วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระสมเด็จวัดระฆังฯ แป้งโรยพิมพ์

พระสมเด็จวัดระฆังฯ แป้งโรยพิมพ์


  
      พิมพ์ใหญ่                       พิมพ์ทรงเจดีย์

 
 พิมพ์เกศบัวตูม                   พิมพ์ปรกโพธิ์     
                            

แป้งโรยพิมพ์ มีลักษณะเป็นฝ้านวลดุจนวลตอง ฉาบอยู่บนผิวเนื้อสำหรับประเภทเนื้อหนึกนุ่ม ความหนาบางต่างกันตามระดับความนุ่มของเนื้อ สำหรับเนื้อที่นุ่มจัดและแห้งสนิท จะปรากฏฝ้านวลหนามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณซอกต่างๆแป้งโรยพิมพ์มีปรากฏทั้งของวัดระฆังและบางขุนพรหม

แป้งโรยพิมพ์ เชื่อกันว่าเป็นผงแป้งที่ใช้โรยแม่พิมพ์ เพื่อให้เนื้อล่อนไม่ติดพิมพ์ในขณะถอดพระ ซึ่งทำให้เนื้อพระประทับเอาผงแป้งติดมาด้วย ถ้าหากว่าแป้งที่โรยไว้มากและเนื้อพระค่อนข้างเหลว ก็จะทำให้เกิดเป็นแป้งโรยพิมพ์ชนิดผิวฟู แต่ถ้าเป็นเนื้อหมาดก็จะติดผงแป้งพอสมควร จัดเป็นผิวแป้งโรยพิมพ์ธรรมดาที่กอรปด้วยผิวแป้งค่อนข้างหนา แต่ถ้าหากเป็นเนื้อค่อนข้างเหลวเล็กน้อย และใช้แป้งโรยพิมพ์น้อยผิวเนื้อพระด้านหน้าจะไม่ปรากฏเป็นผิวแป้ง แต่จะมีวรรณะขาวผุดผ่องกว่าผิวด้านอื่นๆ ในประการสุดท้ายถ้าหากเป็นเนื้อค่อนข้างหมาด ก็จะติดผงแป้งขึ้นมาหนาหรือบางแล้วแต่ปริมาณแป้งและระดับความหมาดของเนื้อ

ริ้วรอยธรรมชาติด้านหลัง

 
พิมพ์ใหญ่                        พิมพ์ทรงเจดีย์



 พิมพ์เกศบัวตูม                     พิมพ์ปรกโพธิ์ 


ริ้วรอยธรรมชาติด้านหลัง ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น 8 ประการ
  1. รูพรุนปลายเข็ม มีลักษณะเป็นรูเล็กๆขนาดปลายเข็ม อาจปรากฏอยู่โดยทั่วไปตลอดด้านหลังโดยไม่จำกัดบริเวณ เกิดมากบ้างน้อยบ้างต่างๆกันไปเป็นบางองค์ กล่าวคือ จะมีการคายอ๊อกซิเจนหรือฟองอากาศออกมาปุดๆ ในขณะที่เนื้อยังเป็นของเหลว ซึ่งเรียกว่า “ปฏิกิริยาปูนเดือด” ฟองอากาศพยายามผุดและลอยหนีออกจากผิวเนื้อขณะที่ยังเหลว พอพ้นจากผิวเนื้อจึงทำให้เกิดเป็นรูเล็กๆ
  2. รอยปูไต่ เป็นร่องรอยอีกชนิดหนึ่งที่แตกต่างไปจากรูพรุนปลายเข็มคือมิได้เกิดจากภายในออกมาสู่ภายนอกแต่มีลักษณะเป็นรอยย้ำหรือสักจากภายนอกลงไปในเนื้อมีสัณฐานเขื่องกว่ารูพรุนปลายเข็มและเป็นรูคู่ คือ สองรูเคียงกันและเดินเกาะคู่เป็นแนวทางไป คล้ายๆจะเป็นรอยทางเดินของแมลงอะไรสักชนิดหนึ่ง     รอยปูไต่นี้ถ้าปรากฏสำหรับพระสมเด็จฯองค์ใดก็จะเป็นเครื่องช่วยในการพิจารณาตัดสินยืนยันในความแท้จริงได้เป็นอย่างดี
  3. รอยหนอนด้น ลักษณะโดยทั่วไปทำนองเดียวกับรอยปูไต่นั่นเองแต่แทนที่จะเป็นรอยคู่ กลับเป็นรอยเดี่ยว มีขนาดสัณฐานกว้างและลึกกว่ารอยปูไต่เล็กน้อย มีลีลาเป็นแนวทางเดินเช่นเดียวกัน บางองค์จะปรากฏเป็นแนวทางโค้งๆ จัดว่าเป็นริ้วรอยธรรมชาติ
  4. รอยย่นตะไคร่น้ำหรือฟองเต้าหู้ เป็นรอยย่นของผิวเนื้อโดยทั่วไปตลอดด้านหลัง หรือเป็นบางตอน ฯลฯ
  5. รอยกาบหมาก มีลักษณะเป็นริ้วรอยธรรมชาติคล้ายคลึงกับรอยย่นตะไคร่น้ำ สันนิษฐานว่าเกิดจากกรรมวิธีการสร้างขณะที่ถอดพระออกจากแม่พิมพ์และตัดกรอบแล้ว คงจะได้วางพระไว้บนแผ่นกาบหมากเพื่อผึ่งลมให้แห้ง
  6. รอยสังขยา มีสัณฐานมีลักษณะเป็นวงๆ ซึ่งมีเส้นรอบวงหยักคดเคี้ยวไปตามธรรมชาติ ปรากฏตอนบริเวณย่านกลางๆของพื้นที่ด้านหลัง ริ้วรอยย่นซ้อนกันของเนื้อคล้ายกับผิวน้ำเป็นพริ้วระลอกวงกลมกระจายออกจากส่วนกลาง
  7. รอยลายนิ้วมือ เป็นร่องลอยของลายหัวแม่มือของผู้กดพิมพ์พระในกรรมวิธีการสร้างนั่นเอง
  8. รอยริ้วระแหง นอกจากริ้วรอยธรรมชาติต่างๆแล้ว ยังมีริ้วรอยอีกชนิดหนึ่งที่มีปรากฏค่อนข้างหนาตาคือได้แก่ รอยริ้วระแหง
ริ้วรอยสัญลักษณ์ 8 ประการนี้ อาจมีปรากฏมากน้อยต่างๆกันไปชัดเจนบ้างรางเลือนบ้าง มีปรากฏเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดปะปนกัน หรือด้านหลังมีลักษณะค่อนข้างราบเรียบ เกือบจะสังเกตไม่ได้ว่ามีริ้วรอยธรรมชาติประการใด 

ที่มา: คัดลอกจากหนังสือ "ปริอรรถาธิบาย แห่งพระเครื่องฯ เล่มหนึ่ง พระสมเด็จ” ของ ตรียัมปวาย พิมพ์ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๒๐


พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์อื่นๆ





วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ การแตกลายงา การแตกลายสังกะโลก และการลงรักเก่าทองเก่า


พระสมเด็จวัดระฆังฯ การแตกลายงา การแตกลายสังกะโลก และการลงรักเก่าทองเก่า


การแตกลายงา

“...เนื้อประเภทหนึกแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อขนมตุ้บตั้บ เมื่อแตกลายงาแล้ว จะส่งผลทางสุนทรียะอันทรงคุณค่ายิ่ง การพิจารณาเนื้อแตกลายงาที่มีความซึ้งจัดๆ ย่อมจะเกิดสุนทรียะแก่จิตใจ ทำนองเดียวกับการพิจารณาลายไม้ เช่น ประดู่ลาย ปุ่มมะค่า และไม้สักลาย หรือลายหินอ่อน อันสลับซับซ้อน ฉะนั้นเนื้อขนมตุ้บตั๊บที่แตกลายงา จะมีค่าสุนทรียะอย่างสูงในระดับเดียวกับ เนื้อกระแจะจันทน์ ที่มีผิวแป้งโรยพิมพ์นั่นเทียว...”

 
การแตกลายงา


การแตกลายสังกะโลก

“...มีความงดงามในอันดับรองลงมาจากการแตกลายงา ในประเภทเนื้อหนึกแกร่งด้วยกัน เพราะช่วยให้เกิดความซึ้งมากกว่าเนื้อประเภทหนึกแกร่งที่ไม่มีลวดลายเรขาประเภทนี้...”


 
การแตกลายสังกะโลก

การลงรักเก่าทองเก่า

“...วรรณะเก่าเลือดหมูหม่นแห้งๆหรือดำแห้งๆและวรรณะเปลวทอง อันหม่นแห้งซึ้งรำไรๆอยู่ตามซอกต่างๆของพระ ย่อมส่งลักษณะความเป็นโบราณวัตถุให้ชัดขึ้นเป็นอเนกประการ สำหรับประเภทเนื้อหนึกนุ่มนั้น บริเวณที่รักเก่าหลุดร่อนออก จะปรากฏความนุ่มของเนื้ออย่างจัดมีวรรณะเหลืองหม่น สลับกับผิวนวลบางๆ จัดเป็นสุนทรียะที่เทียบได้กับการแตกลายงา...” 

  

 
การลงรักเก่าทองเก่า

ที่มา: คัดลอกจากหนังสือ "ปริอรรถาธิบาย แห่งพระเครื่องฯ เล่มหนึ่ง พระสมเด็จ” ของ ตรียัมปวาย พิมพ์ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๒๐, หน้า๕๙๖-๕๙๗ (ห้วข้อ ซ. การแตกลายงา ฌ. การแตกสังกะโลก ญ. การลงรักเก่าทองเก่า)


พระสมเด็จฯมีจำนวนพอสมควรทีเดียว ที่ได้รับการลงรักเก่าทองเก่า หรือลงรักเก่าไม่ได้ปิดทอง หรือปิดทองอย่างเดียวไม่ลงรัก คำว่า “รักเก่าทองเก่า” หมายความว่า เป็นรักและทองที่ปิดลงมาแต่ดั้งเดิม หรือในสมัยใกล้เคียงการสร้าง อนึ่งรักเก่าทองเก่า มีเฉพาะของวัดระฆังฯ ส่วนบางขุนพรหมมีเฉพาะทองเก่า หรือทองกรุเท่านั้น

ก. มูลกรณีการลงรักเก่าทองเก่า สืบเนื่องมาจากคตินิยมแต่โบราณ ในการลงรักปิดทองพระพุทธประติมากรรม โดยถือว่าเป็นงานขั้นสุดท้ายของกรรมวิธีการสร้างพระ ตามอุดมคติที่ว่า พระพุทธฉวีมีวรรณะผุดผ่องดังสุวรรณชมภูนุท เมื่อเจ้าประคุณฯไดรับการถวายกัณฑ์เทศน์เป็นทองเปลวมาจากชาวบ้านถนนตีทองและที่อื่นๆ ท่านจึงได้ดำริการลงรักปิดทองพระสมเด็จฯของท่านขึ้น โดยมิได้กำหนดว่าจะปิดเฉพาะองค์เพื่อให้เป็นคะแนนแต่ประการใด คงปิดไปตามจำนวนแผ่นทองเปลวที่ได้รับมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น และต่อมาคงจะมีผู้ปฏิบัติตาม เมื่อได้รับพระสมเด็จฯมาก็ลงรักปิดทองกันเอง


ข. การทดสอบรักเก่าทองเก่า เป็นการใช้จักษุสัมผัส ประกอบกรรมวิธีลอกรักเก่า

มูลลักษณะของรักเก่า โดยทั่วไป รักเก่ามีอยู่ ๒ ชนิด ซึ่งมีลักษณะต่างกัน คือ

ก) รักเก่าน้ำเกลี้ยง เป็นรักเก่าดั้งเดิม ซึ่งเข้าใจว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ลงไว้ตั้งแต่การสร้าง การปรากฏตัวของรักเก่าชนิดนี้ จะต้องมีทองเก่าฉาบไว้อยู่ข้างหน้าเสมอ เป็นการลงรักปิดทองที่เรียกว่า “รักเก่าทองเก่า” เนื้อรักมีสัณฐานเป็นแผ่นบางๆ ลักษณะแห้งเกราะหรือหลุดร่วนหมดยางเหนียวมีวรรณะดำแกมเลือดหมู หรือ ดำแกมน้ำตาลไหม้ แต่เป็นวรรณะแห้งๆซีดๆไม่สดใส รักชนิดนี้อาจจะเรียกต่างๆกันไปว่า “รักสีเลือดหมู” หรือ “รักแดง” (ความจริงไม่ใช่สีแดง) เนื่องจากความเหนียวแน่นมีน้อยมาแต่เดิม และสัณฐานบาง รวมทั้งมีอายุเก่าแก่จึงอาจหลุดลุ่ยออกมาจากผิวเนื้อเป็นหย่อมๆ รักชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดการแตกลายงาอย่างจัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับที่เกิดกับประเภทเนื้อหนึกนุ่มด้วยแล้ว เกือบจะไม่แตกลายงาเลย แต่ถ้าเป็นประเภทเนื้อหนึกแกร่งจะเกิดการแตกลายงา ซึ่ง ร่องเรขารักจะมีเศษรักเก่าวรรณะดำแกมเลือดหมูคล้ำซีดๆฝังอยู่และเป็นเส้นที่เรียวเล็กมาก

ข) รักเก่าน้ำดำ เข้าใจว่าจะเป็นรักเก่าที่ลงในระยะการสร้างเช่นเดียวกับรักเก่าน้ำเกลี้ยง และมีอายุเก่าแก่เช่นเดียวกัน จึงมีวรรณะซีดและแห้ง แต่ถ้าใช้ใบมีดโกนปาดผิวหน้าออกเพียงเล็กน้อย จะปรากฏว่าวรรณะที่ถัดลงไปดำสนิทและขึ้นมัน เช่นเดียวกับรักใหม่ เพราะมีสัณฐานหนาและเนื้อรักยังสดหรือเหนียวอยู่บ้างและลึกลงไปบริเวณที่แนบกับผิวเนื้อพระ จะมีวรรณะแกมเลือดหมูหรือน้ำตาลไหม้เล็กน้อยและค่อนข้างสด รักเก่าชนิดนี้ช่วยให้เนื้อแตกลายงาได้งดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นประเภทเนื้อหนึกแกร่ง จะเกิดลายงาอย่างจัดที่สุด สำหรับประเภทเนื้อหนึกนุ่มจะเกิดลายงาพอสมควร ลายงาของรักชนิดนี้จะมีเนื้อรักฝังแน่นอยู่ เป็นร่องเรขารักที่ลึกและเส้นเขื่องกว่าชนิดแรก และวรรณะของร่องเรขารักเป็นดำแกมเลือดหมูค่อนข้างสดเข้ม รอยแตกระแหงอื่นๆ หรือแอ่งเล็กๆน้อยๆบนผิวเนื้อจะมีเนื้อรักฝังอยู่โดยทั่วไปและบนผิวเนื้อบางตอนที่แผ่นรักร่อนหลุดออกแล้ว (หรือถูกฝานออก) แต่ยังมีคราบรักตอนล่างที่แนบเนื้อพระเป็นปื้นบางๆ การร่อนของรักชนิดนี้มีลักษณะหลุดออกมาเป็นแว่นๆตรงบริเวณที่ลงไว้บางๆ ไม่มีลักษณะหลุดร่อนเช่นลักษณะเก่าน้ำเกลี้ยง และส่วนใหญ่จะไม่ร่อนออกเอง ต้องใช้ลอกหรือสะกิดออกและก็จะหลุดออกจากผิวเนื้อไม่หมดเกลี้ยงเกลาเหมือนรักน้ำเกลี้ยง หากมีเศษติดอยู่ตามผิวเนื้อวรรณะเลือดหมูเข้มสดหรือใกล้วรรณะดำ

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์อื่นๆ