วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระนางจามเทวีทรงเครื่อง กรุวัดมหาวัน ลำพูน

 

 

พุทธลักษณะ พระนางประทับบนพื้นคุกเข่าซ้ายข้างเดียว พระหัตถ์(มือ)ทั้งสองข้างยกขึ้นหงายไปข้างหน้าเสมอพระอุระ(อก)ในท่าห้ามสมุทร พระวรกายอวบอิ่มสมบูรณ์ พระเศียร(ศีรษะ)สวมมงกุฎมียอดเป็นกรวยสองชั้นปลายมน พระกรรณ(หู)สวมกรรเจียกจอนห้อยพระกุณฑล(ต่างหู)ยาวพาดพระอังสา(บ่า) พระพักตร์(หน้า)ทรงกระบอกรูปกลอง พระนลาฏ(หน้าผาก)กว้าง พระขนง(คิ้ว)โค้งยาวติดกัน พระเนตร(ตา)โปน พระนาสิก(จมูก)โด่งเป็นสัน พระโอษฐ์(ปาก)หนายิ้มเล็กน้อย พระหนุ(คาง)แคบ พระปราง(แก้ม)เรียว สวมทับทรวงเหนือพระอุระ(อก) ทรงภูษาหุ้มพระถัน(เต้านม)ยกขึ้นเป็นลอน เปิดอุทรพระนาภีบุ๋ม ทรงพระสบงตั้งแต่พระโสณีลงไปมีผ้ารัดพระกฤษฎีทิ้งชายชายผ้าลงด้านหน้า พระชงฆ์(แข้ง)ขวายกพระชานุ(เข่า)ชันขึ้น พระบาท(เท้า)เหยียบบนพื้น พระชงฆ์(แข้ง)และพระบาท(เท้า)ซ้ายพับยกขึ้นไปด้านหลัง พิมพ์พระลอยองค์ไม่มีกรอบ ด้านหลังเรียบอูมนูน มีลายนิ้วมือกดแต่งลางๆโค้งลงบรรจบขอบด้านหน้า มีร่องเป็นรางยาวกดด้วยไม้เหลารูปทรงกระบอก

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมประกอบด้วยดินเหนียว กรวดทราย ผงศิลาแลง บดกรองละเอียด น้ำอ้อย น้ำผึ้งเคี่ยวเหนียวผสมโขลกตำเข้ากันเป็นเนื้อเดียวเหนียว ปั้นเป็นก้อนกดพิมพ์แบบ เผาไฟอุณหภูมิ 1,300 องศาเซลเซียส ได้พิมพ์พระดินเผาสีสวาท หยาบเล็กน้อย เนื้อแกร่ง แร่ละลายเป็นจุดสีดำ มีคราบไคลขี้กรุ เป็นฝ้าผงดินสีเทาบางๆ เคลือบผิวตามซอกลึก ถ้าเผาไฟอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียสได้ดินเผาสีน้ำตาลอมดำ มีฝ้าสีน้ำตาลแดงกระจายบนผิวเป็นหย่อมๆ
องค์สีสวาท ขนาดฐานกว้าง 2.5 ซม. สูง 6 ซม.
องค์สีน้ำตาล ขนาดฐานกว้าง 2 ซม. สูง 5.5 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและสมัยผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์พระนางจามเทวีปฐมกษัตรี รัฐหริภุญชัยนคร ครองราชย์เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 13 อายุ 1,300 ปี พิมพ์พระนี้สร้างเป็นศิลปะหริภุญชัยยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 16 อายุ 1,000 ปี ได้ประยุกต์ฝีมือช่างรวมกัน กลายเป็นพิมพ์พระที่มีศิลปะสูงแบบหนึ่งผสมศิลปะลพบุรี เรียกว่า “ละโว้หริภุญชัย” ผู้สร้างคือชาวมอญโบราณแห่งรัฐหริภุญชัยนคร ที่รับเอาศิลปะลพบุรีเข้าผสมผสาน เพื่อระลึกถึงปฐมกษัตรีพระองค์นั้น และนั่นก็เป็นประจักษ์พยาน แสดงให้รู้ว่า พระนางจามเทวีปฐมกษัตรีรัฐหริภุญชัยนครมีตัวตนจริง

พุทธคุณ พระนางจามเทวี เป็นหญิงชาตินักรบ ดังนั้นพุทธคุณจึงสูงด้าน คงกระพัน มหาอุดแคล้วคลาดสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น