วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

พระกำแพงเม็ดมะลื่น ดินเผาสีแดง ดินเผาสีดำ กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

 
พระกำแพงเม็ดมะลื่น ดินเผาสีดำ


 
พระกำแพงเม็ดมะลื่น ดินเผาสีแดง


พระกำแพงเม็ดมะลื่น ดินเผาสีแดง ดินเผาสีดำ กรุทุ่งเศรษฐี(นครชุม) กำแพงเพชร

พุทธลักษณะ พระกำแพงเม็ดมะลื่น คือพระกำแพงกลับบัวธรรมดา แต่พัฒนาปีกให้กว้างใหญ่ขึ้น ด้านหลังอูมทำนูนโค้งทุกองค์ ลักษณะดังกล่าวนี้จึงทำให้พระกำแพงเม็ดมะลื่นงดงาม และเด่นไปกว่าพระกำแพงกลีบบัว พบครั้งแรกที่วัดบรมธาตุ ลานทุ่งเศรษฐี เมื่อพ.ศ. 2392 และที่วัดพิกุล เมื่อพ.ศ.2496 นับเป็นพระที่หายากพิมพ์หนึ่ง
1.องค์พระประทับนั่งราบ ปางมารวิชัย พระเศียรรูปไข่ พระศกเรียบ พระเกศรูปดอกบัวตูมทรงสูงเรียวแหลม พระพักตร์รูปไข่ ปรากฏพระเนตรและพระนาสิก พระศอเป็นร่อง
2.พระอุระอวบอูมใหญ่ พระอุทรคอดเป็นลอน เข้าลักษณะคนมีพละกำลัง แต่ไม่ใช่แบบกล้ามเกร็ง พระพาหาทั้งสองทอดลง พระกรขวาหักพระกัประยกขึ้น พระหัตถ์วางคว่ำกุมพระชานุลักษณะเข่านอก พระกรซ้ายหักพระกัประพับเข้าใน พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา
3.พระเพลากว้าง พระชงฆ์และพระชานุสมส่วนไม่ใหญ่ไม่เล็ก ประทับนั่งราบ พระชงฆ์และพระบาทขวาวางราบบนพระชงฆ์ซ้าย ในอิริยาบถนั่งสบายบนอาสนะเป็นเส้นหวายผ่าซีก
4.องค์พระเป็นปฏิมากรรมนูนต่ำ ประดิษฐานภายในกรอบรูปกลีบบัวปีกกว้างยอดมน ไม่มีลวดลายอื่นใดประดับ

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง พระกำแพงเม็ดมะลื่น(ภาคกลางเรียกเม็ดกะบก) เป็นพระพิมพ์ทุ่งเศรษฐีสกุลกำแพงเพชร ศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ พุทธศตวรรษที่ 19 อายุ 600 กว่าปี โดยพระมหาธรรมราชาที่1 (ลิไท) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ให้กำเนิดไว้ที่วัดพระบรมธาตุ ลานทุ่งเศรษฐี นครชุม เป็นปฐมฤกษ์ ต่อมาในสมัยหลัง ก็สร้างขึ้นใหม่อีกในรูปแบบเดียวกันเรื่อยมา  รูปพระพิมพ์จะมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วมีเอกลักษณ์เหมือนกัน

มวลสารใช้สร้าง วัสดุที่ผสมส่วนใหญ่คือดิน ดินของแต่ละแห่งใช่ว่าจะเหมือนกัน แร่ธาตุที่มีอยู่ในดิน เมื่อเผาแล้วจะเกิดเนื้อพระสวยงามแตกต่างกัน เนื้อดินกำแพงเปรียบเทียบหรือเข้าลักษณะ เมื่อเผาแล้วมีสีสันสวยงามน่าใช้ วงการนิยมว่า “ดูง่าย” การผสมเนื้อพระ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือพืชว่านเข้ากับดิน ทำให้เกิดสภาพเนื้อแตกต่างกับการเผาดินธรรมดา เนื้อพระกำแพงจึงดูนุ่มตามากกว่าเนื้อพระแห่งอื่น
การเผาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดเนื้อที่แตกต่างกัน เนื้อพระกำแพงใช้ความร้อนปานกลางและอ่อนอยู่ในลักษณะเนื้อละเอียดอัดแน่นเข้าตำรา “เนื้อผง” จะหาเนื้อละลายยาก มีพระไม่กี่แบบที่ใช้ไฟแรงจนเนื้อละลาย การเผาไฟอ่อนเกินไป ทำให้เนื้อไม่แน่น เมื่อนำออกจากกรุ ต้องระวังให้มาก บางองค์จะเห็นรอยระแหงเหี่ยวย่น คล้ายเอาเนื้อดินผสมปนว่านดิบๆ ทำแล้วตากตาก เมื่อผิวแห้งหดตัวเนื้อในแห้งไม่ทัน ความชื้นในเนื้อจะดันผิวที่แห้งก่อนจะกลายเป็นรอยระแหง ซึ่งมักจะพบในเนื้อสีดำบ่อยๆ
คนโบราณกล่าวว่า พระกำแพงเพชรผสมว่านมาก ดูจะเป็นความจริงที่น่าคิด การผสมพืชเข้าเนื้อพระ ความประสงค์ก็อยากได้คุณสมบัติวิเศษของพืชให้ดำรงไว้ด้วย การเผาแค่เป็นถ่านหรือเป็นสีดำ หรือสีหม่นปนเขียวว่านยังมีคุณภาพ แต่จะบังคับให้พระทุกองค์อยู่ในลักษณะ เนื้อเหมือนกันหมด ย่อมไม่ได้ พระเนื้อแดงจึงมีอยู่ไม่น้อย และพระสีดำก็มีมาก แต่เนื่องจากความแกร่งน้อย พระจึงเสียมาก สมัยกลางคงจะวิวัฒนาการด้านการสร้างพระให้มีคุณวิเศษสูง จึงต้องทิ้งการใช้ความร้อนสูงเพื่อให้ละลาย พระที่ใช้ความร้อนต่ำจึงได้รับความนิยมตามสายตานักพระเครื่อง
ขนาด ส่วนกว้าง 2.2 ซม. สูง 3 ซม. หนา 0.6 ซม.


พุทธคุณ โชคลาภ เมตตา แคล้วคลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น