วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระกำแพงพระร่วงยืนประทานพร ว่านหน้าเงิน กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

 

พระกำแพงพระร่วงยืนประทานพร ว่านหน้าเงิน กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

พระกำแพงพระร่วงที่พบจากกรุเมืองกำแพงเพชร มีทั้งพิมพ์พระร่วงนั่ง และพระร่วงยืน มักจะสร้างตามแบบศิลปะลพบุรี พ.ศ. 1900 พระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงองค์ที่ 5 ครองกรุงสุโขทัย เสด็จมายังเมืองกำแพงเพชร ได้สถาปนาพระบรมธาตุและให้ความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาจนเป็นนครธรรม ทำให้มีการสร้างสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูป และพระเครื่อง โดยช่างชาวกำแพงเพชร โดยเฉพาะพระพิมพ์มีทั้งเนื้อดินผสมว่านและเนื้อโลหะชินเงิน รวมทั้งว่านหน้าเงิน ว่านหน้าทอง แต่ทองคำเป็นโลหะมีค่ามาก พระพิมพ์ว่านหน้าทอง จึงถูกแกะเอาโลหะทอง แต่ทองคำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่มีค่ามากกว่า พระพิมพ์ว่านหน้าทองจึงสูญหายไปหมดเหลือเพียงพระพิมพ์ว่านหน้าเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้กระนั้น ก็ยังไม่พบเห็นในวงการพระเครื่องได้ง่ายนักในปัจจุบัน

พุทธลักษณะ
1. องค์พระปฏิมาประทับยืน ปางประธานพรภายในซุ้มเรือนแก้วยอดซุ้มเป็นกระจังลายกนก ทรงเครื่องจอมกษัตริย์โบราณ พระเศียรทรงเทริดแบบจีโบ พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม เคร่งขรึมก้มลงเล็กน้อย พระขนงเป็นเส้นโค้งติดกันเชื่อมคิดกับสันพระนาสิกที่โค้งสอดรับ พระเนตรรูปเม็ดงา พระโอษฐ์หนาเม้มติดกัน พระปรางอวบพองามพระหนุสอบแหลม พระกรรณแนบพระปรางยาวจรดพระอังสา พระศอตื้นเป็นร่องแคบ
2.พระอังสาเป็นเนื้อนูนโค้งรับกับพระอุระที่อูมนูนแบบนักกล้ามแล้วเรียวลงมายังพระ ปรัศว์ที่เว้าคอด พระอุทรอวบพอง พระนาภีบุ๋มลง ครองพระจีวรแนบเนื้อห่มคลุมทั้งองค์ เส้นกรอบพระศอเรียวนูน จึงเป็นเส้นครึ่งวงกลมจากพระอังสาซ้ายไปพระอังสาขวา
3.พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างลำพระองค์ พระกรซ้ายทอดลง แอ่นโค้งตามพระโสณี หงายพระหัตถ์แผ่พระดรรชนีชี้ลง หักพระกัประยกพระกรขวาเฉียงขึ้น หงายพระหัตถ์แนบปิดพระถัน พระโสณีผายออกสอดรับพระอุทรอย่างกลมกลืน พระอุระเป็นลำคู่ขนาน พระชงฆ์เรียวลงจนถึงข้อพระบาท ครองพระสบงจับจีบระหว่างพระอุระยาวลงคลุมถึงข้อพระบาท พระประคดเอวเป็นเส้นนูนเล็กสามเส้นขนานกัน ปลายทอดโค้งรัดรูป หัวพระหระคดรูปทรงกลม พระจีวรคลุมพระองค์ ชายพระจีวรเป็นเส้นนูนสามเส้นแผ่กว้างเป็นแผ่นเดียวข้างลำพระองค์ ส่วนแรกคลุมปิดด้านหน้ายาวลงมาถึงกลางพระปาน ส่วนที่สองคลุมปิดด้านหลังทิ้งชายลงมาจากพระกัประขวาและปลายพระหัตถ์ซ้ายยาวลงถึงชายพระสบง
4.องค์พระปฏิมาสร้างเป็นปฏิมากรรมนูนต่ำ ประทับยืนบนฐานฝักบัวชั้นเดียว พระบาทแนบชิดยื่นไปข้างหน้า ประดิษฐานภายในกรอบของคู่ขนาน ส่วนปลายโค้งยอดแหลมรูปใบหอก ฐานล่างตัดตรง ด้านหลังพระพิมพ์แบนเสมอกัน ผิวขรุขระจากมวลสาร

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระกำแพงว่านหน้าเงิน เป็นพระเครื่องสมัยสุโขทัยยุคกลาง พบจากรุทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร แบบศิลปะลพบุรี มีต้นแบบจากพระร่วงยืนปางประทานพร หลังรางปืน ชินสนิมแดง ศิลปะลพบุรี ขึ้นที่สวรรคโลก สุโขทัย พระว่านหน้าเงิน สร้างโดยปฏิมากรชาวกำแพงเพชร เป็นการสร้างล้อแบบศิลปะลพบุรี ที่มีมาก่อนหน้าศิลปะสุโขทัย มิใช่การสร้างเลียนแบบ แต่เป็นการสร้างเพื่อให้เกียรติ์ ยกย่อง ในฐานะศิลปะรุ่นพี่ที่มีความสวยงาม อลังการยอดเยี่ยมแบบหนึ่ง ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ พระพิมพ์ว่านหน้าเงินนี้ สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 อายุราว 600 ปี นับว่าเป็นวัตถุโบราณที่ต้องอนุรักษ์ไว้

วัสดุใช้สร้าง
พระกำแพงว่านหน้าเงิน วัสดุใช้สร้างมีสองส่วน ส่วนแรกคือโลหะเงินบริสุทธิ์ รีดเป็นแผ่นบางเท่าแผ่นกระดาษ  ตัดให้เป็นรูปพอดีกับเบ้าแม่พิมพ์ เพื่อให้มีความหนาขอบข้างไว้ด้วย บรรจุวางแผ่นลง ปิดเบ้าแม่พิมพ์  ใช้เครื่องมือค่อยๆกดย้ำลงบนแผ่นเงินอย่างประณีต ให้ลงไปในร่องแม่พิมพ์จนแนบเนื้อเป็นรูปร่างเหมือนแม่พิมพ์ทุกประการ ทิ้งไว้ในแม่พิมพ์ยังไม่ต้องแกะออก ส่วนที่สองเป็นเนื้อว่านหลากหลายชนิดมีคุณวิเศษตามตำราโบราณ บดโขลกละเอียดเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว นวดให้ข้นเหนียวเป็นยาง แบ่งออกปั้นเป็นก้อนพอเหมาะ ใส่ลงในแม่พิมพ์ที่มีแผ่นเงินรองอยู่ให้เต็ม กดคลึงให้แน่นเต็มพิมพ์ ถอดออกจากแม่พิมพ์ตากให้แห้ง แต่งขอบข้างโดยให้แผ่นเงินพับหุ้มเนื้อว่านเป็นสันขอบความหนาของพระพิมพ์ สำเร็จแล้วได้พระพิมพ์ว่านหน้าเงิน รวบรวมเข้าพิธีพุทธาภิเษก และบรรจุกรุในอันดับต่อไป ในสมัยหลังๆฟต่อมาเมื่อเปิดกรุ พบพระว่านหน้าเงิน ด้วยกาลเวลาอันยาวนาน แผ่นหน้าเงินจะเกิดสนิมสีดำ และขี้กรุเดขึ้นกับเนื้อว่านด้านหลัง เป็นผงดินแห้งสีเทาปกคลุมติดเต็มผิวเนื้อว่าน
ขนาดฐานกว้าง 2 ซม. สูง 7 ซม. หนาสันขอบ 0.3-0.3 ซม.

พุทธคุณ
เมตตามหานิยม มีเสน่ห์ แคล้วคลาดและโชคลาภ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น