พระสุพรรณหลังผาล ชินเงิน(ชินแข็ง)
กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง สุพรรณบุรี
พระสุพรรณหลังผาล(ผาลไถนา) เป็นพระเครื่องที่ไม่เหมือนใคร
คือด้านหลังมีผาลทุกองค์ โดยมีพระนางพญาประทับนั่งอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมขอบมนโค้งคล้ายผาลไถนา
นอกจากนี้แล้วยังมีพิมพ์พิเศษคือ พิมพ์หลังเรียบลายผ้า
พิมพ์หลังซุ้มระฆังและพิมพ์หลังผาลมียันต์ประกอบ พระสุพรรณหลังผาล มีสามขนาด ใหญ่,
กลางและเล็ก เป็นพระพิมพ์สองหน้าที่พิสดาร งดงามระดับเดียวกับ “พระมเหศวร”
พระสุพรรณหลังผาลนี้
เดิมทีนักนิยมพระเครื่องเมืองสุพรรณเรียกว่า “พระพิจิตรหลังผาล”
ไม่ทราบว่าอะไรจึงเรียกเช่นนั้นทั้งๆที่จังหวัดพิจิตรไม่เคยมีพระพิมพ์นี้
ถามจากนักนิยมพระเครื่องรุ่นเก่า ก็บอกว่าไม่ทราบ เขาเรียกกันมาอย่างนั้น
ปัจจุบันเรียกกันว่า “พระสุพรรณหลังผาล” ตามสากลเพราะถูกต้องกว่า
พระสุพรรณหลังผาลเป็นพระเครื่องชินเงิน
ผิวกลับดำ บางองค์มีคราบดีบุกสีเงินจับตามซอก
พระเครื่องพิมพ์นี้พบที่กรุในองค์พระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี เมื่อพ.ศ.
2456 กรุเดียวกับพระผงสุพรรณ ฯลฯ
พุทธลักษณะ
1) องค์พระพุทธปฏิมาประทับนั่งขัดสมาธิราบ
ปางมารวิชัย มีพระเศียรใหญ่ พระเกศาขมวดเป็นพระศกเม็ดกลมรวมทั้งพระเมาลี
ยอดพระเมาลีรูปดอกบัวตูม วงพระพักตร์ยาวศิลปะอู่ทองปลาย(อู่ทอง3)
พระขนงโก่งโค้งติดกันรูปนกบิน เชื่อมติดกับสันพระนาสิก พระเนตรรูปเม็ดงา
พระนาสิกนูนป้าน พระโอษฐ์ใหญ่หนา พระปรางตอบ พระหนุเล็กแคบ
พระกรรณทั้งสองปลายแหลมเบนเข้ามนน้อยๆ ยาวเกือบจรดพระอังสา พระศอเป็นปล้องเส้นลวด 3
เส้น
2) ลำพระองค์กลมกลึงสูงชะลูดศิลปะอู่ทอง พระอังสากลมมนเป็นธรรมชาติสัมพันธ์กับพระกรและพระหัตถ์ที่มีความอ่อนไหว
ดุจงวงช้าง ท่วงทีการวางพระหัตถ์ทั้งสองข้างงดงามมาก
พระกัประซ้ายโค้งงามเป็นธรรมชาติไม่แข็งกระด้าง ถ่างหรือชิดจนเกินไป พระหัตถ์วางหงายบนพระเพลา
องค์ที่ชัดเจนจะเห็นพระอังคุฐ(นิ้วหัวแม่มือ) พระกรรณขวาปล่อยโค้งลง
พระหัตถ์มีลักษณะคล้ายนวม จับอยู่ด้านหน้าพระชานุ(หัวเข่า)
3) พระอุระขวานูน พระอุทรแคบตื้น(ศิลปะอู่ทอง)
ครองจีวรแนบเนื้อ ห่มดองเปิดพระอังสาขวา
ชายพระจีวรเป็นร่องจากพระอังสาซ้ายโค้งลงพาดใต้พระถันขวา เข้าซอกพระกัจฉะ
พระสังฆาฏิเป็นแผ่นนูนพาดบนพระอังสาโค้งน้อยๆไปตามพระจีวรแล้วตัดตรงลงจรดพระกรซ้าย
4) องค์พระปฏิมาสร้างเป็นประติมากรรมนูนต่ำ
ประทับนั่งราบ พระชงฆ์ขวาวางซ้อนทับบนพระชงฆ์ซ้าย บนฐานเขียง
หรือฐานหน้ากระดานสองชั้น อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธรูปอู่ทอง
ที่มีฐานทั้งสองชั้น มีเส้นขีดเฉียง 9 เส้น เป็นบัวก้างปลา เหมือนพระปรุหนังอยุธยา
ซุ้มรัศมีรอบองค์พระเป็นเส้นลวด รอบซุ้มมีรัศมีเส้นขีด 28 เส้น
ส่วนปลายมีปุ่มกลมทุกเส้น ทั้งหมดประดิษฐานอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมขอบมนโค้ง
ยอดแหลมรูปผาล ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ มีพระปฏิมาพิมพ์นูนต่ำประดิษฐานอยู่ในผาลขนาดเล็กตั้งเอียง
มีก้านต่อเชื่อมจากก้นฐาน ยาวลงจนสุดขอบล่างของพระพิมพ์
ยุคสมัย ศิลปะและผู้สร้าง
พระผงสุพรรณหลังผาลสร้างในสมัยอู่ทอง
พุทธศตวรรษที่ 17-18 พิมพ์เป็นศิลปะอู่ทอง3 พบในกรุพระปรางค์องค์ใหญ่
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
สุพรรณบุรี ผู้สร้างคือสมเด็จพระราชาธิบดีอู่ทององค์สุดท้ายที่บูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุปลายสมัยอู่ทองราวมหาศักราช
1269(พ.ศ.1890) อยู่ระยะที่อโยธยา(เมืองสุพรรณบุรี) กำลังรุ่งเรืองขีดสุด
ก่อนที่จะย้ายเมืองไปสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปีพ.ศ.1893
ปฏิมากรชาวอู่ทองผู้สืบทอดศิลปะและวิวัฒนาการจากศิลปะสุโขทัย
ศิลปะเชียงแสนและศิลปะทวาราวดี มาประยุกต์ เป็นศิลปะอู่ทองของตนเอง
สร้างเป็นพระพุทธรูป และพระเครื่องที่ยังพบเห็นในปัจจุบัน
วัสดุใช้สร้าง
พระผงสุพรรณหลังผาลสร้างด้วยชินรัตนาภรณ์(ชินแข็ง)
ส่วนผสมหลักคือโลหะตะกั่วกับโลหะดีบุกโดยปริมาณดีบุกมากกว่าตะกั่ว
หลอมละลายเป็นเนื้อเดียว เทหยอดลงเบ้าแม่พิมพ์ก่อนที่จะแข็งตัว
ใช้แม่พิมพ์อีกตัวที่มีรูปพระอยู่ในผาลขนาดเล็ก กดทับลงไปลักษณะเดียวกับหลังลายผ้า
เมื่อโลหะแข็งตัวดีแล้ว ถอดออกจากแม่พิมพ์รวบรวมไว้เข้าพิธีปลุกเสก
ครบกำหนดนำไปบรรจุในสถูปองค์พระปรางค์
ในปีพ.ศ.2456
พระยาสุนทรสงครามผู้ว่าเมืองสุพรรณบุรีเปิดกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
พบพระเครื่องจำนวนมากมีพิมพ์ต่างๆมากมาย พระสุพรรณหลังผาลเป็นพระเครื่องพิมพ์หนึ่งที่พบในกรุนี้ด้วย
มีอายุราว 650 ปี พระเนื้อชินแข็งเกิดปฏิกิริยาภายในกรุ ทำให้เกิดสนิมกาฬภัสสร(สนิมตีนกา)หรือสนิมดำ
มีวรรณะสีดำไม่จัดนัก ผิวเรียบมีแววหรือเงามันเมื่อต้องแสง สนิมนี้มีความหนา
บางทีกินลึกลงไปในเนื้อจนทำให้มีวรรณะดำเป็นสนิมไปทั้งหมดด้วยแต่จะไม่ทำให้ผุ
มีคราบกรุหินปูนเป็นฝ้าสีขาวขุ่นปกคลุมผิว
ขี้กรุเป็นผงดินละเอียดสีน้ำตาลอ่อนติดตามผิวบนสุดประปราย
ขนาด ฐานกว้าง 3 ซม. สูง 4.5 ซม. หนา 0.3 ซม.
พุทธคุณ
ดีทางแคล้วคลาด และคงกระพันยิ่งนัก