วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พระกลีบบัว หรือ พระนางกำแพงกลีบบัว พิมพ์ใหญ่ เนื้อดินเผา กรุเจดีย์ลานทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

 

พระกลีบบัว หรือ พระนางกำแพงกลีบบัว พิมพ์ใหญ่ เนื้อดินเผา กรุเจดีย์ลานทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

พระนางกำแพงกลีบบัว รูปทรงกรอบส่วนมากจะคล้ายกับกลีบดอกบัวบานปลายแหลมและส่วนล่างที่ติดกับดอกเป็นรูปโค้งงดงาม ยาจะบรรยาย พระพิมพ์นี้มีจำนวนน้อยกว่าพระพิมพ์แบบอื่นๆ ของพระเครื่องลานทุ่งเศรษฐี

พุทธลักษณะ
1. องค์พระประทับนั่งราบ ปางมารวิชัย พระพักตร์ตรงผลมะตูม พระศกเรียบ พระเมาลีเป็นตอมเล็ก พระเกศเปลวทรงสูงเรียวแหลม พระพักตร์เกลี้ยงเรียบ ไม่ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ พระศอเป็นร่องตื้น
2. พระอุระเป็นกล้ามใหญ่ พระอังสากว้าง พระอุทรเรียวคอด พาหาทั้งสองทอดลง พระกรขวาหักพระกัประยกขึ้น พระหัตถ์วางคว่ำกุมพระชานุลักษณะเข่านอก พระกรซ้ายหักพระกัประโค้งเข้าใน หงายพระหัตถ์วางบนพระเพลา
3. ประทับนั่งราบ พระเพลากว้างสมส่วนไม่เล็กไม่ใหญ่ พระชงฆ์ขวาและพระบาทวางบนพระชงฆ์ซ้าย ในอิริยาบถนั่งสบายบนอาสนะ เป็นเส้นหวายผ่าซีกชั้นเดียว
4. องค์พระเป็นประติมากรรมนูนต่ำ ประดิษฐ์ฐานอยู่ภายในกรอบรูปกลีบบัวบาน ด้านพระปฤษฎางค์ขององค์พระเป็นแอ่งท้องกระทะเรียบเกลี้ยง ไม่มีลวดลายอื่นใดประดับเน้นความบริสุทธิ์ ด้านหลังอูมนูนโค้งแบบหลังเต่า

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระนางกำแพงกลีบบัว เป็นพระพิมพ์สกุลกำแพงเพชร ทุ่งเศรษฐี ศิลปะแห่งพระกำแพงมีอิทธิพลของพระสกุลสุโขทัยเข้ามาผสมรวมอยู่ด้วย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 อายุ 600 กว่าปี โดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ให้กำเนิดไว้ที่วัดบรมธาตุ ลานทุ่งเศรษฐี นครชุม เป็นปฐมฤกษ์ และได้จัดสร้างล้อแบบติดต่อกันเรื่อยมา บรรจุไว้ในกรุพระเจดีย์ต่างๆ เมื่อมีการสร้างวัดภายหลัง จนกระทั่งค้นพบพระพิมพ์ต่างๆเมื่อมีการเปิดกรุในปัจจุบัน

มวลสารใช้สร้าง
วัสดุส่วนใหญ่คือดินละเอียดที่กรองเอาเม็ดกรวดทรายออกหมด ผสมด้วยว่านพืช สร้างเป็นพระพิมพ์ เผาไฟได้พระดินเผาสีแดง เนื้อละเอียด มีสีสันสวยงาม ความเก่ามีอายุนาน ทำให้เนื้อพระนุ่มเนียนไม่แข็งกระด้างบาดมือ ดูนุ่มตา ขี้กรุเป็นดินละเอียดสีเทานวล มีราดำขึ้นบนผิวประปราย
ขนาด ส่วนกว้าง 2 ซม. สูง 3 ซม. หนา 0.6 ซม.


พุทธคุณ  เมตตามหานิยม คงกระพันและโชคลาภ

พระกลีบบัว องค์อื่นๆ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น