วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พระแก้วสีน้ำผึ้งใส กรุฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

 

พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปลอยองค์ขนาดเล็ก ปางมารวิชัย ครองจีวรแนบเนื้อเปิดไหล่ขวา สังฆาฏิพาดไหล่ซ้าย ปลายสังฆาฏิรูปแฉกชายโบว์เหนือพระถัน เอกลักษณ์ศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง พระพักตร์สลักเป็นรูปใบหน้ามนุษย์ พระกรรณยาวจรดไหล่ พระเกศาและพระเมาลีเรียบเกลี้ยงไร้เม็ดพระศก พระเกศจีมสั้นรูปดอกบัวตูม ประทับนั่งราบบนบัลลังก์ฐานเขียงชั้นเดียว

1. วัสดุที่ใช้สร้างองค์พระ  สร้างด้วยหินแก้วผลึกควอตซ์สีน้ำผึ้งใส เรียกชื่อสากลว่า “ซิทรีน” เป็นอัญมณีพลอยเนื้ออ่อน หินเขี้ยวแก้วหนุมาน เมื่อได้หินมาแล้ว ช่างจะแกะสลักเป็นองค์พระแล้วเจียรนัยขัดผิวให้มันโปร่งแสง  ปิดด้วยแผ่นทองคำเปลว บรรจุลงในกรุด้วยกาลเวลาอันยาวนาน ทองจะหลุดล่อนออกไป เหลือติดอยู่เพียงเล็กน้อย พระแก้วสีน้ำผึ้งนี้มักเรียกกันว่า “พระแก้วบุษราคัม”
คราบไคลขี้กรุ เป็นผงดินสีออกดำ มีกรวดทรายผสมอยู่เล็กน้อย ติดอยู่ในซอกแขน และซอกลึกหน้าตักองค์พระ
ขนาดหน้าตัก 2 ซม. สูง 3.2 ซม.

2. ยุคสมัยและศิลปะการสร้าง พระแก้วสีน้ำผึ้งนี้ สร้างร่วมสมัยกับการสร้างพระแก้วมรกต มีรูปแบบเดียวกันตามแบบศิลปะเชียงแสน-พะเยา สมัยล้านนายุคต้นพุทธศตวรรษที่ 20 มีอายุ 600 ปี

3. ผู้สร้าง พ่อค้าชาวจีนนำหินแก้วผลึกเข้ามาค้าขายในสมัยโบราณและสอนการแกะสลักให้ชาวโยนก แทนที่ชาวโยนกจะนำหินมาทำเครื่องประดับ กลับนำหินมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กไว้บูชา และเป็นพุทธบูชาไว้ตามกรุวัดต่างๆ ทั่วไปในถิ่นล้านนา โดยเฉพาะที่เมืองฮอดมีมากที่สุด เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง มีวัดจำนวนมาก เมื่อมีการเปิดกรุก่อนที่จะถูกน้ำท่วม จากการสร้างเขื่อนภูมิพล ได้พระแก้วผลึกเหล่านี้จำนวนไม่น้อย จึงมีชื่อเรียกกันว่า “พระแก้วกรุฮอด” แม้จะพบจากที่อื่นก็ตาม


พุทธคุณ พระเครื่องสกุลเชียงแสนมีพุทธคุณสูงด้านอำนวยโชคลาภ และมีพุทธานุภาพด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นมหาอุตม์ และแคล้วคลาดดียิ่งนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น