พระสุพรรณยอดโถ เนื้อชิน กรุพระปรางค์
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง สุพรรณบุรี
พระพิมพ์นี้คือ พระผงสุพรรณเนื้อชินนั่นเอง
ที่ถูกเรียกว่า “พระสุพรรณยอดโถ” ทั้งนี้เป็นการเรียกกันมานาน แต่เริ่มแรก
ไม่ใช่มาตั้งชื่อกันใหม่ภายหลัง ความเป็นจริงจะเรียกว่า
“พระผงสุพรรณเนื้อชิน”ก็ได้ เพราะโดยพุทธลักษณะทุกอย่างเหมือนกับพระผงสุพรรณ
หน้าแก่ อย่างไรอย่างนั้นไม่ผิดเพี้ยนกันเลย บางองค์ชัดเจนขึงขังไม่น้อย
เสียแต่ว่าพระพิมพ์นี้มีจำนวนน้อยมาก การสะสมจึงไม่กว้างขวางเท่าพระพิมพ์ผงสุพรรณ
เนื้อผงว่านทั้งสามพิมพ์ แต่ใคร่จะแจ้งให้ทราบว่า
พระพิมพ์พระผงสุพรรณเนื้อชินมีปลอมแปลงจำนวนมากและปลอมกันมานานแล้ว
ไม่ควรสุ่มสี่สุ่มห้าเช่าบูชาเอาไว้
ใครมีของแท้ควรหวงแหนเพราะเป็นของหายากมากแม้แต่พระพิมพ์พระผงสุพรรณ
เนื้อผงว่านทั้งสามพิมพ์ที่มีจำนวนมากกว่า ก็เป็นของหายากเช่นเดียวกัน
ของปลอมมีเต็มตลาดพระ
พุทธลักษณะ
1)องค์พระปฏิมาประทับนั่งราบปางมารวิชัย
พระพักตร์เคร่งขรึม พระกำโบล(แก้ม)เหี่ยวตอบ พระหนุ(คาง)เสี้ยมและมักกลืนหาย
พระเกศเป็นต่อมกลมสองชั้น ชั้นล่งใหญ่ ชั้นบนเล็กยอดมน
กรอบไรพระศกองค์ที่ชัดเจนขึ้นนูนสวบงามมาก แต่ส่วนมากมักจะเลือน
พระขนง(คิ้ว)เป็นปื้น หางพระเนตรชี้ขึ้นสูง พระเนตรขวามักจะโบ๋
พระเนตรข้างซ้ายมีเม็ดพระเนตร พระนาสิกป้าน ปลายพระนาสิกบานใหญ่เท่ากับพระโอษฐ์
มีรอยบากข้างพระนาสิกด้านขวาเป็นขีดสึก พระโอษฐ์จู๋มีขนาดเท่ากับปลายปลายพระนาสิก พระหนุ(คาง)
เสี้ยมเล็ก บางองค์กลืนหายไปกับพระศอ พระกรรณขวายาว ด้านซ้ายสั้น ไม่มีพระศอ
2.)พระอุระ(หน้าอก)คล้ายหัวช้าง พระอุทร(ท้อง)
ติดบางมาก พระพาหา(ท่อนแขนบน) พระกร(ท่อนแขนล่าง) มีขนาดพอสมควร
ห่างจากลำพระองค์พอประมาณ พระกัประ(ข้อศอก) ทั้งสองข้างมีระดับเสมอกัน ปลายพระหัตถ์ซ้ายสั้นวางหงายบนพระเพลา
มักจะเห็นนิ้วพระอังคุต(หัวแม่มือ) รางๆ
3)พระเพลา(หน้าตัก) กว้างพอสมส่วน
พระบาทขวาหงายทาบเฉียงขึ้นบนเล็กน้อยแต่ไม่เป็นการแน่นอนเสมอไป บางองค์ทาบตรงก็มี
ไม่เห็นพระปราษณี(ส้นเท้า) และข้อพระบาท บางองค์เห็นนิ้วหัวพระบาท(หัวแม่เท้า)
พระบาทซ้ายเช่นเดียวกันปลายแหลม
4)องค์พระปฏิมาออกแบบเป็นประติมากรรมนูนต่ำ
ประทับนั่งราบบนฐานฝักบัวเป็นเส้นนูนหนาชั้นเดียว
ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วตัดยอดมน
ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบเป็นแอ่งเล็กน้อย
ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
ในปีพ.ศ.2456 พระยาสุนทรสงคราม(อี้ กัณสูตร)
ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี เปิดกรุพระปรางค์
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุหลังจากคนร้ายลักลอบขุดกรุก่อนหน้านั้น
ได้พบแผ่นลานทองและพระเครื่องจำนวนมาก
จารึกในแผ่นลานทองอักษรขอมแปลเป็นไทยได้ความว่า “พ.ศ.1886 มีพระฤๅษี 4 ตน พระฤๅษีพิมพิราลัย
เป็นหัวหน้า เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำเครื่องประดิษฐ์ฐานมีสุวรรณเป็นต้น คือบรมกษัตริย์
พระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นผู้มีศัทธา...ฯลฯ พระมหาเถระปิยะทัสสะสี ศรีสารีบุตร
คือเป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น ให้เอาแร่ต่างๆ ซัดสำเร็จแล้วให้นามแร่ว่า
สังฆวานร ได้หล่อเป็นพิมพ์ต่างๆ มีอานุภาพต่างๆกัน เสกด้วยมนต์ คาถาทั้งปวง
ครบสามเดือนแล้ว ให้เอาไปประดิษฐานไว้ในพระสถูปใหญ่แห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม
ถ้าผู้ใดไปพบเห็นให้รีบเอาไปไว้สักการบูชาเป็นของวิเศษ แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี
ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอจะคุ้มครองอันตรายทั้งปวง”
จารึกลานทองแผ่นที่3
กล่าวถึงการสร้างพระปรางค์แปลเป็นไทยความว่า “สมเด็จพระราชาเจ้าพระองค์ใดทรงพระนามว่า
พระบรมมหาจักรพรรดิเจ้า เป็นบรมกษัตริย์ครองกรุงอโยชฌราช ได้ให้ก่อพระสถูปองค์นี้
บรรจุพระมารชิธาตุภายในไว้ในที่นี้ได้วิกาลแล้วตามกาล พระราชโอรสของพระองค์เป็นราชาธิราชผู้ประเสริฐ
โปรดปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดีดังเดิม”
ศิลปะของพระพิมพ์พระสุพรรณยอดโถ เป็นศิลปะอู่ทอง
1 ตามลานทองบ่งบอกไว้ว่า สร้างเมื่อ พ.ศ.1886
ดังนั้นพระพิมพ์นี้ควรเป็นพระที่สร้างเมื่อพ.ศ.1886
ดังนั้นพระพิมพ์นี้ควรเป็นพระที่สร้างในยุคอู่ทองตอนปลาย คืออู่ทอง 3
มากกว่าอู่ทอง 1 ตามศิลปะ
วัสดุใช้สร้าง
พระพิมพ์พระสุพรรณยอดโถ สร้างด้วยชินรัชตาภร
หรือชินเงิน มีส่วนผสมระหว่างตะกั่วกับดีบุกหลอมละลายเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว
เหยอดลงในแม่พิมพ์กดทับด้วยแผ่นของแข็งทิ้งไว้ให้เย็น แข็งตัวดีแล้ว
ถอดออกจากแม่พิมพ์รวบรวมไว้ เข้าพิธีปลุกเสกครบตามกำหนดแล้ว
นำเข้าบรรจุกรุในพระปรางค์ ภายหลังต่อมาเมื่อมีการเปิดกรุพบพระพิมพ์มีอายุ 600
กว่าปี พระพิมพ์เนื้อชินจะเกิดปฏิกิริยาภายในกรุ ผิวจะเป็นเม็ดละเอียดเล็กๆ
สากขรุขระ สนิมดำคล้ำ กร้านๆ หรือดำแกมขาบ พร้อมทั้งเกิดสนิมขุมลึกลงไปในเนื้อเป็นแอ่งรูพรุนห่างกัน
ภายในแอ่งมีไขสีขาวด้านบรรจุอยู่ คราบกรุเป็นฝ้าสีขาวปกคลุมทั่วผิว
ขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีน้ำตาลอ่อนอยู่บนผิวอีกชั้น
พุทธคุณ
ตามจารึกในลานทองบอกว่า พระพิมพ์นี้เป็นของวิเศษ
แม้จะมีอันตรายประการใดก็ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ จะคุ้มครองอันตรายได้ทั้งปวง
การอาราธนาพระพิมพ์พระสุพรรณยอดโถ เนื้อชิน
1)ให้ว่าพระคาถา นวหรคุณ ดังนี้
“อังสะสุวิโล ปุสะพุพะ”
2)ให้สวด “พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ”
3)ให้สวด “พาหุง” จนจบ
4)ให้สวด “กะเตสิกเก กะระณังมหาไชยังมังคะ สังนะมะพะทะ”
5)ให้สวด “กิริมิติ กุรุมุทุ เกเรเมเถ กระมะทะ
ประสิทธิแล”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น