พระร่วงยืนประทานพร เนื้อดิน กรุวัดมหาธาตุ
สุโขทัย ศิลปะสุโขทัยล้อแบบทวาราวดีและลพบุรี
กรุงสุโขทัยได้ชื่อว่า เป็นเมืองพระร่วง
มีพระร่วงครองราชย์อยู่หลายพระองค์
และที่สุโขทัยนี้มีผู้พบพระเครื่องพิมพ์พระร่วงมากพิมพ์ มากเนื้อ มากกรุด้วยกัน วัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่นับเป็นแหล่งรวมเอาพระร่วงไว้มาพิมพ์ประมาณมากกว่า
15 พิมพ์ขึ้นไป แต่ละพิมพ์ชวนให้น่าสนใจศึกษายิ่ง
มีการสร้างไว้ทั้งประเภทเนื้อชินเงิน ชินเขียว และเนื้อดินด้วย
ส่วนศิลปะแต่ละองค์นอกจากเป็นศิลปะสุโขทัยแล้ว ช่างยุคนั้นยังนิยมเอาศิลปะลพบุรี
อู่ทอง และศิลปะสูงขึ้นไปอีก คือศิลปะทวาราวดี ศรีวิชัย
พระร่วงกรุนี้มีการสร้างล้อแบบไว้เป็นอย่างมากทีเดียว
จะพบพระเครื่องที่กำเนิดตั้งแต่สุโขทัยยุคต้น อายุ 700 ปีก็มี 600 ปีก็มี
หรือต่ำลงมาจนถึงสมัยอยุธยาก็มี ด้วยเพราะการสร้างพระเครื่องมิได้หยุดนิ่งทั้งพุทธลักษณะและศิลปะจึงแปรเปลี่ยนไปได้
ในด้านพุทธคุณแล้วขึ้นชื่อว่า พระร่วงแห่งสุโขทัยย่อมเกรียงไกรสมกับพระนามที่ว่า
“พระร่วงโรจนฤทธิ์” ไว้ไม่ผิดเลย
พุทธลักษณะ
1) องค์พระปฏิมาประทับยืนปางประทานพร
พระเสียรกว้างกลม พระเกศาเรียบรวบขึ้น พระเกศมาลาเป็นมวยเล็ก พระรัศมีจีบเล็กยอดแหลม
พระพักตร์แบนกว้าง พระนลาฏกว้าง พระขนงโค้งยาวติดกันรูปนกบิน พระเนตรโปน
พระนาสิกแบน สันพระนาสิกจรดพระขนง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้านแคบ
ลักษณะเหล่านี้ล้อแบบศิลปะทวาราวดี พระกรรณแนบพระปราง พระศอตื้นเป็นร่องแคบ
2) พระอังสากว้าง พระอุระเป็นเนื้อนูนแล้วเรียวลงมายังพระปรัศว์ทีเว้าคอด
พระอุทรอวบ พระนาภีเป็นหลุมกลม ครองพระจีวรแนบเนื้อห่มคลุมทั้งองค์
3) พระพาหาทั้งสองทอดลงข้างลำพระองค์
พระกรซ้ายทิ้งลงอ่อนโค้งเล็กน้อย ตามพระโสณี พระหัตถ์แผ่ดรรชนีชี้ลงพื้น
หักพระกัประยกพระกรขวาเฉียงขึ้นแนบพระอุระ หงายพระหัตถ์ไปข้างหน้าปิดพระถันลักษณะประทานพร
พระโสณีผายลงจากพระอุทร พระอุระเป็นลำคู่ขนาน พระชงฆ์เรียวลง จนถึงข้อพระบาท
ครองพระสบงจับจีวรระหว่างพระอุระเป็นแผ่นแบนยาวลงคลุมถึงเหนือข้อพระบาท
พระประคดเอวเป็นแถบใหญ่ ริมขอบพระจีวรห่มคลุมพระองค์เป็นแผ่นแผ่อยู่ข้างลำพระองค์
ทิ้งชายลงมาจากพระกัประขวาและปลายพระดรรชนีซ้ายยาวลงถึงกลางพระชงฆ์
4) องค์พระปฏิมาเป็นประติมากรรมนูนต่ำ
ประทับยืนตรงบนฐานฝักบัวชั้นเดียว พระบาทแนบชิดยื่นไปข้างหน้า
ลักษณะเหล่านี้ล้อแบบศิลปะลพบุรี ประดิษฐานภายในกรอบรูปใบหอกยอดแหลม
กรอบล่างโค้งครึ่งวงกลม ด้านพระปฤษฎางค์เป็นพื้นผนังเรียบไม่มีเครื่องประดับตกแต่งใดๆ
เน้นความเรียบง่าย ลักษณะเหล่านี้เป็นศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์
ด้านหลังพระพิมพ์ผิวเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยจากการแต่งพิมพ์
ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
สมัยสุโขทัยยุคต้น ระหว่างพ.ศ. 1800-1850
ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปและพระเครื่องสืบต่อจากสมัยลพบุรียังไม่มีรูปแบบเป็นดอกลักษณ์ของตนเอง
จึงต้องอาศัยการล้อแบบศิลปะในสมัยก่อนหน้าขึ้นไป เช่นศิลปะแบบวัดตะกวน
เป็นศิลปะสุโขทัยผสมศิลปะลังกา
พระร่วงยืนเนื้อดินองค์นี้ก็เป็นพระพิมพ์หนึ่งที่เป็นศิลปะผสมของศิลปะสุโขทัยล้อแบบ
ศิลปะทวาราวดีและศิลปะลพบุรี ผู้สร้างคือช่างชาวเมืองสุโขทัยในสมัยนั้น
อายุพระพิมพ์ราว 700 ปี
เป็นพระเครื่องที่หายากไปแล้ว ไม่พบเห็นง่ายนักในปัจจุบัน
วัสดุใช้สร้าง
พระเครื่องเนื้อดินของจังหวัดสุโขทัย
การเผาใช้ความร้อนสูง ปรากฏว่าเนื้อเป็นสีน้ำตาลไหม้ บางองค์ผิวเหมือนเคลือบ
เป็นเนื้อที่แกร่งที่สุดหรือสีเขียว พบในกรุเตาเหล็ก เตาชะเรียงมาก
เนื้อสีแดงซึ่งนับว่าได้ความร้อนน้อย ก็เป็นเนื้อกระเบื้องที่แข็งแกร่ง
ขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีนวลเหลืองอ่อนเคลือบติดผิวตามพื้นส่วนลึก ด้านหน้าหนาแน่น
และด้านหลังเล็กน้อยเป็นธรรมชาติของพระอยู่ในกรุมานาน
ขนาด กว้าง 2 ซม. สูง 5 ซม. หนา
0.5-0.7 ซม.
พุทธคุณ
พระพุทธคุณส่วนมากมักจะเน้นหนักทางด้านคงกระพันชาตรี
ชื่อปรากฏเป็นที่อัศจรรย์มานานแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น