วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระประธานสุโขทัย กรุอยุธยา

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย องค์พระประทับนั่งบนฐานชุกชีเป็นประธานภายในพระอุโบสถ พระวรกายมีพระอุระอวบใหญ่ผึ่งผาย พระอุทรเรียวคอดเป็นลอน พระเศียรกลม พระเกศาขมวดเป็นเม็ดพระศก พระเมาลีเป็นมวยเล็กแบน พระเกศายาวแหลมเป็นเปลวคดกริช พระพักตร์รูปไข่เรียบ ไม่ปรากฏพระขนง พระเนตร พระนาสิกและพระโอษฐ์ พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระศอแคบเป็นลอน ครองจีวรแนบเนื้อห่มเฉียง สังฆาฏิพาดยาวจรดพระนาภี พระพาหาทั้งสอง้างทอดลงขนานลำพระองค์พระกรหงายขึ้น พระหัตถ์วางคว่ำบนพระชานุในลักษณะเข่านอก พระกรซ้ายพับเข้าใน หงายพระหัตถ์บนพระเพลา พระชงฆ์ขวาพับเข้าในหงายพระบาทวางบนพระชงฆ์ซ้ายในลักษณะขัดสมาธิราบ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเป็นแท่นยกขึ้นสองชั้นบนพื้นอุโบสถ ด้านข้างทั้งสององค์ขององค์พระ เป็นเสากลมก่อด้วยศิลาแลงตั้งตรงสูงขึ้นไปลอยๆ โดยไม่มีหลังคาที่พังทลายไปหมดแล้ว ด้านหลังองค์พระเป็นฝาผนังแผ่นศิลาแลง ก่อสลับก้อนสูงขึ้นไปเช่นเดียวกับเสาศิลาแลง พื้นพระอุโบสถก่อศิลาแลงยกสูงขึ้นจากพื้นดิน มีบันไดสามขั้น ทั้งหมดอยู่ในกรอบพระพิมพ์รูปสี่เหลี่ยมยอดโค้งเป็นวงรี ขอบข้างทำให้กะเทาะดูเสมือนสภาพจริง การผุพังของฝาผนัง ด้านหลังพระพิมพ์ กดพิมพ์ด้วยแผ่นไม้ มีลายนิ้วมือปรับแต่งผิวให้แบนเรียบร้อย ปรากฏรูพรุนเข็มหมุดของกรวดทรายขนาดเล็กหลุดออกอยู่ทั่วไป แต่งขอบข้างบรรจบด้านหน้าบางเหมือนคมมีดได้พอดี ไม่มีการตัดขอบ

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย ดินเหนียวผสมกรวดทราย, ผงศิลาแลง, กรองละเอียด ว่าน108, ข้าวสุกเป็นตัวยึดมวลสาร โขลกตำผสมเป็นเนื้อเดียว ใส่น้ำนวดให้ข้นเหนียว ปั้นเป็นก้อน กดพิมพ์แบบ ผึ่งในร่มให้แห้ง เผาไฟอุณหภูมิ
1,000 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาเนื้อสีแดงส้ม แข็งแกร่ง ผิวขรุขระเล็กน้อย เนื้อหยาบ มีรูพรุนเข็มหมุดทั่วไป เกิดจากเม็ดแร่กรวดทรายถูกเผาละลายหลุดออกไป มีคราบไคลขี้กรุมากด้านหน้าเป็นผงหินปูนสีขาวติดผิว ชั้นบนเป็นผงดินหินปูนสีขาวติดผิว ชั้นบนเป็นผงดินโคลนสีเทาแห้งแล้วคลุมทับอีกชั้น
ขนาด กว้างฐาน 4.5 ซม. สูง 5 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ 21 อายุ 400 ปี เป็นศิลปะสร้างล้อศิลปะสุโขทัย ผู้สร้างเป็นชาวอยุธยา ที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวสุโขทัย ได้อพยพมาอาศัยอยู่ในพะนครศรีอยุธยา หลังจากรัฐสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง ได้ไปเห็นสภาพวัดวาอารามต่างๆในเมืองสุโขทัยขาดคนดูแลบำรุงรักษา กลายเป็นวัดร้างปรักหักพัง เหลือแต่องค์พระประธาน เสาและฝาผนัง จึงได้จำลองสภาพที่เห็นมาสร้างไว้ในพระพิมพ์เป็นหลักฐานคงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษา และจดจำสภาพในอดีต

พุทธคุณ คุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆ แคล้วคลาด ประดุจดังองค์พระประธานที่ยังคงดำรงอยู่จนปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น