วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พระขุนแผนแตงกวาผ่าซีก เนื้อดิน กรุวัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

 


พระขุนแผนแตงกวาผ่าซีก เนื้อดิน กรุวัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

พระขุนแผนวัดพระรูป เนื้อดินมี 2 พิมพ์คือ พิมพ์ไข่ผ่าซีกและพิมพ์แตงกวาผ่าซีก ส่วนมากมักจะเรียกกันสั้นๆว่า “พิมพ์ไข่ผ่า” และ “พิมพ์แตงกวา” โดยถือเอาลักษณะของกรอบพิมพ์เป็นสำคัญ ในการแบ่งแยกมีดังนี้
1 .พิมพ์ไข่ผ่า มีลักษณะป้อมกลมรี คล้ายไข่ไก่ถูกผ่าแบ่งออกเป็น 2 ซีก ปีกทั้งสองข้างกว้างกว่าพิมพ์แตงกวา ส่วนกว้างที่สุด ของพิมพ์ประมาณ 2.75 ซม.บางองค์กว้างถึง 3 ซม. สูงประมาณ 5.5 ซม.
2.พิมพ์แตงกวากรอบพิมพ์มีลักษณะผอมสูงยาวรีคล้ายผลแตงกวาผ่าเป็น 2ซีก ส่วนกว้างที่สุดของพระพิมพ์ประมาณ 2.5 ซม. แคบกว่าพิมพ์ไข่ผ่านิดหน่อย ส่วนสูง 5 เซนติเมตร
ยังมีอีกพิมพ์หนึ่งกรอบพิมพ์คลุมเครือครึ่งๆกลางๆ กว้างพอๆกับพิมพ์ไข่ผ่าแต่ความสูงเกือบเท่าพิมพ์แตงกวาทำให้พิจารณายากว่าเป็นพิมพ์ทรงอะไรกันแน่

พุทธลักษณะ พิมพ์แตงกวาผ่า
1) องค์พระปฏิมาประทับนั่งราบขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัยบนอาสนะที่ประทับเหนือฐานรูปบัวคว่ำบัวหงายกลีบบัวเล็บช้าง ลักษณะกลีบบัวชนิดนี้เรียกพระพิมพ์ว่า “พระยอดขุนพล”
2) พุทธศิลปะองค์พระมีพระเศียรโต ต่อมพระเมาลีเป็นมวยเล็กลอนลูกจันทร์ พระเกศรัศมีเป็นเปลวปลายแหลมสะบัดสูงยาวจรดใต้ยอดซุ้ม พระพักตร์ยาว พระนลาฏ(หน้าผาก)กว้าง ขมับทั้งสองข้างเว้าเข้าเล็กน้อย พระหนุ(คาง)รูปสี่เหลี่ยมใหญ่และกว้าง พระเนตร พระนาสิกและพระโอษฐ์ลางเลือน พระกรรณเป็นเส้นขีดตรงๆแทบมองไม่เห็น พระอุณหิส(มงกุฎ) หรือกระบังหน้าไม่ชัดเจน พระศอเป็นลำกว้าง ช่วงพระหนุ(คาง)ติดลำพระองค์มีช่องว่างเล็กน้อย
3) พระอังสาโค้งกว้าง พระรากขวัญเป็นแอ่งโค่งรับกับพระหนุสูงชะลูดมากกว่าศิลปะอื่น ครองผ้าจีวรแนบเนื้อ เปิดพระอังสาขวา ชายผ้าจีวรพาดจากพระอังสาซ้ายคงลงใต้พระถันแล้ววกเข้าซอกพระกัจฉะขวา พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างลำพระองค์ หักพระกัประยกพระกรขวาขึ้น พระหัตถ์วางกุมพระชานุลักษณะเขานอก หักพระกัประพระกรซ้ายยกขึ้นพันเข้าใน หงายพระหัตถ์วางบนพระเพลา พระเพลาเป็นแอ่งทำให้ดูเป็นขัดสมาธิเพชร ลำขาใหญ่คล้ายศิลปะเชียงแสน
4) องค์พระปฏิมาสร้างเป็นประติมากรรมนูนต่ำ ประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วรูปซุ้มนาคสะดุ้งเช่นเดียวกับหน้าบันโบสถ์วิหาร มีตัวนาคห้อยหัวลงมา หัวนาคผงกออกด้านนอก หางนาคบรรจบกับบนยอดหน้าจั่วหลังคา บนตัวนาคประดับด้วยใบระกาเรียงลดหลั่นกันขึ้นไปตามลำดับจนถึงยอด ไม่ค่อยชัดเจน มีเสารองรับหัวนาค ปลายเสาใหญ่หนา ส่วนล่างเรียวเล็กยาวลงมาจรดพระชานุ
5) องค์พระพร้อมฐานที่ประทับและซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบ ผอมสูงยาวรี คล้ายผลแตงกวาผ่าเป็น 2 ซีก
ส่วนกว้าง 2.5 ซม. สูง 5 ซม. ด้านหลังอูมนูนคล้ายหลังเบี้ย

ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระขุนแผนไข่ผ่าและพระขุนแผนแตงกวาผ่าเป็นพระเครื่องยุคสมัยอู่ทองตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้นประมาณรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาคำว่า ”อู่ทอง” นั้นต้องเข้าใจเสียก่อนว่าหมายถึง “ไทยสยาม” นั่นเอง เป็นชนชาวไทยเก่าแก่ที่อพยพลงมาก่อนสายอื่นๆ และคลุกคลีกับชนเผ่าเจ้าของถิ่นเดิมมานับชั่วศตวรรษๆ เลยทีเดียว

พุทธศิลปะอู่ทองคือพุทธศิลปะที่ชนชาวไทยสยามสร้างขึ้นตามอิทธิพลของชนชาติเจ้าของถิ่นเดิมที่เป็นนายคือมอญ ศรีวิชัยและขอมโบราณจึงมีอายุยาวมากตั้งแต่สมัยทวารวดีผ่านศรีวิชัย ลพบุรีไปจดเอาอยุธยายุคต้นและก่อนจะถึงอยุธยาก็คละเคล้ากับสกุลช่างสุโขทัยและเชียงแสนอีกด้วยจะพบว่าอู่ทองปนอยู่ในทุกสกุลช่างที่มีในถิ่นสยาม แต่อู่ทองก็กลั่นตัวเองจนเป็นสกุลช่างแท้ของตนเองมาได้ในยุคหลังลพบุรี ซึ่งจัดว่าเป็นอู่ทองคลาสสิค เช่นเดียวกับสุโขทัยคลาสสิคและเชียงแสนคลาสสิค

พระขุนแผนแตงกวาผ่ามีพุทธศิลปะเป็นศิลปะอู่ทองผสมศิลปะลพบุรีสร้างขึ้นใน พุทธศตวรรษที่ 18 มีอายุประมาณ 800 ปีรังสรรค์โดยช่างปฏิมากรพื้นเมืองเป็นพระเครื่องสกุลขุนแผนมีอายุสูงกว่าพระขุนแผนของสุพรรณทั้งหมดพบครั้งแรกที่กรุวัดพระรูปเมื่อปี พ.ศ. 2550 (เป็นพระเนื้อจัดมีกรวดทรายน้อย) ต่อมาพบที่กรุวัดอื่นๆอีกหลายวัด(ส่วนมากเนื้อหยาบมีกรวดทรายมาก)

มวลสารใช้สร้าง
พระขุนแผนแตงกวาผ่าเนื้อดินเผากรุวัดพระรูปสร้างด้วยดินเหนียวพื้นถิ่น กรรมวิธีให้ได้เนื้อดินละเอียดเหมือนกับการเตรียมดินสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบันโดยแช่ดินในน้ำให้ตกตะกอน จนได้ดินละเอียดนำไปตากแห้ง บดละเอียดกรองเม็ดกรวดทรายออก ผสมด้วยผงวิเศษที่มีอิทธิฤทธิ์ ตามความเชื่อแต่โบราณ สร้างเป็นพระพิมพ์สำเร็จแล้วได้พระพิมพ์ดินเผาสีแดงอมน้ำตาล เนื้อจัดค่อนข้างนุ่มมีกรวดทรายน้อย ขี้กรุเป็นดินละเอียดสีเหลืองอ่อนและราดินสีดำ ติดตามผิวด้านหลังเล็กน้อย ราดินจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติกับพระเครื่องดินเผาที่อยู่ในกรุมีอายุหลายร้อยปีฝีมือมนุษย์ไม่สามารถปลอมแปลงได้

พุทธคุณ
ยอดเยี่ยมด้านคงกระพันและมหาอุตม์ เป็นที่เชื่อถือได้อีกพิมพ์หนึ่ง

พระขุนแผน (ทุกกรุ) พิมพ์อื่นๆ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น