วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระเชียงแสน ซุ้มเสมา กรุพะเยา

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย ลักษณะเข่าในเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะเชียงแสนยุคต้น องค์พระประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ยกสูงสี่ชั้น ชั้นกลางเป็นกลีบบัวสองชั้น องค์พระมีพระวรกาย(ร่างกาย)โปร่งเรียว พระเศียร(ศีรษะ)กลม พระเกศา(เส้นผม)เรียบ พระเมาลี(มวยผม)รวบขึ้นเป็นมวยสองชั้น พระเกศ(ยอดผม)รูปดอกบัวตูม ไม่มีไรพระศก(ไรผม) พระพักตร์(ใบหน้า)รูปไข่ ปรากฏพระเนตร(ตา) และพระนาสิก(จมูก)รางๆ พระกรรณ(หู)รูปบายศรียาวจรดพระอังสา(บ่า) พระศอ(คอ)ยาว พระอุระ(อก)นูนกว้าง ครองจีวรแนบเนื้อห่มเฉียง สังฆาฏิพาดยาวถึงพระนาภี(สะดือ)พระพาหา(แขน)ทั้งสองข้างทอดลงข้างลำพระองค์ พระหัตถ์(มือ)ขวาวางคว่ำบนพระชานุ(เข่า) พระหัตถ์(มือ)ซ้ายวางหงายบนพระเพลา(ตัก) พระชงฆ์(แข้ง)ขวาพับเข้าใน พระบาท(เท้า)วางหงายบนพระชงฆ์(แข้ง)ซ้ายลักษณะขัดสมาธิราบ องค์พระประทับนั่งภายในซุ้มเสมา ขอบซุ้มประดับด้วยใบพฤกษาเล็กๆ พระพิมพ์ไม่มีกรอบมีเนื้อล้นขอบข้างเล็กน้อย ด้านหลังผิวเรียบแต่งขอบข้างโค้งลงบรรจบขอบข้างด้านหน้า

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วย ดินเหนียวมีแร่กรวดทรายเล็กน้อย ผงศิลาแลง บดกรองละเอียด น้ำอ้อย น้ำผึ้งเคี่ยวเหนียว ผสมโขลกตำเข้ากันเป็นเนื้อเดียวเหนียว ปั้นเป็นก้อน กดพิมพ์แบบ ตากแห้ง เผาไฟอุณหภูมิ 1,300 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีผิวไผ่รวกแห้ง แข็งแกร่ง ผิวเรียบ มีแร่ดอกมะขามลอยขึ้นบนผิว มีคราบไคลขี้กรุเป็นผงดินโคลนแห้งสีเทาเคลือบบนผิวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ขนาด กว้างฐาน 2.5 ซม. สูง 4.5 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์ดินเผาสกุลเชียงแสนยุคต้น พุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 1,000 ปี พะเยาเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเชียงแสนเมื่อเร็วๆนี้มีการพบกรุพะเยาในบริเวณวัดร้างรอบๆขอบกว้านพะเยา พระที่พบเป็นเนื้อดิน มีทั้งสีดำ สีหม้อใหม่ สีพิกุล ผู้สร้างคือชาวเมืองพะเยาที่ได้รับการถ่ายทอดสร้างพระพิมพ์จากเขียงแสน บรรจุกรุตามวัดต่างๆ สืบต่อพระศาสนาเป็นเวลายาวนาน จนค้นพบได้ในปัจจุบัน

พุทธคุณ พระเครื่องสกุลเชียงแสน มีพุทธคุณสูงในด้านอำนวยโชคลาภ คงกระพันชาตรี มหาอุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น