พระกำแพงซุ้มกอ
พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก กรุฤๅษี ลานทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร
1.ด้านหน้า
2.ด้านหลัง
3.ด้านบน
4.ด้านล่าง
5.ด้านซ้าย
6.ด้านขวา
1.พุทธลักษณะ ปางสมาธิ
ประทับนั่งราบบนรัตนบัลลังก์ฐานบัวหงาย พระวรกายตั้งตรง พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยมคางมน
พระเศียรกลม พระศกเรียบ มีไรพระศก กรอบพระพักตร์ไม่ปรากฏพระเมาลี พระเกศลิ่มเล็กรูปดอกเข็มตูม
พระพักตร์เดิมมีพระขนง พระเนตร พระนาสิกและพระโอษฐ์ แต่กะเทาะล่อนหลุดออกลบเลือน พระพักตร์จึงโล้นเลี่ยน
พระกรรณแนบพระปรางยาวจรดพระอังสา พระศอตื้นแคบ ครองจีวรแนบเนื้อ ห่มคลุมเปิดไหล่ขวา
สังฆาฏิพาดยาวจรดพระนาภี พระอุระอวบใหญ่ เหมือนนักกล้าม พระกฤษฏีคอดกิ่ว พระพาหาทอดกางลงข้างลำพระองค์
เกิดซอกแขนเป็นหลุมลึก พระกรหักพระกัประเข้าในประสานกัน พระหัตถ์ขวาวางบนพระหัตถ์ซ้ายลักษณะทรงสมาธิเข้าฌานสมาบัติ
วางบนพระเพลา ประทับนั่งราบ พระชงฆ์ทั้งสองพับเข้าใน วางซ้อนกัน พระบาทขวาวางบนพระชงฆ์ซ้าย
ประทับบนรัตนบัลลังก์บัวหงายห้ากลีบชั้นเดียว
ด้านพระปฤษฎางค์มีประภามณฑลรอบพระเศียรเป็นเส้นลวดรูปกลีบบัว
รวมทั้งลายกนกนูนข้างทั้งซ้ายและขวา ทั้งหมดเป็นประติมากรรมนูนต่ำ
ประดิษฐานอยู่ภายในแอ่งท้องกระทะ กรอบโค้งรูปเล็บมือ ฐานล่างตัดตรงใต้กลีบบัว
2.ยุคสมัย
ศิลปะและผู้สร้าง พระมหาธรรมราชาลิไทกษัตริย์สูโขทัยองค์ที่5
ได้สถาปนาวัดพระบรมธาตุ พ.ศ. 1900 ในลานทุ่งเศรษฐี นครชุม
พร้อมทั้งได้สร้างพระเครื่อง พระพิมพ์ หลากหลายชนิด
รวมทั้งพระกำแพงซุ้มกอบรรจุไว้ในกรุภายในพระเจดีย์ด้วย เมื่อกาลเวลาผ่านไป
วัดพระบรมธาตุชำรุดทรุดโทรมลง ในปีพ.ศ.2444 พระยาตะก่า(สมัยรัชกาลที่ 5)
ได้บูรณะวัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชรขึ้นใหม่ โดยรื้อพระเจดีย์ 3
องค์รวมทั้งเจดีย์รายที่ชำรุดทั้งหมด และเปิดกรุในเจดีย์เหล่านี้
นำทรัพย์สมบัติมีค่า พระพุทธรูป พระเครื่องมารวมไว้ที่เดียว เพื่อบรรจุกลับคืนในกรุเจดีย์ที่บูรณะขึ้นใหม่
ในบรรดาพระเครื่องเหล่านี้ มีพระเครื่องพิมพ์หนึ่งลักษณะยอดมนโค้ง คล้ายเล็บมือ
ซึ่งครอบครองความยิ่งใหญ่ในปัจจุบันนี้
ก็ได้รวมขึ้นมาจากกรุด้วยไม่มากนัก เพราะเป็นพระฝากกรุ
พระพิมพ์ที่ว่านี้คือ “พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีลายกนก” ยอดพระเครื่องอันดับหนึ่ง
ที่นักนิยมพระเครื่องได้เทิดพระนามท่านไว้ว่า “เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี” นั่นเอง
พระกำแพงซุ้มกอเป็นศิลปะสุโขทัยผสมศิลปะลังกา
จัดเป็นพระเครื่องสุโขทัยยุคต้นที่อลังการอยู่เหนือรูปแบบพระเครื่องลานทุ่งเศรษฐีทั้งหมด
ส่วนมากเป็นพระฝากกรุ แต่ละกรุที่พบ ในภายหลังมีน้อยไม่เกิน 10 องค์ บางกรุมีเพียง
2-3 องค์เท่านั้นปะปนอยู่กับพระเครื่องพิมพ์อื่นที่มีจำนวนมาก
เมื่อมีจำนวนน้อยจึงเป็นพระเครื่องที่หายากอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีลายกนกซอกแขนลึก สมัยสุโขทัยยุคต้นๆ
ที่สร้างขึ้นราวค้นพุทธศตวรรษที่19
พระกำแพงซุ้มกอที่กล่าวมานี้
สีแดงคล้ำจัด เนื้อละเอียดไม่มีกรวดทราย หนึกนุ่ม ผิวล่อนเป็นกาบเหมือนขนมกะหรี่ปั๊บ
เมื่อนำออกจากกรุใหม่ๆ จะมีคราบดินขี้กรุพอกหนาติดแน่น ล้างออกค่อนข้างยาก
การล้างคราบดินขี้กรุ ถ้าไม่ชำนาญหรือระมัดระวังเพียงพอ
จะทำให้ผิวเดิมชั้นนอกหลุดออกไปด้วยโดยเฉพาะด้านหน้า
รายละเอียดจึงลางเลือนไม่คมชัดสวยงาม แต่ก็พอเห็นลักษณะเดิมอยู่
3.วัสดุใช้สร้าง
พระพิมพ์ซุ้มกอดินเผา เนื้อดินผสมผง ประกอบด้วย
ดินพื้นถิ่นลานทุ่งเศรษฐีตามธรรมชาติ มีแร่ธาตุหลายร้อยหลายพันชนิด
ป่นเป็นผงละเอียด ร่อนกรองเอาเม็ดกรวดทรายออกหมด
ผสมผงว่านป่นและแร่ดอกมะขามทั้งเป็นผงและเม็ดเล็ก ใส่น้ำนวดเข้ากันให้เหนียว
ปั้นเป็นก้อนเล็กกดลงเบ้าแม่พิมพ์ แกะออก ผึ่งให้แข็งตัว ตัดขอบด้วยของมีคม
ตามแนวกรอบพิมพ์ ตากในร่มให้แห้ง เผาไฟอุณหภูมิต่ำประมาณ 600 องศาเซลเซียส
พอให้แร่ธาตุละลายเป็นเนื้อเดียวหดตัวแทนที่ผงว่าน
แร่ดอกมะขามละลายเป็นจุดแดงและแผ่เป็นแผ่น ได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดงอ่อน
ด้านหลังเรียบ เนื้อหนึกนุ่มแข็งแกร่งพอประมาณ ถ้าใช้สำลีเช็ดถูเบาๆ ผิวจะขึ้นมัน
คราบไคลขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีเทาหรือสีโคลนแห้งๆฝังเนื้อ
ส่วนนอกผิวถูกล้างออกจนหมด การบ้างไม่ระมัดระวัง
ทำให้ดินคราบกรุดึงผิวเดิมหลุดล่อนออกไปด้วย โดยเฉพาะหน้าตาและลายกนกที่เป็นส่วนนูน
ลองจินตนาการดูเมื่อถอดจากแม่พิมพ์และเผาเสร็จแล้ว
พระพิมพ์ซุ้มกอองค์นี้คงจะงดงามมากทีเดียว จัดว่าเป็นองค์ครูก็ย่อมได้
ขนาด กว้างฐาน 1.8 ซม.
สูง 2.7 ซม. หนา 4-5 มม.
4.พุทธคุณ
พระกำแพงซุ้มกอ เป็นเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี ยอดพระเครื่องอันดับหนึ่ง
มีตำนานการสร้างพระพิมพ์ กล่าวไว้ว่ามีพระฤๅษี 11 ตน และพระฤๅษี 3 องค์เป็นประธาน
ให้เทวดาช่วยกันบดยาสร้างพระ ประดิษฐ์ด้วยมนต์คาถาให้ประสิทธิทุกอัน ถ้าผู้ใดได้
ให้ถวายพรพระ ให้ระลึกถึงคุณพระฤๅษีที่ทำไว้เถิด “มึงมีกูไว้ ไม่จน”
ข้อความในลานทอง ประวัติการสร้างพระเครื่องวัดบรมธาตุ ลานทุ่งเศรษฐี
จังหวัดกำแพงเพชร
พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์อื่นๆ