วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กริชชวา สกุลช่างปัตตานี



กริชชวา สกุลช่างปัตตานี
ลักษณะ ตัวกริช หรือส่วนใบมีดนั้น มักจะเรียว มีทั้งตรงและคด ส่วนโคนกว้าง ความยาวของกริชนั้นแตกต่างกันไป ไม่จำกัด กริชแบบสกุลช่างปัตตานีมีการพัฒนารูปแบบจนมีอัตลักษณ์ทั้งฝักและด้ามจึงเรียกกันว่า กริชแบบปัตตานี นิยมใช้กันในพื้นที่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของสงขลาและสตูล ด้ามกริชจะแกะสลักจากไม้เป็นรูปยักษ์หรือรากษสตามคติความเชื่อแบบฮินดู-ชวา แต่จะมีจมูกยาวงอน นัยน์ตาถลนดุดัน ปากแสยะ มองเห็นไรฟันและเขี้ยวอันแหลมและงอนโค้ง ส่วนที่เป็นเส้นผมและเคราตลอดจนเครื่องประดับช่างรังสรรค์ให้เป็นกระหนกเครือเถาที่มีความงามวิจิตรแฝงไว้ด้วยอำนาจและพลังลึกลับ เนื่องจากด้ามกริชแบบปัตตานีมีรูปเป็นยักษ์แต่จมูกยาวงอน คนทั่วไปในชั้นหลังจึงมองเห็นเป็นแบบ หัวนกพังกะหรือนกกระเต็น จึงเรียกกันว่า กริชหัวนกพังกะ (Keris Pekaka) ส่วนชาวมุสลิมในภาคใต้เรียกว่ากริชตะยง (Keris Tajong)

1. วัสดุที่ใช้ ใบมีดที่ได้จากการตี จะใช้แร่เหล็กต่างๆ กัน แต่โดยมากจะมีนิกเกิลผสมอยู่ ช่างทำกริช หรือ เอมปู จะตีใบมีดเป็นชั้นๆ ด้วยโลหะต่างๆ กัน กริชบางเล่มใช้เวลาสั้น บางเล่มใช้เวลาตีนานเป็นปีๆ หรือใช้เวลาชั่วชีวิตก็มี กริชที่มีคุณภาพสูง ตัวใบมีดจะพับทบเป็นสิบๆ หรือร้อยๆ ครั้ง โดยมีความแม่นยำสูงมาก ใบมีดนั้นอาจมีรอยประทับของช่างกริช เช่นรอยนิ้วหัวแม่มือ ริมฝีปาก ในระหว่างการตีใบมีดนั้น การใช้โลหะต่างชนิดกันมาตีเป็นมีดใบเดียว ทำให้เกิดเป็นลายน้ำที่แตกต่างกัน ซึ่งเรียกว่า ปามอร์ หรือ ปามีร์ อันเป็นแนวคิดเดียวกับ เหล็กกล้า ดามัสคัส และญี่ปุ่น มีการใช้กรดกัดตัวใบมีด หลังจากตีแล้ว เพื่อให้เกิดรอยเงาและทึบบนโลหะ สำหรับแหล่งแร่เหล็กนั้นจะเป็นแหล่งแร่ที่หายากแถบมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือ ภาคใต้ของไทย

2. ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง ประวัติความเป็นของกริช ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด บ้างก็ว่ากริชเกิดขึ้น ในประเทศอินเดียก่อน เดิมมีลักษณะไม่ได้คดทำจากเขาเลียงผาชนิดหนึ่ง บ้างก็ว่าชาวมลายูจำลองรูปกริชจากเขี้ยวเสือ บ้างก็ว่ากริชเริ่มปรากฏมีในประเทศอินโดนีเซียหรือชวาสมัยอิเหนา หรือ ปันหยี แต่มีหลักฐานเก่าแก่ที่พบ ณ เทวสถานแห่งหนึ่ง มีอายุเก่าแก่ราว 600 ปี เท่านั้น สำหรับในประเทศไทยนั้น มีปรากฏในจดหมายเหตุ ของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทย ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณ พ.ศ. 2236 กล่าวถึงอาวุธของไทยว่า มีกริชรวมอยู่ด้วย และพระเจ้าแผ่นดิน เคยพระราชทานกริช แก่ข้าราชบริพารใช้เหน็บเอวทางด้านซ้ายก็มี

ประวัติกริชในเมืองไทย เริ่มเมื่อประมาณ 300 ปีเศษ ขณะนั้นเจ้าเมืองรามันห์หรืออำเภอรามัน จังหวัดยะลา ปัจจุบัน ประสงค์จะให้มีกริช เป็นอาวุธคู่บ้านคู่เมือง และต้องการมีกริชประจำตัวด้วยถึงกับเชิญช่างผู้ชำนาญการจากประเทศอินโดนีเซีย มีชื่อว่า ช่างบันไดซาระ มาทำกริชที่เมืองรามันห์ในรูปแบบปัตตานีและรูปแบบรามันห์ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ จนกริชรูปแบบนี้ถูกเรียกขานในท้องถิ่นว่า กริชรูปแบบบันไดซาระ ตามชื่อของช่างชาวชวาผู้นั้น ตั้งแต่นั้นมา จึงมีการสืบทอดการทำกริช ในพื้นที่เมืองรามันห์ โดยเฉพาะที่ตำบลตะโล๊ะหะลอ มาหลายชั่วอายุคนจวบจนปัจจุบัน กริชที่เมืองรามันห์นิยมทำเป็นหัวนกพังกะมากกว่าชนิดอื่น นกพังกะ คือนกที่มีปีกและตัวสีเขียวปากยาวสีแดงอมเหลือง คอขาวบ้างแดงบ้าง นอกจากนี้ยังทำเป็นหัวรูปไก่ หัวงูจงอาง และรูปคน ส่วนใหญ่สลักด้วยไม้หรือกระดูกปลา กริชมีหลายรูปแบบ เช่น กริชแบบกลุ่มบาหลี และมดุรา กริชแบบชวา กริชแบบคาบสมุทรตอนเหนือ กริชแบบบูกิส กริชแบบสุมาตรา กริชแบบปัตตานี กริชแบบซุนดา หรือซุนดัง และกริชแบบสกุลช่างสงขลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น