วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

พระกำแพงลีลาเม็ดขนุน เนื้อดินสีแดง พิมพ์ใหญ่ กรุวัดพิกุล ลานทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร

 

พุทธลักษณะและพิมพ์

1.องค์พระประทับยืนในท่าเยื้องย่างหรือลีลาไปทางด้านซ้าย บนฐานบัวหน้ากระดานชั้นเดียว มีกลีบเรียงรายตลอดฐาน ที่จดขอบซุ้มเส้นโค้งยอดมนแหลม

2.พระพักตร์หันตั้งตรง พระรัศมีเกศมาลาสั้นแหลมรูปกรวย มีปล้องดุจกำไลรัดระหว่างขอบพระรัศมีมาลากับพระเมาลี

3.บนพระเศียรเป็นเม็ดพระเกศากลมอย่างพระบูชา รายละเอียดในวงพระพักตร์ไม่ปรากฏเด่นชัดเท่าที่ควร คงเห็นแต่พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์รางๆ

4.พระกรรณทั้งสอง เห็นเส้นคมขดคล้ายหูคน ปลายพระกรรณที่ยาวแนบข้างพระปรางลงมาจรดพระศอ

5.พระอังสาและพระอุระกว้างใหญ่นูนหนาสวยงามได้ส่วน เรียวคอดเข้าหาพระนาภี ทำเป็นลอนต่ำกว่าลอยพระถันขวา ที่เนินพระถันซ้าย มีพระหัตถ์ซ้ายวางและกรีดพระดรรชนีเป็นวงกับพระอังคุฐ(แบบศิลปะอินเดีย)ปิดอยู่ เหนือพระหัตถ์มีเส้นพระสังฆาฏิ ที่ทำเป็นเส้นคู่พาดไว้ เช่นเดียวกับเส้นขอบพระจีวรที่พาดรัดพระถันขวาไว้ เสมือนวกเข้าไปถึงพระปฤษฎางค์

6.ใต้พระหัตถ์และข้อพระกรซ้ายทำเป็นเส้นพระสังฆาฏิและพระจีวรที่ปล่อยชายเป็นริ้ว อ่อนช้อยลงสู่เบื้องล่าง ช่วงพระนาภีทำเป็นเส้นคู่คดโค้งขนานแสดงขอบพระสบง พระโสณีนูนผายและเรียวถึงพระชานุ ที่ทำเป็นปมให้เห็นด้วย

7.พระชงฆ์ขวาทอดยาวออกไปทางด้านหลังทำมุมพองามกับพระบาทที่นูนหนาจนเห็นหลังพระบาท พระอังคุฐและพระดรรชนีบางส่วนด้วย

8.พระเพลาซ้ายเรียวกลมถึงพระบาทที่ยกปลายพระดรรชนีงอนขึ้นสู่เบื้องบน พระกรขวากลมเรียวทอดลงข้ามลำพระองค์ ปลายพระดรรชนีเรียวจากหลังพระหัตถ์และแสดงพระดรรชนีอื่นไว้ด้วย พระอังคุฐกางออกยาวขนานไปกับพระเพลา

9.ชายพระสบงและพระจีวรด้านล่าง ทำเป็นเส้นคมเสมือนแบนบางกลมแนบพระองค์ จนเห็นพระสรีระทุกช่วงตอน

10.พระพิมพ์ เป็นประติมากรรมนูนต่ำ ประดิษฐานภายในกรอบซุ้มเส้นโค้งยอดแหลม มีกรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง ดูเสมือนเนื้อล้นพิมพ์ ด้านหลังอมนูน มีรอยลายมือกดพิมพ์

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง พระกำแพงลีลาเม็ดขนุน เป็นพระเครื่องกรุทุ่งเศรษฐี ศิลปะสุโขทัยยุคต้น พุทธศตวรรษที่19 อายุถึงปัจจุบันราว 650 ปี พบครั้งแรกจากรุวัดพระบรมธาตุเมื่อพ.ศ. 2392 โดยพระมหาธรรมราชาลิไท พระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัย รัชกาลที่ 5 เป็นผู้ให้กำเนิดไว้เมื่อพ.ศ.1900 ต่อมาพ.ศ.2470 ก็มีผู้พบพระเม็ดขนุนที่กรุวัดพิกุล และกรุพระเจดีย์กลางทุ่งฯอีก จนถึงพ.ศ.2505 ก็พบอีกที่กรุวัดอาวาสน้อยกับกรุวัดป่ามืดด้วยจำนวนเพียง 50 องค์เท่านั้น พระสกุลนี้เป็นพระเครื่องทุ่งเศรษฐีชั้นนำ ยอดหายาก และมีค่านิยมมากสูงเช่นเดียวกับพระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุนนี้มีสร้างไว้ทั้งชนิดเนื้อดินผสมผง มีสี่สี คือ แดง เหลือง เขียวและดำ  มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก รวมทั้งเนื้อว่านประประกบหน้าทอง นาค และเงิน ตลอดจนเนื้อชินด้วย

มวลสารในการสร้าง เนื้อดินดิบกรองละเอียด ไม่มีแร่กรวด ส่วนผสมมีผงว่านและแร่ดอกมะขามเป็นหลัก สร้างเป็นพระพิมพ์
เนื้อดินสีแดง เผาด้วยอุณหภูมิ 650 – 750 องศาเซลเซียส ได้พระดินเผา เนื้อแน่นแข็งแกร่ง มีจุดสีแดงเข้มของแร่ดอกมะขามกระจายอยู่ในเนื้อ จัดว่าพระพิมพ์นี้เนื้อละเอียดยิ่ง หรือจดมาก น้ำซึมเข้าเนื้อได้ยากเทียบเท่ากับเนื้อพระรอดลำพูน ขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีเทานวลติดแน่นบนผิว
พิมพ์ใหญ่ ขนาดกว้าง 1.6 ซม. สูง 4 ซม. หนา 7 มม.

พระพุทธคุณ ให้โชคลาภ คงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด จากภัยพิบัติทั้งปวง เป็นพระเครื่องส่งเสริมความก้าวหน้า ชนะอุปสรรคทั้งปวง เป็นลักษณะหนึ่งของความสำเร็จ ในการสร้างฐานะ เปรียบประดุจท่วงท่าก้าวย่าง ดำเนินไปข้างหน้าขององค์พระปฏิมา


พระลีลา องค์อื่นๆ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น