วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระกำแพงพระร่วงยืนประทานพร เนื้อดิน กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

 

พระกำแพงพระร่วงยืนประทานพร เนื้อดิน กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

พระกำแพงพระร่วงที่พบจากกรุเมืองกำแพงเพชร ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งทุ่งเศรษฐีหรือจากฝั่งจังหวัดปัจจุบันก็ตาม มีทั้งพิมพ์พระร่วงนั่งและพิมพ์พระร่วงยืน มักจะสร้างตามแบบศิลปะลพบุรี และที่เป็นแบบของำแพงเพชรเองโดยเฉพาะก็มีเช่นกัน พ.ศ.1900 พระมหาธรรมราชาลิไทให้ความรุ่งโรจน์แก่กำแพงเพชรจนเป็นนครแห่งธรรม ศิลปะในเวลานั้นจึงรุ่งเรืองตามมาทั้งพระพุทธรูป พระเครื่อง เป็นการสร้างปฏิมากรรมโดยช่างเมืองกำแพงเพชร มีทั้งดินผสมว่าน ชินเงิน เป็นส่วนมาก โดยเฉพาะพระกำแพงพระร่วงนั้น พิมพ์พระร่วงนั่งจะมีจำนวนมากกว่าพิมพ์พระร่วงยืนอย่างเทียบกันไม่ได้ พิมพ์พระร่วงยืนจงหายากแทบจะไม่พบเจอเลยในวงการปัจจุบัน

พุทธลักษณะ
1.พระพุทธปฏิมาประทับยืนปางประทานพรภายในซุ้มเรือนแก้ว ยอดซุ้มเป็นกระจังลายกนก ทรงเครื่องดุจจอมกษัตริย์โบราณ พระเศียรทรงเทริดแบบจีโบ พระพักตร์รูปไข่เคร่งขรึมดุดัน พระขนงเป็นเส้นหนานูนโค้งติดกันเป็นรูปนกบิน พระเนตรดั่งเมล็ดงา พระนาสิใหญ่กว้างป้าน พระโอษฐ์หนาเม้มติดกัน พระหนุมน พระกรรณแนบพระปรางยาวจรดพระอังสา พระศอเป็นร่องตื้นแคบ
2.พระอังสาใหญ่กว้างโค้ง พระอุระเป็นลอนกล้าม พระอุทรผายออกอวบนูน พระกฤษฎีเว้าคอด พระนาภีบุ๋ม ครองพระจีวรแนบเนื้อห่มคลุม เส้นกรองพระศอเรียวนูนวิ่งเป็นเส้นครึ่งวงกลมจากพระอังสาซ้ายไปพระอังสาขวา
3.พระพาหาซ้ายทอดอ่อนช้อยลงข้างลำพระองค์ หงายพระหัตถ์ดิ่งลงลอดชายพระจีวร พระพาหาขวาทอดลงข้างลำพระองค์กางออเล็กน้อย หักพระกัประยกพระกรเฉียงขึ้น หงายพระหัตถ์แนบปิดพระถัน ส่วนปลายพระกัประมีชายพระจีวรเป็นเนื้อนูนรูปสามเหลี่ยม ส่วนปลายเส้นย้อยลงเป็นเส้นนูนขอบพระจีวร
4.พระโสณีอวบกว้างสอดรับกับพระอุทรอย่างกลมกลืนสวยงามยิ่ง พระชงฆ์เรียวลงจนถึงข้อพระบาท ครองพระสบงยาวลงคลุมถึงกลางพระชงฆ์ ชายพระสบงจึงเป็นสามจีบ พระประคดเอวเป็นเส้นขนานสามเส้นปลายทอดโค้งรัดรูป ด้านหน้ากลางพระประคดเอวประดับด้วยตาบทิพย์ดังหัวเข็มขัด พระจีวรคลุมพระองค์เป็นเส้นนูนสองเส้นแสดงชายพระจีวรแผ่กว้างอยู่ด้านประปฤษฎางค์ ส่วนแรกอยู่ระดับพระชานุ จับจีบตั้งแต่ตาบทิพย์ลงมาตั้งแต่ระหว่างพระอุระ ส่วนที่สองเป็นเส้นขอบพระจีวรส่วนหลัง คลุมทิ้งชายลงมาจากพระกัประขวาและปลายพระหัตถ์ซ้าย ชายพระจีวรยาวลงถึงชายพระสบง
5.องค์พระปฏิมาประทับยืนตรงบนฐานฝักบัวกลมชั้นเดียว พระบาทแนบชิด ยื่นไปข้างหน้าประดิษฐานอยู่ภายในกรอบคู่ขนาน ปลายยอดเรียวแหลมรูปปลายหอก ส่วนล่างกรอบโค้งครึ่งวงกลม ด้านหลังพระพิมพ์ผิวเรียบเป็นคลื่นจากการตกแต่ง

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระกำแพงพระร่วงยืน เป็นพระเครื่องสมัยสุโขทัยยุคกลางขึ้นที่กรุทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชรแบบศิลปะลพบุรี ที่มีต้นแบบจากพระร่วงยืนปางประทานพร หลังรางปืน ชินสนิมแดง ศิลปะลพบุรี ขึ้นที่สวรรคโลก สุโขทัย สร้างโดยปฏิมากรสกุลกำแพงเพชร เป็นการสร้างล้อแบบศิลปะที่มีก่อนหน้า เพื่อสืบต่อเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีอยู่จริง มิใช่สูญหายไปตามกาลเวลา ดังนั้นพระพิมพ์ที่สร้างล้อแบบจึงมักจะมีจำนวนน้อยมาก เพราะไม่ใช่ศิลปะของสุโขทัยเอง สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 20 อายุ 600 กว่าปี

วัสดุใช้สร้าง
พระกำแพงพระร่วงยืน เนื้อดิน ดินละเอียดพื้นถิ่นมีแร่ดอกมะขามผสมอยู่ตามธรรมชาติ บดกรองเอาเม็ดกรวดแร่ผลึกใหญ่ออก ผสมผงว่าน และน้ำนวดให้ข้นเหนียวเป็นเนื้อเดียวเหมือนดินน้ำมัน แบ่งเป็นก้อนพอเหมาะ ใส่ลงเบ้าแม่พิมพ์ กดคลึงให้แน่นเต็มพิมพ์ ถอดออกตากให้แห้งรวบรวมไว้ในภาชนะ เข้าเตาอบเผาไฟอุณหภูมิสูง ได้พระพิมพ์ดินเผา สีแดงอิฐ แข็งแกร่ง ผิวเนียน แร่ดอกมะขามละลายเป็นจุดสีแดงๆเล็กๆบนผิว และผลึกเม็ดกรวดแร่บ้างเล็กน้อย ขี้กรุเป็นผงดินสีเหลืองนวล ฉาบติดผิวตามซอกลึก
ขนาดกว้าง 4 ซม. สูง 14 ซม. หนา 0.8-1.5 ซม.

พุทธคุณ
พระพิมพ์ดินเผาที่มีเนื้อละเอียด มีพุทธคุณทางเมตตา ปราณีสูง เมื่อเป็นพระเครื่องขึ้นที่ทุ่งเศรษฐี แน่นอนต้องมีพุทธคุณทางโชคลาภ และมีทรัพย์สิน เงินทองดุจดังมหาเศรษฐี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น