วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พระซุ้มเรือนแก้ว กรุลพบุรี

 

พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนวัชรอาสน์ ทำเป็นเส้นคู่ขนาน ช่องภายในเป็นเส้นขีดแนวตั้งเล็กๆตลอดฐาน พระวรกายองค์พระอ่อนโยนนุ่มนวล ทรงเครื่องราชาภรณ์ พระเศียรทรงเทริดกลีบบัว 5 กลีบ พระพักตร์กว้างสี่เหลี่ยม พระนลาตกว้าง พระขนงเป็นเส้นนูนติดกับรูปนกบิน พระเนตรหลับหรี่พริ้มมองต่ำ พระนาสิกโด่งเล็กน้อย พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน พระปรางอวบอิ่ม พระกรรณห้อย พระกุณฑลยาวจรดพระอังคุฏ พระศอสวมสังวาลเป็นเส้นนูนสามเส้น พระอุระกว้างผึ่งผาย พระอุทรคอด ครองจีวรห่มเฉียงแนบเนื้อ ผ้าสังฆาฏิพาดยาวถึงพระนาภีๆเป็นหลุมบุ๋มลง พระอังสาขวามือมีผ้ารัดราวพระถันเป็นลอน ขอบสบงข้างบนเผยอเป็นเส้น ขอบจีวรพาดอยู่หว่างพระกรซ้าย ทำเป็นเส้นคมพาดลงสู่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายวางหงาย พระพาหาขวาทอดเฉียงเล็กน้อยหักตรงช่วงพระกัปประ วางคว่ำพระหัตถ์กุมพระชานุ พระชงฆ์ขวาวางทับพระชงฆ์ซ้าย
องค์พระประทับอยู่ภายในประภามณฑลซุ้มเรือนแก้ว ตั้งอยู่บนฐานหัวเสา มีเสาบัวเม็ดรองรับ ขอบเส้นซุ้มประดับควัน เส้นนูนเล็กสั้น เส้นขนนกทั้งหมดอยู่ภายในกรอบรูปใบเสมา ถ้าฐานประทับทำเป็นบัวเล็บช้างสามกลีบใหญ่ พระพิมพ์นั้นจะได้ชื่อว่า “พระยอดขุนพล”
ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบโค้งมนเล็กน้อย กดแต่งเป็นคลื่น ขอบข้างโดยรอบปาดออก เฉือนด้วยของมีคม ทำให้เห็นวัสดุเนื้อในที่ใช้สร้างพระพิมพ์

1.วัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนผสมเป็นดินเหนียวผสมกรวดทรายละเอียดค่อนข้างมาก และแร่ดอกมะขาม นวดเข้ากันให้เหนียว พิมพ์แบบ เผาไฟด้วยอุณหภูมิประมาณ 850 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดงส้ม ผิวละเอียด เนื้อในหยาบแข็งแกร่ง คราบกรุเป็นดินละเอียดสีเทาติดแน่นตามซอกลึกด้านหน้า 
ฐานกว้าง 3 ซม. สูง 5.7 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยลพบุรียุคปลายราวพุทธศตวรรษที่ 19 อายุ 800 ปีสร้างโดยขอมกัมพูชา ซึ่งครองเมืองละโว้ขณะนั้น มักจะบรรจุกรุตามเนินดินที่ใช้ทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ สมัยนั้นมีการนำเข้าพระพุทธรูป เทวรูปจากกัมพูชาจำนวนมาก จึงไม่สามารถสร้างเจดีย์ สถูป รองรับได้เพราะค่าใช้จ่ายสูง การขุดพบพระพุทธรูป พระพิมพ์จึงมักจะพบโดยบังเอิญตามเนินดินโบราณทั่วไป
พระเครื่องสกุลลพบุรีนี้ นอกจากจะพบที่ลพบุรีแล้ว ที่เมืองอื่นๆ ก็นิยมสร้างกันต่อๆมาอีกด้วย

พุทธคุณ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุตม์ และเมตตามหานิยม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น