พุทธลักษณะและพิมพ์
1.ลักษณะและพิมพ์คล้ายคลึงกับกลีบนอกของดอกจำปา
มีสัณฐานขอบส่วนบนเรียวปลายมน ส่วนล่างกว้างผายออก เป็นพระพิมพ์ปางลีลา ทำเป็นพระพุทธรูปประทับยืน
ยกพระบาทขวาจะก้าวไปข้างหน้า ห้อยพระหัตถ์ขวาทำท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้า
เป็นพระกริยาทรงดำเนิน
2.พระเศียรเอียงไปทางซ้าย
พระเกศทรงปลีสองชั้น ชั้นล่างเป็นตุ้ม ชั้นบนยาวปลายยอดเป็นเปลวสะบัดพริ้ว
3.พระพักตร์ทรงผลมะตูม
รายละเอียดบนพระพักตร์รางเลือน พระกรรณเบื้องขวาแนบพระปรางยาวจรดพระอังสา
เบื้องซ้ายเห็นเพียงรางๆ ถูกพระปรางบังไว้
4.พระศอเป็นร่องตื้นลักษณะกลืนหาย
5.พระอังสาเป็นแนวโค้งขึ้นทั้งสองข้าง
หัวไหล่เบื้องขวาสูงกว่าเบื้องซ้ายเล็กน้อย ไหปลาร้าเป็นแนวลาดลง
6.พระอุระนูนใหญ่ผึ่งผาย
เช่นพระกำแพงเม็ดขนุน ลำพระองค์เรียวลง พระอุทรคอด ปรากฏรอยบุ๋มพระนาภี
7.พระพาหาเบื้องซ้ายเรียวเล็กทอดลง
หักพระกัประยกพระกรขึ้น ให้พระหัตถ์หงายออกทาบกลางพระอุระ ลักษณะประทานพร
พระพาหาเบื้องขวาทอดลงข้างลำพระองค์ ในลักษณะลีลาอันอ่อนช้อยงดงาม
พระกรและพระหัตถ์ค่อนข้างยาว ทำท่าไกว พระดรรชนีคลี่ออก พระอังคุตอ้าขนานไปกับพระโสณี
8.พระเพลาทั้งสองทอดลง
งอพระชานุขวา พระบาทเขย่งก้าว ปลายพระบาทแตะพื้น พระเพลาซ้ายเรียวยืนตรง
พระบาทวางราบบนพื้นปลายพระดรรชนีงอนขึ้นสู่เบื้องบน
9.วางพระบาทในท่าลีลาหรือเยื้องย่างไปทางซ้าย
อาสนะรองรับพระบาทเป็นบัวเล็บช้างแบบบัวคว่ำบัวหงาย มีซุ้มเรือนแก้วเป็นรัศมีรอบองค์
เส้นซุ้มข้างองค์เป็นร่อง มีเนื้อข้างปีกเล็กน้อย ถาดกดพิมพ์ทำได้พอดี
ไม่ต้องตัดปีก ด้านหลังอูมนูนแบบหลังเต่า
ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระพิมพ์กำแพงลีลากลีบจำปา
เป็นพระเครื่องสกุลทุ่งเศรษฐี ศิลปะสุโขทัยยุคต้นพุทธศตวรรษที่ 19 โดยพระมหาธรรมราชาลิไท
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ให้กำเนิดไว้
เมื่อครั้งพระองค์ทรงสถาปนาวัดพระบรมธาตุ ณ ลานทุ่งเศรษฐี นครชุม ในอดีตเมื่อ พ.ศ.1900
ประมาณ 600 กว่าปีมาแล้ว ต่อมา ในปีพ.ศ. 2392 สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)แห่งวัดระฆัง
กรุงเทพฯ ขึ้นมาเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร
ได้อ่านเรื่องราวในศิลาจารึกนครชุมว่า มีโบราณสถานและพระเจดีย์หน้าเมืองเก่า 3
องค์ ขณะนั้นพระยากำแพงเพชร(น้อย) เป็นผู้ว่าราชการเมือง ได้ค้นหา ก็พบพระเจดีย์ 3
องค์ตามศิลาจารึก จึงให้ราษฎรแผ้วถางและปฏิสังขรณ์ ภายหลังพระยากำแพงเพชร(อ่อง)
ราษฎรเรียกว่า พระยาตะก่า เป็นผู้ว่าราชการเมือง ได้ขออนุญาตทางราชการ รื้อพระเจดีย์ทั้ง
3 องค์ ทำใหม่รวมเป็นองค์เดียว ขณะที่รื้อพระเจดีย์ ก็ได้พบกรุพระเครื่องกำแพงเพชรเป็นครั้งแรก
ในลานทุ่งเศรษฐี มีทรัพย์สมบัติและพระพิมพ์หลายแบบหลายชนิดมากมาย
รวมทั้งแผ่นลานเงินจารึกอักษรขอมเป็นตำนานไว้ด้วย
พระพิมพ์กำแพงลีลากลีบจำปาก็เป็นหนึ่งในจำนวนพระเครื่องทั้งหลายที่พบในคราวเดียวกัน
มีทั้งพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก มีทั้งเนื้อดินเผาและชินเงิน แต่มีจำนวนน้อย
เช่นเดียวกับพระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงพลูจีบและพระพระซุ้มกอ
มวลสารที่ใช้สร้าง เนื้อดินละเอียดไม่มีกรวดทราย
มีแร่ดอกมะขามตามธรรมชาติ ผสมว่าน บดผสมเข้าด้วยกัน ทุบแน่นเหนียว
นวดเป็นเนื้อเดียว กดลงในเบ้าแม่พิมพ์ ถอดออกตากแห้ง เข้าเตาอบเผาไฟอุณหภูมิ
800-900 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีพิกุล (น้ำตาลอมดำ) เนื้อแน่นเป็นแกน ผิวเนียนเป็นมัน
แร่ดอกมะขามละลายไปกับเนื้อดิน มีสีแดงลอยขึ้นบนผิวเล็กน้อย
ขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีเทานวล เคลือบติดแน่นบนผิวตามซอกลึก
ขนาด ฐานกว้าง 1.2 ซม.
สูง 3.3 ซม. หนา 7 มม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น