วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พระแปด ซุ้มเรือนแก้วยอดแหลม กรุลำพูน

 

เป็นพระดินเผาขนาดใหญ่ งดงามมาก มีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ ที่เรียกว่า พระแปดเพราะไม่นับเดียรถีร์สองตนที่นั่งคู้เข่าอยู่ด้านข้าง
พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ภายในซุ้มเรือนแก้ว ยอดซุ้มเป็นรูปปราสาทขอมโบราณเหมือนนครวัด มีองค์พระประทับนั่งที่ยอดซุ้ม ลดหลั่นกัน 7 องค์
ลักษณะองค์พระพุทธรูป ถือแบบอย่างศิลปะทวาราวดี คือพระเกศมาลาเป็นต่อมใหญ่สั้นและป้าน ไม่มีไรพระศก พระขนงยาว พระพักตร์ยาวแบบหน้าอินเดีย พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน จีวรแนบชิดติดพระองค์ ห่มดองเปิดไหล่ขวา ชายสังฆาฏิยาวจดพระนาภี พระหัตถ์และพระบาทใหญ่ รองรับด้วยกลีบบัวหงายใต้ฐานบัวลูกแก้ว บนเศียรช้างสามเชือก ด้านซ้ายเป็นพระโมคคัลลานะ ด้านขวาเป็นพระสารีบุตรนั่งขัดสมาธิเพชร ขนาบด้วยเดียรถีร์ ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วสามชั้นภายในกรอบเส้นนูนสองเส้นรูปปลายใบหอกแหลม
ด้านหลังพระพิมพ์แบนราบมีลายมือกดแต่งเป็นคลื่นสูงต่ำทั่วไป ขอบข้างบางเหมือนใบมีด
1. วัสดุและทัพสัมภาระการสร้างพระ ส่วนผสมหลักคือดินเหนียว กรวดทรายศิลาแลง บดกรองละเอียด เมื่อเผาแล้วได้เนื้อพระแข็งแกร่ง ได้ดินเผาสีแดง คราบกรุเป็นดินโคลน เคลือบติดผิวแน่นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ขนาดกว้างฐาน 8 ซม. สูง 11.5 ซม.
2. ยุคสมัยการสร้างและศิลปะ พระแปดเป็นพระร่วมสมัยทวาราวดีตอนปลายผสมกับศิลปะนครวัดแบบขอมโบราณพบที่กรุวัดประตูลี้ จังหวัดลำพูนเป็นครั้งแรกร่วมกับพระเลี่ยงหลวง และพระเลี่ยงพิมพ์นิยม นอกจากนี้ยังพบพระแปดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช น่าจะเป็นพระพิมพ์ที่นำมาจากหริภุญไชยมาฝากกรุไว้
3. ผู้สร้าง ราชวงศ์พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์อาณาจักรหริภุญไชย แยกตัวอพยพจากกรุงละโว้มาสร้างนครหริภุญไชย เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นผู้สร้างบรรจุกรุไว้ ราวปลายยุคทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 16-17 มีอายุการสร้างประมาณ 1,000 ปี ก่อนที่จะล่มสลาย ถูกยึดครองโดยอาณาจักรล้านนา และราชวงศ์กษัตริย์หริภุญไชยนครสิ้นสุดลงในพุทธสตวรรษที่ 17

พุทธคุณ เมตตามหานิยม ด้านแคล้วคลาดดีพอๆกับพระรอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น