วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พระตรีกาย สกุลลพบุรี

 

พระพิมพ์ 3 องค์อยู่รวมกันเรียกว่า “พระตรีกาย” เป็นคตินิยมในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งตรีกายนี้หมายถึง พระพุทธเจ้าคือพระกายมนุษย์เมื่อตรัสรู้แล้วอันเป็นกายบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากกิเลส 1 พระธรรมกาย คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 1 และกายมนุษย์ตามธรรมดาซึ่งมีการเกิดแก่เจ็บตาย 1

พุทธลักษณะ พระพุทธองค์กลางปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนรัตนบัลลังก์สามชั้นบนฐานบัวหงายชั้นกลางเป็นเส้นนูน ขีดคมชัด ชั้นล่างสุดเป็นบัวเม็ด องค์พระพุทธพระวรกายอ่อนโยนนุ่มนวล ทรงเครื่องราชาภรณ์ พระเศียรประกอบด้วยพระเกศา เป็นเส้นผมหวีรวบขึ้นไปบรรจบพระเกตูมาลาสวมพระเกี้ยวยอดแหลม พระพักตร์กลมรีทรงผลมะตูม พระนลาตกว้าง ไรพระศกกวาดโค้ง พระขนงเป็นเส้นนูนตื้น พระเนตรหลับหรี่พริ้มมองต่ำ พระนาสิกแบน พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน พระปรางอวบอิ่ม พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระศอสวมสังวาล พระอุระกว้าง พระอุทรอวบอูม ครองจีวรแนบเนื้อ พระนาภีเป็นหลุมบุ๋มลง พระกรซ้ายทอดโค้งลง พระหัตถ์วางวางหงายบนพระเพลา พระพาหาขวาทอดเฉียงลงเล็กน้อย หักตรงพระกัปประวางคว่ำพระหัตถ์กุมพระชานุ พระชงฆ์ขวาวางทับพระชงฆ์ซ้าย องค์พระประทับอยู่ในประภามณฑลซุ้มเรือนแก้ว เป็นเส้นนูนรอบพระเศียร ประดับด้วยเส้นขนนกขีดนูนเล็กสั้น ส่วนยอดสูงขึ้นไปเป็นพุ่มโพธิ์พฤกษ์รูปใบโพธิ์ด้านซ้ายและด้านขวาองค์พระเป็นองค์พระพุทธอีกสององค์ขนาดเล็กกว่าองค์กลาง ปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิราบบนรัตนบัลลังก์ภายในประภามณฑล เช่นเดียวกับพระพุทธองค์กลาง ทั้งหมดรวมอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมยอดโค้งรูปปลายใบหอก ขอบเป็นเส้นนูนเล็กหยักเว้าเข้าตามพุ่มโพพฤกษ์ ประดับด้วยเส้นขนนกขีดนูนเล็กสั้น
ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ มีลายมือกดแต่งเป็นคลื่นสูงต่ำทั่วไป แต่งขอบโค้งมนลงบรรจบกรอบด้านหน้า ใต้ฐานด้านหน้ามีเนื้อล้นพิมพ์

1.วัสดุใช้สร้าง ส่วนผสมเป็นดินเหนียวบดกรองละเอียด ผสมกรวดทรายและแร่ดอกมะขาม นวดให้เหนียว พิมพ์แบบ เผาด้วยไฟอุณหภูมิ 1,300 องศาเซลเซียส ได้พระพิมพ์ดินเผาสีผิวไม้แห้ง เนื้อหยาบ ผิวละเอียด แข็งแกร่งพอควร เมื่อถูกกระทบกระแทกอาจแตกบ้าง คราบกรุเป็นดินละเอียดสีเข้มกว่าผิวองค์พระ เคลือบบางๆ ติดผิวแน่นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ขนาดฐานกว้าง 7 ซม. สูง 9.5 ซม.

2.ยุคสมัย ศิลปะและการสร้าง เป็นพระพิมพ์สมัยลพบุรียุคปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 อายุ 800 ปี สร้างโดยขอมกัมพูชาที่ครองเมืองละโว้ขณะนั้น พุทธศิลป์เป็นศิลปะลพบุรี แต่งองค์ทรงเครื่องตามคติมหายานปนพราหมณ์ ผสมผสานไปกับศิลปะขอมสมัยบายน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์กำพูชา พระพิมพ์สมัยลพบุรีนี้ พบและขุดได้ตามเนินดินเป็นส่วนมาก และตามกรุวัดโบราณต่างๆ ในสมัยหลังทางภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคกลางที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ และจังหวัดทางภาคเหนือ ตลอดจนจังหวัดทางภาคอีสาน หลายแห่ง ที่เมืองลพบุรี มีผู้พบพระพิมพ์ศิลปะลพบุรี ซึ่งมีทั้งฝีมือช่างขอมและช่างไทยมากถึง 80% ขึ้นไป

พุทธคุณ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุตม์ และเมตตามหานิยม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น