วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เหรียญเต่าพระครูธรรมาภิมณฑ์ (หลวงพ่อเลี้ยง) วัดพานิชธรรมิการาม ตำบลหนองเต่า อำเภอบ้านหมี่ ลพบุรี ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐

 

เหรียญเต่าพระครูธรรมาภิมณฑ์ (หลวงพ่อเลี้ยง) วัดพานิชธรรมิการาม (วัดหนองเต่า) ตำบลหนองเต่า อำเภอบ้านหมี่ ลพบุรี ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐

หลวงปู่เลี้ยง พระเกจิอาจารย์บ้านหนองเต่า

เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้านหนองเต่าก็คือ “หลวงปู่เลี้ยง” หลวงปู่เลี้ยงนามเดิมชื่อบุญเลี้ยง ชมชา เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗ วันเสาร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง ที่บ้านหนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี มีพี่น้องทั้งหมด ๔ คน หลวงปู่เลี้ยงบวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ที่วัดป่าธรรมโสภณ อ.เมือง จ.ลพบุรี บวชเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ มีฉายาว่า “สุชาโต” หลังจากบวชได้ ๓ พรรษา ได้รับนิมนต์มาจำพรรษาที่วัดเจริญธรรมพานิชหรือวัดพานิชธรรมิการาม ท่านได้สร้างกุฏิพระ เมรุ วิหารต่างๆ และศาลา ท่านได้สร้างโบสถ์บนหลังเต่า ภายในตัวเต่าจะเป็นห้องโถงกว้าง สร้างเสร็จใหม่ๆ ใช้เป็นที่สอนหนังสือเด็กนักเรียน แต่ปัจจุบันใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

หลวงปู่เลี้ยงมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร และสามารถรักษาโรคได้ ท่านใช้ตัวยาสมุนไพรเป็นหลักที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น เปลือกส้ม ดอกดาวเรือง ผลหมาก ตะไคร้ และเปลือกมะนาว ใช้รักษาโรคไข้หวัด โรคผิวหนังและโรคทางเดินอาหาร นอกจากนั้นท่านยังมีคาถาที่ทำให้อยู่ยงคงกระพัน เช่น ยิงไม่ถูก ฟันไม่เข้า และคาถาเมตตามหานิยมใครเห็นเป็นต้องรักต้องหลง ทำให้มีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก นอกจากนั้นท่านยังมีความรอบรู้พูดภาษาไทย จีน มอญ ลาว ได้เป็นอย่างดี

เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงปู่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพานิชธรรมิการาม, พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้รับหน้าตำแหน่งคณะกรรมการสงฆ์อำเภอในหน้าที่องค์การเผยแผ่อำเภอบ้านหมี่, พ.ศ. ๒๗๙๐ เป็นพระครูใบฏีกา, พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับพระราชทานพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูธรรมาภิมณฑ์, พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์, พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นพระธรรมทูตสาย ๒ จังหวัดลพบุรี

หลวงปู่เป็นที่เคารพของชาวบ้านและคนทั่วไปจนกระทั่งมรณภาพ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ชาวบ้านเก็บศพหลวงปู่ไว้กราบไหว้บูชานานถึง ๑๖ ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ จึงได้มีการฌาปนกิจศพและนำอัฐิบรรจุไว้ใต้ฐานรูปหล่อ เพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชา เพื่อระลึกถึงพระคุณเมตตาบารมีของหลวงปู่ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข



วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เหรียญทองคำฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีกาญจนาภิเษก ในรัชกาลที่ ๙, ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ๑๕๐๐ บาท


 



เหรียญทองคำฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙, ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ๑๕๐๐ บาท


พระพุทธชินราช สุดยอดของดีเมืองพิษณุโลก ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓


 




วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระกำแพงพระร่วงยืนประทานพร ว่านหน้าเงิน กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

 

พระกำแพงพระร่วงยืนประทานพร ว่านหน้าเงิน กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

พระกำแพงพระร่วงที่พบจากกรุเมืองกำแพงเพชร มีทั้งพิมพ์พระร่วงนั่ง และพระร่วงยืน มักจะสร้างตามแบบศิลปะลพบุรี พ.ศ. 1900 พระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงองค์ที่ 5 ครองกรุงสุโขทัย เสด็จมายังเมืองกำแพงเพชร ได้สถาปนาพระบรมธาตุและให้ความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาจนเป็นนครธรรม ทำให้มีการสร้างสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูป และพระเครื่อง โดยช่างชาวกำแพงเพชร โดยเฉพาะพระพิมพ์มีทั้งเนื้อดินผสมว่านและเนื้อโลหะชินเงิน รวมทั้งว่านหน้าเงิน ว่านหน้าทอง แต่ทองคำเป็นโลหะมีค่ามาก พระพิมพ์ว่านหน้าทอง จึงถูกแกะเอาโลหะทอง แต่ทองคำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่มีค่ามากกว่า พระพิมพ์ว่านหน้าทองจึงสูญหายไปหมดเหลือเพียงพระพิมพ์ว่านหน้าเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้กระนั้น ก็ยังไม่พบเห็นในวงการพระเครื่องได้ง่ายนักในปัจจุบัน

พุทธลักษณะ
1. องค์พระปฏิมาประทับยืน ปางประธานพรภายในซุ้มเรือนแก้วยอดซุ้มเป็นกระจังลายกนก ทรงเครื่องจอมกษัตริย์โบราณ พระเศียรทรงเทริดแบบจีโบ พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม เคร่งขรึมก้มลงเล็กน้อย พระขนงเป็นเส้นโค้งติดกันเชื่อมคิดกับสันพระนาสิกที่โค้งสอดรับ พระเนตรรูปเม็ดงา พระโอษฐ์หนาเม้มติดกัน พระปรางอวบพองามพระหนุสอบแหลม พระกรรณแนบพระปรางยาวจรดพระอังสา พระศอตื้นเป็นร่องแคบ
2.พระอังสาเป็นเนื้อนูนโค้งรับกับพระอุระที่อูมนูนแบบนักกล้ามแล้วเรียวลงมายังพระ ปรัศว์ที่เว้าคอด พระอุทรอวบพอง พระนาภีบุ๋มลง ครองพระจีวรแนบเนื้อห่มคลุมทั้งองค์ เส้นกรอบพระศอเรียวนูน จึงเป็นเส้นครึ่งวงกลมจากพระอังสาซ้ายไปพระอังสาขวา
3.พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างลำพระองค์ พระกรซ้ายทอดลง แอ่นโค้งตามพระโสณี หงายพระหัตถ์แผ่พระดรรชนีชี้ลง หักพระกัประยกพระกรขวาเฉียงขึ้น หงายพระหัตถ์แนบปิดพระถัน พระโสณีผายออกสอดรับพระอุทรอย่างกลมกลืน พระอุระเป็นลำคู่ขนาน พระชงฆ์เรียวลงจนถึงข้อพระบาท ครองพระสบงจับจีบระหว่างพระอุระยาวลงคลุมถึงข้อพระบาท พระประคดเอวเป็นเส้นนูนเล็กสามเส้นขนานกัน ปลายทอดโค้งรัดรูป หัวพระหระคดรูปทรงกลม พระจีวรคลุมพระองค์ ชายพระจีวรเป็นเส้นนูนสามเส้นแผ่กว้างเป็นแผ่นเดียวข้างลำพระองค์ ส่วนแรกคลุมปิดด้านหน้ายาวลงมาถึงกลางพระปาน ส่วนที่สองคลุมปิดด้านหลังทิ้งชายลงมาจากพระกัประขวาและปลายพระหัตถ์ซ้ายยาวลงถึงชายพระสบง
4.องค์พระปฏิมาสร้างเป็นปฏิมากรรมนูนต่ำ ประทับยืนบนฐานฝักบัวชั้นเดียว พระบาทแนบชิดยื่นไปข้างหน้า ประดิษฐานภายในกรอบของคู่ขนาน ส่วนปลายโค้งยอดแหลมรูปใบหอก ฐานล่างตัดตรง ด้านหลังพระพิมพ์แบนเสมอกัน ผิวขรุขระจากมวลสาร

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระกำแพงว่านหน้าเงิน เป็นพระเครื่องสมัยสุโขทัยยุคกลาง พบจากรุทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร แบบศิลปะลพบุรี มีต้นแบบจากพระร่วงยืนปางประทานพร หลังรางปืน ชินสนิมแดง ศิลปะลพบุรี ขึ้นที่สวรรคโลก สุโขทัย พระว่านหน้าเงิน สร้างโดยปฏิมากรชาวกำแพงเพชร เป็นการสร้างล้อแบบศิลปะลพบุรี ที่มีมาก่อนหน้าศิลปะสุโขทัย มิใช่การสร้างเลียนแบบ แต่เป็นการสร้างเพื่อให้เกียรติ์ ยกย่อง ในฐานะศิลปะรุ่นพี่ที่มีความสวยงาม อลังการยอดเยี่ยมแบบหนึ่ง ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ พระพิมพ์ว่านหน้าเงินนี้ สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 อายุราว 600 ปี นับว่าเป็นวัตถุโบราณที่ต้องอนุรักษ์ไว้

วัสดุใช้สร้าง
พระกำแพงว่านหน้าเงิน วัสดุใช้สร้างมีสองส่วน ส่วนแรกคือโลหะเงินบริสุทธิ์ รีดเป็นแผ่นบางเท่าแผ่นกระดาษ  ตัดให้เป็นรูปพอดีกับเบ้าแม่พิมพ์ เพื่อให้มีความหนาขอบข้างไว้ด้วย บรรจุวางแผ่นลง ปิดเบ้าแม่พิมพ์  ใช้เครื่องมือค่อยๆกดย้ำลงบนแผ่นเงินอย่างประณีต ให้ลงไปในร่องแม่พิมพ์จนแนบเนื้อเป็นรูปร่างเหมือนแม่พิมพ์ทุกประการ ทิ้งไว้ในแม่พิมพ์ยังไม่ต้องแกะออก ส่วนที่สองเป็นเนื้อว่านหลากหลายชนิดมีคุณวิเศษตามตำราโบราณ บดโขลกละเอียดเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว นวดให้ข้นเหนียวเป็นยาง แบ่งออกปั้นเป็นก้อนพอเหมาะ ใส่ลงในแม่พิมพ์ที่มีแผ่นเงินรองอยู่ให้เต็ม กดคลึงให้แน่นเต็มพิมพ์ ถอดออกจากแม่พิมพ์ตากให้แห้ง แต่งขอบข้างโดยให้แผ่นเงินพับหุ้มเนื้อว่านเป็นสันขอบความหนาของพระพิมพ์ สำเร็จแล้วได้พระพิมพ์ว่านหน้าเงิน รวบรวมเข้าพิธีพุทธาภิเษก และบรรจุกรุในอันดับต่อไป ในสมัยหลังๆฟต่อมาเมื่อเปิดกรุ พบพระว่านหน้าเงิน ด้วยกาลเวลาอันยาวนาน แผ่นหน้าเงินจะเกิดสนิมสีดำ และขี้กรุเดขึ้นกับเนื้อว่านด้านหลัง เป็นผงดินแห้งสีเทาปกคลุมติดเต็มผิวเนื้อว่าน
ขนาดฐานกว้าง 2 ซม. สูง 7 ซม. หนาสันขอบ 0.3-0.3 ซม.

พุทธคุณ
เมตตามหานิยม มีเสน่ห์ แคล้วคลาดและโชคลาภ

พระนางกำแพง พิมพ์ใหญ่ ดินเผา กรุวัดเจดีย์กลางทุ่ง(นครชุม) กำแพงเพชร

 

พระนางกำแพง พิมพ์ใหญ่ ดินเผา กรุวัดเจดีย์กลางทุ่ง(นครชุม) กำแพงเพชร

พระนางพญากำแพงฯ มีทั้งพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก พิมพ์เล็กมีจำนวนมากกว่า จึงเป็นที่นิยม ในวงการราคาแพงกว่าพิมพ์ใหญ่ที่มีจำนวนน้อยกว่า พระนางพญากำแพง พิมพ์ใหญ่เป็นพระดินเผาที่พบจากรุวัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดป่ามืด วัดพระแก้ว ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นกรุที่โด่งดังของเมืองกำแพงเพชร

พุทธลักษณะ
1.องค์พระประทับนั่งราบ ปางมารวิชัย บนพระเศียรเห็นเป็นตุ่มเรียงรายแสดงเม็ดพระศก พระเมาลีเกล้าเป็นมวยเล็ก พระเกศยาวสูงแหลมรูปเปลวเพลิง พระพักตร์เรียวนูน ทรงผลมะตูม หรือแบบพระบูชาที่ชาวบ้านเรียกว่า รูป”ไข่จระเข้” ในวงพระพักตร์ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ลางๆ พระกรรณเป็นตุ่มแนบพระประปราง พระศอสั้นกลมกลึงเป็นร่องตื้น
2.พระอังสากว้างมนลาด พระอุระนูนหนา พระอุทรเรียวคอด กรอบพระจีวรแนบเนื้อห่มดองเปิดพระอังสาขวา พระจีวรห่มคลุมพระอังสาซ้าย เส้นชายขอบพระจีวรพาดลงใต้ราวพระถันวกสอดเข้าซอกพระกัจฉะจนพระอุระยกขึ้นเป็นลอนงดงามยิ่งเช่นเดียวกับพระพุทธรูปในโบสถ์ พระสังฆาฏิวงพาดบนพระอังสาซ้าย ปล่อยชายผ้ายาวลงจรดพระนาภีที่พองอูมแบบแสดงหน้าท้อง แล้วกลืนหายไปบนพระเพลา
3.พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างลำพระองค์ หักพระกัประ พระกรขวาทอดอ่อน กางออกยกพระหัตถ์วางกุมพระชานุลักษณะเข่านอก พระดรรชนีทั้งสี่ เว้นพระอังคุฐตัดเสมอกันจรดฐานบัวพอดี หักพระกัประพระกรซ้ายโค้งเข้าใน พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา
4.องค์พระประทับนั่ง พระชงฆ์ขวาและพระชงฆ์ซ้าย หักพระชานุพับเข้าใน พระบาทขวาวางซ้อนทับบนพระบาทซ้ายแบบหลวมๆ มีรอยเว้า ดีด เชิดของพระบาทแบบเล่นศิลปะ ขัดสมาธิลนฐานเป็นเส้นนูนหนา มีรอยเว้าแหว่งตามริม เนื่องจากมีขนาดเล็ก จึงสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นลักษณะของฐานกลีบบัวหงาย
5.ด้านพระปฤษฎางค์เป็นพื้นผนังเรียบ ปราศจากซุ้ม ประกอบองค์พระ ทั้งลวดลายและเครื่องประดับอื่นใด เน้นเฉพาะองค์พระลอยเด่นสวยงาม ศิลปะการสร้างเป็นประติมากรรมนูนต่ำ ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบตัดตรงเรียบ ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ ผิวเป็นตุ่มผดประปราย

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระนางพญาพิมพ์ใหญ่นี้ เป้นพระมีลักษณะงดงามตามแบบศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ จัดๆพิมพ์หนึ่ง เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นความงามและรายละเอียดในเชิงศิลปะของปฏิมากรที่มีความชำนาญอย่างดี สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยยุคกลาง พุทธศตวรรษที่ 19 หรือประมาณ พ.ศ.1890 อายุไม่น้อยกว่า 600 ปี ตรงกับรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พระร่วงองค์ที่ 5 ครองกรุงสุโขทัยที่พระพุทธศาสนาเจริญถึงขีดสุด และได้ทรงสร้างพระพิมพ์อย่างมากมายบรรจุกรุในพระเจดีย์ทั่วพระราชอาณาจักร

มวลสารใช้สร้าง
เนื้อพระนางพญาพิมพ์ใหญ่ เป็นดินเผา มีทั้งเนื้อละเอียดนุ่มและหยาบนุ่ม องค์ที่ละเอียดนุ่มจะมีเนื้อละเอียดมาก ปราศจากแร่กรวดที่มีผลึกใหญ่ๆ และเป็นเนื้อแก่ผงพุทธคุณคือมีสีจางๆปนอยู่ในเนื้อที่ค่อนข้างละเอียดนั้น บางองค์จะมีแร่ทรายทองผสมอยู่ในเนื้อด้วย
พระเนื้อหยาบนุ่มจะมีแร่กรวดเป็นผลึกใหญ่มากมาย เช่นแร่ดอกมะขาม เมื่อถูกเผาละลายจะเป็นจุดสีแดงเข้มขนาดเท่าปลายเข็ม ระท่งใหญ่เท่าหัวเข็มหมุด
พระเครื่องเหล่านี้ เมื่อสร้างและปลุกเสกเสร็จแล้วจะรวบรวมบรรจุในโถดินเก็บไว้ในกรุ พระสถูปเจดีย์ ด้วยกาลเวลาอันยาวนาน พระเจดีย์ปรักหักพังลง กลายเป็นเนินดิน บรรดาพระเครื่องเหล่านี้ ย่อมถูกความชื้นและฝุ่นโคลนเข้าแทรก เกิดคราบกรุและขี้กรุตามสภาพธรรมชาติ พระพิมพ์องค์นี้อยู่ในกรุค่อนข้างมีสภาพดี คราบกรุที่เกิดจากความชื้นจึงมีน้อย มีเพียงขี้กรุเป็นผงฝุ่นดินสีเทา และสีเหลืองนวล ฝังเหนืออย่างแน่นหนา ติดบนผิวตามส่วนลึกของพระพิมพ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ขนาด ฐานกว้าง 2.7 ซม. สูง 3 ซม. หนา 0.5 ซม.

พุทธคุณ
ยอดเยี่ยมทางด้านคงกระพันชาตรี และดีเด่นแน่นอนทางแคล้วคลาดทุกด้าน ดังเช่น
ทหารที่ไปปฏิบัติงานตามชายแดน แขวนพระนางพญาพิมพ์นี้มักจะรอดพ้นจากกับระเบิดและกระสุนปืนได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่เสาะหากันอย่างเงียบๆ ในหมู่ญาติของทหารกล้า เล่าสืบต่อกันมาจากปากของนายร้อยโทคนหนึ่ง ที่เคยออกไปสู้รบกับผู้ก่อการร้ายชายแดนเมืองน่าน เห็นเพื่อนรอดชีวิตมากับตาตนเอง ปัจจุบันเพื่อนคนนั้น ได้กลับเขามารับราชการอยู่ในเมืองพร้อมกัน และมักจะเล่าสู่กันฟังถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระที่แขวนอยู่เสมอ

พระนางกำแพง องค์อื่นๆ


พระนางกำแพง พิมพ์เล็ก กำแพงเพชร วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560



วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระกำแพงพระร่วงยืนประทานพร เนื้อดิน กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

 

พระกำแพงพระร่วงยืนประทานพร เนื้อดิน กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

พระกำแพงพระร่วงที่พบจากกรุเมืองกำแพงเพชร ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งทุ่งเศรษฐีหรือจากฝั่งจังหวัดปัจจุบันก็ตาม มีทั้งพิมพ์พระร่วงนั่งและพิมพ์พระร่วงยืน มักจะสร้างตามแบบศิลปะลพบุรี และที่เป็นแบบของำแพงเพชรเองโดยเฉพาะก็มีเช่นกัน พ.ศ.1900 พระมหาธรรมราชาลิไทให้ความรุ่งโรจน์แก่กำแพงเพชรจนเป็นนครแห่งธรรม ศิลปะในเวลานั้นจึงรุ่งเรืองตามมาทั้งพระพุทธรูป พระเครื่อง เป็นการสร้างปฏิมากรรมโดยช่างเมืองกำแพงเพชร มีทั้งดินผสมว่าน ชินเงิน เป็นส่วนมาก โดยเฉพาะพระกำแพงพระร่วงนั้น พิมพ์พระร่วงนั่งจะมีจำนวนมากกว่าพิมพ์พระร่วงยืนอย่างเทียบกันไม่ได้ พิมพ์พระร่วงยืนจงหายากแทบจะไม่พบเจอเลยในวงการปัจจุบัน

พุทธลักษณะ
1.พระพุทธปฏิมาประทับยืนปางประทานพรภายในซุ้มเรือนแก้ว ยอดซุ้มเป็นกระจังลายกนก ทรงเครื่องดุจจอมกษัตริย์โบราณ พระเศียรทรงเทริดแบบจีโบ พระพักตร์รูปไข่เคร่งขรึมดุดัน พระขนงเป็นเส้นหนานูนโค้งติดกันเป็นรูปนกบิน พระเนตรดั่งเมล็ดงา พระนาสิใหญ่กว้างป้าน พระโอษฐ์หนาเม้มติดกัน พระหนุมน พระกรรณแนบพระปรางยาวจรดพระอังสา พระศอเป็นร่องตื้นแคบ
2.พระอังสาใหญ่กว้างโค้ง พระอุระเป็นลอนกล้าม พระอุทรผายออกอวบนูน พระกฤษฎีเว้าคอด พระนาภีบุ๋ม ครองพระจีวรแนบเนื้อห่มคลุม เส้นกรองพระศอเรียวนูนวิ่งเป็นเส้นครึ่งวงกลมจากพระอังสาซ้ายไปพระอังสาขวา
3.พระพาหาซ้ายทอดอ่อนช้อยลงข้างลำพระองค์ หงายพระหัตถ์ดิ่งลงลอดชายพระจีวร พระพาหาขวาทอดลงข้างลำพระองค์กางออเล็กน้อย หักพระกัประยกพระกรเฉียงขึ้น หงายพระหัตถ์แนบปิดพระถัน ส่วนปลายพระกัประมีชายพระจีวรเป็นเนื้อนูนรูปสามเหลี่ยม ส่วนปลายเส้นย้อยลงเป็นเส้นนูนขอบพระจีวร
4.พระโสณีอวบกว้างสอดรับกับพระอุทรอย่างกลมกลืนสวยงามยิ่ง พระชงฆ์เรียวลงจนถึงข้อพระบาท ครองพระสบงยาวลงคลุมถึงกลางพระชงฆ์ ชายพระสบงจึงเป็นสามจีบ พระประคดเอวเป็นเส้นขนานสามเส้นปลายทอดโค้งรัดรูป ด้านหน้ากลางพระประคดเอวประดับด้วยตาบทิพย์ดังหัวเข็มขัด พระจีวรคลุมพระองค์เป็นเส้นนูนสองเส้นแสดงชายพระจีวรแผ่กว้างอยู่ด้านประปฤษฎางค์ ส่วนแรกอยู่ระดับพระชานุ จับจีบตั้งแต่ตาบทิพย์ลงมาตั้งแต่ระหว่างพระอุระ ส่วนที่สองเป็นเส้นขอบพระจีวรส่วนหลัง คลุมทิ้งชายลงมาจากพระกัประขวาและปลายพระหัตถ์ซ้าย ชายพระจีวรยาวลงถึงชายพระสบง
5.องค์พระปฏิมาประทับยืนตรงบนฐานฝักบัวกลมชั้นเดียว พระบาทแนบชิด ยื่นไปข้างหน้าประดิษฐานอยู่ภายในกรอบคู่ขนาน ปลายยอดเรียวแหลมรูปปลายหอก ส่วนล่างกรอบโค้งครึ่งวงกลม ด้านหลังพระพิมพ์ผิวเรียบเป็นคลื่นจากการตกแต่ง

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระกำแพงพระร่วงยืน เป็นพระเครื่องสมัยสุโขทัยยุคกลางขึ้นที่กรุทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชรแบบศิลปะลพบุรี ที่มีต้นแบบจากพระร่วงยืนปางประทานพร หลังรางปืน ชินสนิมแดง ศิลปะลพบุรี ขึ้นที่สวรรคโลก สุโขทัย สร้างโดยปฏิมากรสกุลกำแพงเพชร เป็นการสร้างล้อแบบศิลปะที่มีก่อนหน้า เพื่อสืบต่อเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีอยู่จริง มิใช่สูญหายไปตามกาลเวลา ดังนั้นพระพิมพ์ที่สร้างล้อแบบจึงมักจะมีจำนวนน้อยมาก เพราะไม่ใช่ศิลปะของสุโขทัยเอง สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 20 อายุ 600 กว่าปี

วัสดุใช้สร้าง
พระกำแพงพระร่วงยืน เนื้อดิน ดินละเอียดพื้นถิ่นมีแร่ดอกมะขามผสมอยู่ตามธรรมชาติ บดกรองเอาเม็ดกรวดแร่ผลึกใหญ่ออก ผสมผงว่าน และน้ำนวดให้ข้นเหนียวเป็นเนื้อเดียวเหมือนดินน้ำมัน แบ่งเป็นก้อนพอเหมาะ ใส่ลงเบ้าแม่พิมพ์ กดคลึงให้แน่นเต็มพิมพ์ ถอดออกตากให้แห้งรวบรวมไว้ในภาชนะ เข้าเตาอบเผาไฟอุณหภูมิสูง ได้พระพิมพ์ดินเผา สีแดงอิฐ แข็งแกร่ง ผิวเนียน แร่ดอกมะขามละลายเป็นจุดสีแดงๆเล็กๆบนผิว และผลึกเม็ดกรวดแร่บ้างเล็กน้อย ขี้กรุเป็นผงดินสีเหลืองนวล ฉาบติดผิวตามซอกลึก
ขนาดกว้าง 4 ซม. สูง 14 ซม. หนา 0.8-1.5 ซม.

พุทธคุณ
พระพิมพ์ดินเผาที่มีเนื้อละเอียด มีพุทธคุณทางเมตตา ปราณีสูง เมื่อเป็นพระเครื่องขึ้นที่ทุ่งเศรษฐี แน่นอนต้องมีพุทธคุณทางโชคลาภ และมีทรัพย์สิน เงินทองดุจดังมหาเศรษฐี