วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระปฐมเทศนาปาละทวาราวดี กรุพงตึก กาญจนบุรี

 

พุทธลักษณะ ปางปฐมเทศนา(นั่งเมือง) ประทับนั่งบนพระแท่นห้อยพระบาทชันพระชานุ(เข่า)ขึ้น พระวรกายตั้งตรง พระเศียร(ศีรษะ)กลม มีประภามณฑลเป็นเส้นนูนรอบพระเศียร เหนือขึ้นไปเป็นร่มฉัตรกางปรกอยู่ พระเกศา(เส้นผม)รวบขึ้นเป็นมวยกลมพระเมาลี พระพักตร์(หน้า)รูปไข่ ปรากฏพระขนง(คิ้ว) พระเนตร(ตา) พระนาสิก(จมูก) และพระโอษฐ์(ปาก)รางๆ พระกรรณ(หู)ยาวเรียวรูปบายศรี พระศอแคบ ครองจีวรห่มคลุม พระพาหา(ต้นแขน)ขวาซ้ายทอดลงขนานลำพระองค์ พระกร(แขน)ขวายกขึ้น พระหัตถ์(มือ)หงายจีบพระดรรชนี(นิ้ว)ทาบพระอุระ(อก) พระกร(แขน)ซ้ายพับเข้าใน พระหัตถ์ประคองพระกรขวาอยู่ในลักษณะปฐมเทศนา ประทับบนพระแท่น ห้อยพระบาทประทับบนแท่นฐานเขียงครึ่งวงกลม ฐานล่างรูปกลีบบัวหงาย ผนังสองด้านข้างองค์พระ ส่วนล่างเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ขวั้นเป็นปล้องยอดแหลม ส่วนบนเป็นเสาสูงสองต้นกลึงเป็นปล้องหัวเสารูปกลีบบัวรองรับเจดีย์ขนาดเล็กยอดแหลม ทั้งหมดรวมอยู่ในกรอบรูปไข่ ภายในเส้นกรอบเป็นบัวเม็ดโดยรอบ
ด้านหลังผิวเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยอูมนูนตรงกลาง ตกแต่งลาดลงขอบกรอบข้างโดยรอบ

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย ดินเหนียว กรวดทราย ผงศิลาแรง บดกรองละเอียด น้ำอ้อยน้ำผึ้งเคี่ยวเหนียว ผสมโขลกตำเข้ากันเหนียวเป็นเนื้อเดียว ปั้นเป็นก้อน กดพิมพ์แบบ ผึ่งให้แห้ง เผาไฟอุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาเนื้อสีแดง ผิวเรียบ แข็งแกร่ง มีคราบไคลขี้กรุเป็นผงดินสีเทาดำเคลือบติดแน่นบนผิว ทำให้ผิวสีแดงกลายเป็นสีน้ำตาลอมดำทั้งองค์พระ
ขนาด ส่วนกว้างที่สุด 5 ซม. สูง 7.5 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวาราวดียุคต้น พุทธศตวรรษที่ 11 อายุ 1500 ปี พุทธปฏิมากรรมเป็นศิลปะทวาราวดีร่วมสมัยกับศิลปะปาละของอินเดีย ตามคติพุทธศาสนาเถรวาทที่แผ่เข้ามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระพิมพ์นี้สร้างโดยชาวพื้นเมือง ที่ใช้อักขระและภาษามอญในการสื่อสารโดยทั่วไป ครอบคลุมพื้นที่สุวรรณภูมิ บรรจุกรุไว้สืบต่อพระพุทธศาสนาเป็นอุเทสิกเจดีย์ เช่น พบที่ กรุพงตึก จังหวัดกาญจนบุรีในปัจจุบัน

พุทธคุณ แคล้วคลาด, คงกระพัน,มหาอุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น