระพิมพ์องค์เดียวกัน องค์กลางคือกายพระพุทธเจ้าหนึ่ง
ด้านข้างสององค์ได้แก่พระธรรมกายคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหนึ่ง
และกายมนุษย์ที่มีการเกิดแก่เจ็บตายอีกหนึ่ง
พุทธลักษณะ พระพุทธเจ้าองค์กลางปางมารวิชัย
องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนรัตนบัลลังก์กลีบบัวสองชั้น องค์พระมีพระเศียร(ศีรษะ)กลม
พระเกศา(ผม)เป็นเส้นหวีรวบขึ้นเป็นพระเมาลี(มวยผม)ยอดมีพระเกศ(ยอดผม)เป็นต่อมเส้นรูปดอกบัวตูม
พระพักตร์(หน้า)กลม ปรากฏพระขนง(คิ้ว) พระเนตร(ตา) พระนาสิก(จมูก)และพระโอษฐ์(ปาก)
พระกรรณ(หู)ยาวจรดพระอังสา(บ่า) พระวรกายเรียวยาวสมส่วน ครองจีวรแนบเนื้อห่มเฉียง
สังฆาฏิพาดยาวคลุมถึงพระถัน(นม) พระพาหา(แขน)ทั้งสองข้างทอดลงขนานลำพระองค์
พระหัตถ์(มือ)ขวาวางคว่ำบนพระชานุ(เข่า) พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา(ตัก)
พระชงฆ์(แข้ง)ขวาพับเข้าใน หงายพระบาท(เท้า)บนพระชงฆ์(แข้ง)ซ้ายในลักษณะขัดสมาธิราบ
องค์พระประทับภายในซุ้มปรางค์ทรงสูงเป็นอุโมงค์ยอดแหลมตามรูปรูปองค์พระ
ฐานพระปรางค์เป็นแท่นหนาใหญ่ย่อมุมมีเสาสูงรองรับองค์พระปรางค์รูปยอดฝักข้าวโพด
แบ่งส่วนเป็นปล้องๆ แต่ละปล้องแกะสลักเป็นกลีบขนุน
เสาซุ้มปรางค์ตั้งอยู่บนฐานแท่นหนาบนเส้นขีดสองเส้น ชั้นล่างมีมกรห้าตนยกแท่นหนาใหญ่เทินบนศีรษะ
เท้าเหยียบบนพื้นเส้นขีดบนฐานบัวคว่ำ ผนังด้านข้างพระปรางค์เป็นพญานาคหันข้าง
คาบรวงข้าวห้อยลง สูงขึ้นไปเป็นยอดพฤกษามีก้านและใบโค้งขึ้นเรียงกันขึ้นไปจรดสุดยอดพระปรางค์
พระพุทธองค์เล็กริมสองข้าง
ขนาดองค์พระเป็นครึ่งหนึ่งของพระพุทธองค์กลางพุทธลักษณะ คล้ายคลึงกัน
ปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนรัตนบัลลังก์ฐานขีดสามชั้น
รองรับด้วยบัวหงายเส้นขีดบัวเม็ด เส้นขีดบัวคว่ำบนฐานขีดสามชั้น
องค์พระประทับนั่งในซุ้มประภามณฑล รอบพระเศียร(ศีรษะ)และรอบองค์พระ
ประดับด้วยกลีบเกสรดอกไม้ขีดเล็กยาว ถ้าคัดออกมาองค์เดียวจะเรียก
“พระซุ้มนครโกษา”ทั้งหมดรวมอยู่ภายในกรอบแบนหนารูปกลีบบัวขยักเว้าเข้าในที่รูปพญานาคคาบรวงข้าว
ส่วนยอดกรอบแบนสลักเป็นเส้นขีดเล็กเรียวยาวไปจนสุดยอดกรอบ ส่วนยอดพระพิมพ์หักชำรุดตั้งแต่อยู่ในกรุ
1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย
ดินเหนียว กรวดทราย ผงศิลาแลง บดกรองละเอียด น้ำอ้อยน้ำผึ้งเคี่ยวเหนียว ผสมโขลก
ตำเข้ากันเหนียวเป็นเนื้อเดียว ปั้นเป็นก้อน กดพิมพ์แบบ ตากแห้ง เผาไฟอุณหภูมิ
1,300 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีผิวไผ่รวกแห้ง ผิวเรียบ เนื้อหยาบเล็กน้อย
แข็งแกร่ง มีคราบไคลขี้กรุเป็นผงดินทรายละเอียดเคลือบติดผิวตามซอกลึกด้านหน้า
ด้านหลังเคลือบติดผิวบางๆ มีราดำติดเป็นหย่อมๆ
ขนาด ฐานกว้าง 8 ซม. สูงถึงยอดหัก 10 ซม.
2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์ดินเผาสมัยลพบุรีตอนต้น
ร่วมปลายสมัยทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 1,000 ปี พุทธปฏิมากรรมเป็นศิลปะลพบุรี
ตามคติมหายานปนพราหมณ์ ผสมศิลปะขอมโบราณ พระเกศา(ผม)ผมหวีเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของศิลปะลพบุรี
พระซุ้มปรางค์เป็นพระพิมพ์ที่มีศิลปะสูงแบบหนึ่ง ที่จำลองแบบปฏิมากรรมการแกะสลักภาพนูนต่ำจากนครวัด-นครธม
ประเทศกัมพูชา ตลอดจนจากปราสาทเขาพนมรุ้ง ประเทศไทย ที่ช่างขอมฝากฝีมือไว้
นำมาย่อส่วนสร้างเป็นพระพิมพ์นูนต่ำขนาดเล็ก โดยประยุกต์พระปฏิมากรรมกับสถาปัตยกรรมเข้าไว้ด้วยกันอย่างวิจิตรอลังการ
มีความคมลึก ชัดเจน ยากที่จะมีสมัยใดเทียบเท่าได้
อาณาจักรขอมโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชา
ขยายอำนาจเข้ามาครอบครองรัฐละโว้ รวมทั้งเมืองบิวารดั้งเดิม
ได้นำเอาศิลปะการสร้างเทวรูป-พระพุทธรูปเข้ามาด้วย
นำมาประยุกต์ใช้กับพระพิมพ์สมัยลพบุรี บรรจุกรุไว้สืบต่อพุทธศาสนาตามคติความเชื่อในสุวรรณภูมิ
คือประเทศไทยในปัจจุบัน
พุทธคุณ
ยอดเยี่ยมด้านแคล้วคลาด คงกระพัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น